• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคคันตา


คันตา หรือคันในตา เป็นอาการที่ทุกคนคงเคยเป็นเพราะอาการคันตาก็เช่นเดียวกับอาการคันส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นต้นว่า คันจมูก คันหู คันตามตัว คันคอ และ...ฯลฯ เรื่อยไป จนกระทั่ง...”คันปาก” ก็ยังเคยใช่ไหมครับ ?


สาเหตุ
สาเหตุของการคันที่ในตา มักจะมีต้นตอมาจาก สาเหตุจากการคันตามเยื่อเมือกส่วนอื่น ๆ ของร่างกายและผิวหนังตามตัว นั่นก็คือ

1.ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น แดด ความร้อน อุณหภูมิเย็นจัด เช่นในห้องปรับอากาศ ร้อนจัด หรือในที่ชื้นอับ ฯลฯ

2.ยาหยอดตาบางชนิดที่เข้าปฏิชีวนะ ที่ผู้นั้นเคยกินหรือทาตามผิวหนังทำให้เกิดอาการคันเพราะแพ้ได้

3.ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูร้อนเป็นกันมาก ฤดูฝนหรือฤดูหนาวไม่ค่อยพบ มักพบในเด็กวัยอนุบาลหรือในประถมต้น ในผู้ใหญ่เกิน 20 ปีพบน้อย

4.การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการคันได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อหวัด ทำให้คัดจมูก คันจมูก คันคอ ไอ เช่นเดียวกัน

5.พิษจากสารเคมีบางอย่าง เช่น พวกยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา ชาวสวนชาวไร่ใช้ฉีดตามต้นไม้ ดอกไม้ ทำลายศัตรูพืช

6.น้ำยา สารระเหยต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ น้ำยาฟอร์มาลิน กระทั่งน้ำอบน้ำหอมที่ใช้สเปย์

7.เครื่องสำอางสารพัดชนิดที่ใช้ทาบริเวณใบหน้า ทาขอบตาทาขนตา

8.แมลงชนิดต่าง ๆ ที่บินเข้าตาโดยเฉพาะแมลงปีกแข็งที่มีกลิ่นเหม็นฉุนมาก ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า
"แมลงตด” แมลงชนิดนี้บินเข้าตาทำให้ถึงตาบอดได้ ในรายที่โดนแรง ๆ ทำให้กระจกตาดำเป็นแผล
 ขอบเปลือกตาไหม้อักเสบ เจ็บ ๆ คัน ๆ ปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก

9.พวกพยาธิบางชนิด เช่น ตัวจิ๊ด ถ้าเข้าบริเวณเปลือกตา ทำให้บวม ๆ เจ็บ ๆ คัน ๆได้

เท่าที่ให้ไว้ทั้งหมดนั้นเป็นสาเหตุที่พบได้เสมอ ๆในการออกตรวจโรคตาผู้ป่วยที่มาหาจักษุแพทย์ทั่ว ๆ ไป ส่วนที่เหลือนอกจากที่กล่าวแล้ว อาจมีบ้างไม่มากนัก และก็เป็นเรื่องที่ผู้นั้นมีปฏิกิริยาแพ้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น บางคนใส่เลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์) ใส่ได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ตาแดงทั้ง 2 ข้าง คันตายุบยิบไปหมด นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ว่า แพ้เลนส์สัมผัส เช่นนี้ควรจะเลิกใส่ได้ ขืนใส่ต่อไปยิ่งอันตรายมาก หรือบางคนแพ้น้ำในสระลงว่ายน้ำครั้งใดคันตาทุกที อาจแพ้คลอรีนหรือสารที่ใส่ลงไปให้เกิดสีของน้ำ ไม่ทราบว่าถ้าเป็นน้ำในอ่างจะแพ้หรือเปล่า ?


⇒ อาการของโรคคันตา
อาการของผู้ที่แพ้สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว อย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้มีอาการคันตาหรือขอบตา มีความรู้สึกอยากขยี้ ทั้งนี้เพราะ..“ยิ่งขยี้ ยิ่งมัน” เช่นเดียวกับโดนยุงกัด หรือผึ้งต่อยมา 3-4 วันแล้ว จะคันบริเวณนั้นจนอยากจะเกาและหยิกให้มันมือไปยังไงก็อย่างนั้นเชียวแหละ
นอกจากคันอันเป็นอาการอันแรกแล้ว ต่อมาจะพบบริเวณนั้น บวมและแดง ถ้าเป็นที่เยื่อตาขาวจะเห็นว่าบวม ย่น จนบางคนตกใจ เมื่อเห็นเยื่อตาขาวตัวเองบวมเต่งและย่น เมื่อเหลือบตาไปทางซ้ายหรือขวา อีกทั้งแดงเหมือนผิวมะเขือเทศสุก หรือเนื้อผมมะไฟสุก (จากการส่องกระจกเงาดูตาตัวเอง)
ถ้าเป็นบริเวณขอบตาหรือเปลือกตา จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น คือบริเวณขอบตาจะบวมและหนาตัวขึ้นมา คันตรงตำแหน่งนั้นมาก ถ้าเป็นพวกแพ้ยาหยอดหรือเครื่องสำอาง หรือสารเคมีจะเป็นทั้ง 2 ข้าง ขอบตาหนาเป็นผื่นเห่อชัดเจน


