• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้ตัว รู้ใจ นอนหลับได้ หายใจเป็น

คุณอรพรรณ เกื้อสุวรรณ บรรณารักษ์วัย 57 ปี เคยไม่สบายต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ ด้วยอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียน แต่หลังจากได้ออกกำลังกายและฝึกโยคะเป็นประจำจึงทำให้อาการดีขึ้น จนไม่ต้องรบกวนโรงพยาบาลอีกเลย

 

สัญญาณเตือน

ก่อนหน้านี้สุขภาพแย่มาก อาการเริ่มต้นที่เป็นสัญญาณเตือนคือ เวียนศีรษะ รู้สึกอยากนอนตลอดเวลา ขับรถไม่ได้ เหลียวซ้ายแลขวาไม่ได้ จอดรถเสร็จก็ฟุบอยู่ตรงนั้น อาการวิงเวียนเป็นอยู่เกือบปี  เคยมีอาการตอนกลางคืนประมาณ ตี 3 เวียนศีรษะ อาเจียน  และถ่ายท้องด้วย  ไปโรงพยาบาลหมอบอกว่า ท้องเสีย (diarrhea) แต่รู้ตัวว่าไม่ใช่ เพราะอาการเวียนศีรษะก็ยังเป็นอยู่ไม่หาย

 

ป่วยเพราะ...เครียด

สาเหตุที่สุขภาพไม่ดีตอนนั้น คิดว่าน่าจะมาจาก ความเครียด เพราะสามีเพิ่งเสียชีวิต และมีหลายๆ เรื่องให้ต้องคิด เมื่อเครียดก็เกิดอาการเวียนศีรษะ และยังส่งผลต่อไปยังร่างกายคือ บ่า 2 ข้างแข็งมาก ประกอบกับตอนนั้นไม่เคยออกกำลังกายด้วย เพิ่งมารู้ว่าออกกำลังกายแล้วดี ตอนที่ได้ทำจริงๆ เพราะทำให้ผ่อนคลาย อาการเวียนศีรษะก็ค่อยๆ  หายไปเพราะเลือดได้สูบฉีดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น

ตอนที่มีอาการนั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อยมาก เข้าๆ ออกๆ เป็นกิจวัตร ซึ่งดูไม่ดีเลย เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแต่ทำไมปล่อยให้ตัวเองไม่สบายแบบนั้น หัวหน้ามองก็ไม่ดี ใครมองก็ไม่ดี เขาจะมองว่า คุณเป็นอะไร ทำไมเข้านอนพักรักษาตัวบ่อยจัง

 

ฝึกโยคะ ออกกำลังกายและใจ

หลังจากใช้บริการโรงพยาบาลได้สักพัก หมอก็แนะนำให้ออกกำลังกายดูบ้าง เพราะหมอที่รักษา (ณ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) ดูแลด้านการออกกำลังกายอยู่ด้วย  แนะนำให้ไปเล่นโยคะดู

ตอนแรกไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะของศาลากลางประจำจังหวัดสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งน้อยไป สุขภาพจึงยังไม่ดีขึ้น ยังไม่เห็นผล ตอนหลังหันมาเล่นโยคะ รู้สึกได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดี 

การเล่นโยคะทำให้ได้ยืดและเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผ่อนคลายได้โดยตรง แต่กว่าจะยกก้น ยกขาขึ้นได้ใช้เวลานานเป็นปีเหมือนกัน แต่ได้กำลังใจจากครูฝึก (อ.จุฑารัตน์  บินอุสมาน) เป็นอย่างมากหลังจากเล่นโยคะผ่านไปประมาณ 1 ปี จึงเห็นผลว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้น และไม่ใช่แค่สุขภาพเท่านั้น ยังได้เรียนรู้อย่างอื่นควบคู่ไปด้วย นั่นคือ การหายใจที่ถูกต้อง

คนเราหายใจเข้าออกอยู่ทุกวัน แต่มักจะลืมคิดไปว่าเราได้หายใจอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ ถ้าลองตั้งสมาธิอยู่ที่ลมหายใจจริงๆ แล้วจะพบว่าการหายใจที่ถูกเป็นอย่างไร 

หายใจเข้า ท้องป่อง หายใจออก ท้องแฟบ
จริงๆ แล้วตอนฝึกโยคะใหม่ๆ มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหายใจไม่เป็น ครูฝึกบอกว่า อย่าหลับตานะ ให้มีสมาธิอยู่กับการหายใจ

 

ร่วมด้วยช่วยกันฝึก

ทุกวันนี้ฝึกโยคะวันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้านี่แหละ ฝึกพร้อมกันไปกับเพื่อนหลายคน นี่ก็เป็นประโยชน์อีกเหมือนกัน คือการได้ฝึกพร้อมกับคนอื่นๆ ทำให้เรามีมานะ มีความพยายาม สามารถช่วยผลักดัน ช่วยเสริมกำลังใจกันได้ เวลามีสมาชิกใหม่ๆ มาฝึกเราก็ช่วยดู ช่วยบอกว่า ทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ค่อยๆ ฝึก อย่าใจร้อน ให้ใจเย็นๆ ก็ช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ กันไป

