• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัยรุ่นเสริมสวยเสริมหล่อพร่ำเพรื่อ...อันตราย

แพทย์ผิวหนังเตือนผู้ปกครองให้ระวังวัยรุ่นเสริมสวยเสริมหล่อพร่ำเพรื่อพบอาการโรคที่ไม่เป็นโรค หรือโซมาโตฟอร์ม (Somatoform disorders) มากขึ้น

นายแพทย์ประวิตร พิศาล
บุตร เปิดเผยว่าอาการโรคที่ไม่เป็นโรคนี้ คือกลุ่มอาการที่มีอาการแสดงทางร่างกายเหมือนเป็นโรค หรือเกิดจากการบาดเจ็บที่หาสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นโรคทางกาย โรคทางจิตใจ หรือจากการได้สารไม่ได้ รวมไปถึงอาการหลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ซึมเศร้า และวิงเวียนศีรษะ

ผู้ป่วยได้ไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจหลายๆ ครั้งด้วยความเข้าใจว่าตนเองเป็นโรค แต่แพทย์ตรวจ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและได้ยืนยันให้ผู้ป่วยรับทราบ มีการศึกษาแสดงว่าผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลินิกผู้ป่วยนอกโรคผิวหนังในโรงเรียนแพทย์ร้อยละ 18.5 เป็นโรคที่ไม่เป็นโรค

นายแพทย์ประวิตรกล่าวว่า มีโซมาโตฟอร์มบางอย่างที่น่าสนใจในขณะนี้คือ body dysmorphic disorder (BDD) ซึ่งผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีความผิดปกติหรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน เช่น จมูก เปลือกตา คิ้ว

ประมาณว่าประชากรทั่วไปร้อยละ 1-2 เป็นโรค BDD นี้ แต่สถิติ BDD กลับสูงขึ้นชัดเจนในกลุ่มคนที่มาพบแพทย์ กล่าวคือผู้ป่วยที่มาพบศัลยแพทย์ตกแต่งร้อยละ 2-7 และผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ผิวหนังร้อยละ 9-15 เป็น BDD

ผู้ป่วย BDD จะมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ ชอบดูกระจก หรืออีกทีก็หลีกเลี่ยงการดูกระจกไปเลย ชอบเปรียบเทียบอวัยวะที่ตนเองคิดว่าผิดปกติกับคนอื่น ชอบถามคนอื่นว่า ตา หู จมูกของตนเองปกติ หรือพอดูได้ไหม ชอบแต่งหน้า ทำผม ครั้งละนานๆ ใช้เวลาครุ่นคิดถึงรูปร่างหน้าตาตัวเองวันละ 1-3 ชั่วโมง บางคนไปทำจมูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ได้ขนาดที่พอใจเสียที บางคนหนีเรียน หนีงาน หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

พบอาการซึมเศร้ารุนแรงได้บ่อย มีสถิติว่าผู้ป่วยโรคนี้เคยพยายามฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 29 พบในหญิงและชายเท่ากัน แต่ในชายพบว่าติดยาสูงถึงร้อยละ 50

โรค BDD มักเริ่มเป็นในวัยรุ่น คืออายุ 16-17 ปี และเป็นเรื้อรัง

ถ้าโรคนี้เกิดในผู้ใหญ่ อาจแสดงอาการในรูปของความกลัวแก่อย่างรุนแรง ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ ดอเรียนเกรย์ (Dorian Gray syndrome) ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะมีลักษณะของ BDD ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีพัฒนาการทางจิตใจที่ผิดปกติ หรือไม่บรรลุวุฒิภาวะ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีประวัติใช้ยา หรือเทคนิคที่ปรับปรุงคุณภาพในการดำเนินชีวิตอย่างน้อย 2 อย่างใน 6 อย่างต่อไปนี้คือ
1. ใช้ยาปลูกผม เช่น finasteride
2. ใช้ยาลดไขมัน เช่น orlistat
3. ใช้ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ เช่น sildenafil
4. ใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า เช่น fluoxetine
5. ใช้เทคนิครักษาผิวหนังเพื่อเสริมความงาม เช่น ทำเลเซอร์ผลัดผิว
6. ใช้ศัลยกรรมตกแต่ง เช่น ผ่าตัดดึงหน้า ดูดไขมัน

จึงขอเตือนว่าทั้งผู้ป่วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง และแพทย์เองจำเป็นต้องรู้จักกลุ่มอาการเหล่านี้ ต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเสริมความงามในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะผลลัพธ์อาจเป็นฝันร้ายของทั้งผู้ป่วยและแพทย์ เนื่องจากการเสริมความงามไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐาน คือเรื่องของจิตใจ ในกรณีเหล่านี้ควรปรึกษาจิตแพทย์ร่วมในการรักษาด้วย ในสหรัฐอเมริกากำหนดอายุของการผ่าตัดเสริมความงามบางอย่าง เช่นการเสริมเต้านมว่าต้องทำในคนที่อายุมากกว่า 22 ปี

ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าโรคผิวหนังบางอย่างเป็นโรคที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการรักสวยรักหล่อพร่ำเพรื่อ เช่น โรคสิว ที่ต้องการการรักษาอย่างถูกต้อง พบว่าผู้ป่วยโรคสิวบางรายแม้เป็นสิวเพียงนิดเดียว ผู้ป่วยอาจซึมเศร้ารุนแรงสูงพอกับคนที่เป็นสะเก็ดเงินอย่างรุนแรง

นายแพทย์ประวิตรกล่าวทิ้งท้ายว่า ในโรคสิวนั้นความรุนแรงของโรคไม่ได้ผันแปรโดยตรงกับความซึมเศร้า คือเป็นสิวนิดเดียวอาจซึมเศร้ามากกว่าคนที่เป็นสิวมากก็ได้

ผู้ที่เป็นสิวทุกระดับตั้งแต่เป็นน้อยจนเป็นมาก หากรักษาสิวแล้วอาการทางจิตใจจะดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสิวเป็นมากในวัยรุ่นที่เป็นช่วงที่กังวลต่อรูปลักษณ์ของตนเองมากอยู่แล้ว

ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มีความซึมเศร้า อาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่าผู้ป่วยสิวที่เป็นน้อยจนปานกลางร้อยละ 5.6 เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย

ข้อมูลสื่อ

354-006-3
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
กองบรรณาธิการ