⇒ การปฏิบัติตัวและการรักษา
1.ถ้าทราบแน่ชัดว่าน่าจะแพ้อะไรค่อนข้างแน่นอน ให้หยุดการใช้สิ่งนั้นหรือเลี่ยงต่อสิ่งนั้นให้มากที่สุด แล้วกินยาแก้แพ้ ซึ่งอาจจะเป็นคลอร์เฟนิรามีน(ขนาด 4 มิลลิกรัม) 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหารแล้วนอนพัก ประมาณ 24 ชั่วโมงก็จะทุเลา


2.ถ้าภายหลัง 24 ชั่วโมง อาการไม่ดีขึ้นควรรับไปพบแพทย์ ปรึกษาดูว่ามีสาเหตุจากอะไรแน่


3.จะมีอยู่โรคหนึ่งที่เป็นหน้าร้อน และเป็นในเด็กอนุบาลหรือประถมต้นมากที่สุด (ตามสาเหตุข้อ 3.) พวกนี้จะคันตลอดเวลา คันที่เยื่อตาขาว เด็กจะขยี้จนตาแดง น้ำตาไหล เราเรียกโรคนี้ว่า..“โรคเยื่อตาอักเสบฤดูร้อน ” หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Sumer Season Conjunctivitis พวกนี้ต้องได้รับการรักษาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นเด็กจะคันมากและแดงตลอดเวลา น่ารำคาญ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองเป็นทุกข์มาก

4.รู้สึกคัน พยายามเลี่ยงการขยี้ตา หรือถ้าอยากขยี้จนตัวสั่นก็ขยี้พอสมควร ไม่ควรขยี้จนเยื่อตาขาวบวมหรือเปลือกตาบวม จะทำให้รู้สึกตาพร่าได้จากแรงขยี้ เพราะแรงขยี้อาจจะทำให้กระจกตาบวมชั่วคราว

5. ใช้น้ำแข็งก้อนขนาด  3 x 4  มิลลิลิตร หรือขนาดน้ำแข็งหลอดห่อด้วยถุงพลาสติกเล็ก ๆ แล้วเอาผ้าเช็ดหน้าสะอาดห่อถุงพลาสติกอีกชั้นนำมาวางประคบลงบนเปลือกตาข้างนั้น ความเย็นจากน้ำแข็ง (Clod compress)จะทำให้อาการคันและบวมทุเลาไปได้เกือบปลิดทิ้ง หรือถ้าใจร้อนจะเอาน้ำแข็งก้อนขนาดดังกล่าว วางแปะลงไปบนเปลือกตาเลยโดยตรงก็ได้ แต่จะทำให้ตาแฉะเพราะน้ำแข็งละลายเลอะใบหน้าไปหมด และอยู่ได้ไม่ทน


⇒ โรคคันตาอันตรายไหม
ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ส่วนมากไม่มีอันตรายมากถึงขั้นตาพิการ ถ้าทราบแน่ชัดว่าแพ้อะไร และหยุดยั้งสิ่งนั้นได้ หรือสามารถให้ยาแก้แพ้ต่อสิ่งนั้นทันที
เคยพบเหมือนกันที่ว่า แพ้ตัวแมลงอะไรไม่ทราบ ทำให้กระจกตาดำเป็นแผลเกิดการอักเสบซ้ำซ้อน ในที่สุดตาพิการ แม้แต่คนไข้ที่โดนงูเห่าพ่นพิษเข้าบริเวณหน้าและเข้าตา ถ้ามารักษาเร็วและทราบว่าเป็นพิษงูยังพอรักษาให้หายได้ทัน


⇒ โรคแทรกซ้อน
ปกติแล้ว โรคแทรกซ้อนจากการแพ้บริเวณเยื่อตาหรือเปลือกตาไม่ค่อยมี เว้นกรณีที่ปฏิบัติตัวไม่ถูกสุขลักษณะ อาจติดเชื้อซ้ำซ้อนได้จากแบคทีเรีย แต่กระนั้นก็ตามที ถ้ามาปรึกษาแพทย์ก็สามารถช่วยให้ยารักษาโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าไม่รุนแรงเกินไปจนทำให้กระจกตาดำเป็นแผลและมีหนองดังที่ได้ยก
ตัวอย่างแล้ว

โรคคันตาที่เกิดจากการแพ้แบบเฉียบพลันต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเป็นอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ผิดกับโรคเยื่อตาคันจากฤดูร้อน พวกนี้จะคันตลอดช่วงหน้าร้อน พ้นหน้าร้อนอาการจะหายไป
 

ข้อมูลสื่อ

63-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 63
กรกฎาคม 2527
อื่น ๆ
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์