 

กายและใจ ลมหายใจคือสิ่งสำคัญ

ตั้งแต่ฝึกโยคะมาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างแรกเลย แน่นอนว่าสุขภาพดีขึ้น อาการวิงเวียนต่างๆ ที่เคยเป็นหายไป และที่สำคัญคือ โยคะไม่ได้ช่วยเฉพาะกายอย่างเดียว ช่วยเรื่องใจด้วย ทำให้ใจเราสงบ เพราะมีสมาธิมากขึ้น สมาธิจากการรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ต่อมาได้ศึกษาธรรมะก็ยิ่งรู้ว่าลมหายใจสำคัญ และเรารู้ว่า โยคะกับธรรมะไปด้วยกันได้ดี

 

สิ่งดีๆ ที่อยากบอกต่อ

ที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้แนะนำคนอื่นบ้างเป็นระยะๆ เวลาเจอเจ้าหน้าที่ด้วยกัน ก็ชวนไปข้างล่าง (ลานฝึกโยคะของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) ตัวเราเห็นผลดีจากการฝึกที่ผ่านมา เห็นว่าดีก็พยายามบอกต่อ ในฐานะที่เราทำงานอยู่ตรงนี้แล้ว มีโอกาสมีพื้นที่ให้เราฝึกใกล้ๆ ตัวแบบนี้แล้ว ถ้าไม่มีเวลาไปข้างนอก ก็ทำตรงนี้ได้เลย มันจะดีสำหรับตัวเรา

อยากจะแนะนำว่า คนที่สุขภาพไม่ดี จะต้องให้เวลากับตัวเองสักนิด ด้วยการออกกำลังกาย เห็นว่าหลายคนได้ทำกันอยู่ หลังเลิกงานก็ไปออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ตนเองตั้งแต่ฝึกโยคะมาถึงตอนนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว ไม่เคยต้องใช้บริการโรงพยาบาลอีกเลย ยกเว้นช่วง 1 ปีแรกที่ยังมีอยู่บ้างประปราย แต่หลังจากนั้นก็ทิ้งกันไปเลย

ไม่ได้บอกว่าจะต้องเล่นโยคะ แต่จะทำอะไรก็ได้ การออกกำลังกายทุกชนิด ทุกประเภทให้ผลดีต่อร่างกายอยู่แล้ว ถนัดอะไร ชอบแบบไหน ก็เลือกทำแบบนั้น เพราะการออกกำลังกายเป็นยาที่ดีที่สุดแล้ว คนที่สุขภาพไม่ดี ต้องทำ ส่วนคนที่สุขภาพดีอยู่แล้ว ก็ต้องทำเหมือนกัน ป้องกันก่อนดีกว่ามารักษาทีหลัง คนที่มีทีมงานและคณะ (โรคภัย) มาเยี่ยมเยือนอยู่แล้วเป็นนิจศีลยิ่งต้องทำเป็นพิเศษ และต้องดูไปถึงเรื่องอาหารการกินด้วย ถ้ามีทีมมาแล้ว 1 เรื่อง เช่น ไขมัน หากดูแลไม่ดี ทีมอื่นคณะอื่นก็จะตามมาอีกเยอะแยะ การป้องกันคณะเหล่านี้ที่ดีที่สุด คือการออกกำลังกาย


สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้แม้กระทั่งอาการเล็กๆ น้อยๆ หลายคนไม่สบายเนื่องมาจากสาเหตุทางใจ แต่ไม่รู้ตัว หลายคนปล่อยให้อาการเล็กน้อยลุกลามกลายเป็นภาระใหญ่ต่อชีวิต บางครั้งอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ที่หลายคนคิดว่าเล็กน้อย อาจกำลังบอกอะไรบางอย่างกับเรา หากเพียงแค่หยุดคิด ใส่ใจตัวเอง ทบทวนตัวเอง แล้วจะพบว่า บางครั้งทางออกของปัญหาอยู่ที่การรู้ตัว รู้ (ลมหาย) ใจนี่แหละ   

 


คุณอรพรรณ เกื้อสุวรรณ 

บรรณารักษ์วัย 57 ปี ประจำห้องสมุดโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี เริ่มบรรจุเข้าทำงานครั้งแรกที่อำเภอหาดใหญ่ จากนั้นย้ายไปโรงพยาบาลนครพนม ต่อมาย้ายมาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และอยู่ประจำที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว แม้จะไม่ใช่ลูกหม้อของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า แต่ก็ไม่เคยคิดว่าที่นี่เป็นทางผ่าน กลับคิดว่านี่แหละ คือ บ้าน

 


 

ข้อมูลสื่อ

367-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
ตุลาคม 2552
โยคะ
วรรธ