ยาฉีดยากิน
ผู้ถาม วีรพล/ลำปาง
ผมอยากทราบว่าสถานพยาบาลของรัฐจะฉีดสตีรอยด์ให้ผู้ป่วยได้หรือไม่ แม้ว่าจะขัดต่อหลักวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ชาวบ้านก็ต้องได้รับสตีรอยด์ในที่สุด
ผมเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขคนหนึ่ง ที่ประสบกับปัญหาชาวบ้านตั้งตัวเป็นหมอ แต่เดิมผมเพียงแต่รับรู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ในสังคมไทย แต่เมื่อได้เจอเข้ากับตัวเองคือ ญาติผู้ใหญ่ของผมเข้าไปขอรับการรักษาจากหมอพื้นบ้านคนหนึ่ง ทำให้ผมเกิดความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาไม่สามารถนำไปช่วยเหลือคนใกล้ชิดได้เลยหรือ เรื่องมีอยู่ว่า ญาติท่านนี้เป็นความดันสูง เมื่อ ๓ เดือนก่อนความดันท่านสูงถึง ๒๐๐ และทำให้เกิดอาการที่ระบบประสาทส่วนกลางทำให้มึนงงและชาตลอดซีกขวาของลำตัว ได้รับการรักษาความดันจากโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง แพทย์บอกว่า อาการทางระบบประสาทจะค่อยๆ ดีขึ้น ผ่านมา ๒ เดือน อาการดีขึ้นไม่มากนัก ประกอบกับการได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้านว่ามีหมอพื้นบ้านที่จังหวัดใกล้เคียงรักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้หายขาด ผู้สูงอายุละแวกบ้านได้รับการรักษาก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าผมจะทักท้วงอย่างไรท่านก็ยืนกรานจะไปให้ได้ เมื่อไปถึงผมจึงทราบว่า หมอผู้นี้เคยเป็น อสม. มาก่อน จึงมีความสามารถฉีดยาได้ และทำการรักษามาเป็น ๖-๗ ปีแล้ว โดยใช้การฉีดยาแผนปัจจุบัน ซึ่งผมคาดว่าเป็นกลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ (Corticosteroids) ชาวบ้านที่มารับการรักษามักมีอาการคล้ายๆกัน และเมื่อฉีดยาแล้วอาการก็จะดีขึ้นอย่างมาก แม้จะอธิบายให้ญาติฟังว่า ยาที่เขาฉีดให้ก็เป็นยาที่มีในโรงพยาบาลและถ้ามันดีจริง แพทย์ที่โรงพยาบาลก็คงฉีดให้ไปแล้ว แต่ท่านก็ไม่ฟัง ในความรู้สึกของผู้ป่วยเพียงแค่ปรารถนาที่จะหาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดหรือเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรและแม้ว่าจะรู้ และเข้าใจพยากรณ์ของโรคดีแค่ไหนก็ตาม ผู้สูงอายุในชนบทมักมีอาการอย่างนี้มาก รวมทั้งอาการปวดข้อต่างๆ ซึ่งมักจะได้ผลดีจากการรักษาด้วยสตีรอยด์ ผมมีปัญหาจะเรียนถามคุณหมอ ดังนี้ครับ
๑. เป็นไปได้หรือไม่ว่าสถานพยาบาลของรัฐจะฉีดสตีรอยด์ให้ผู้ป่วยเหล่านี้เอง แม้จะขัดต่อหลักวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ชาวบ้านก็จะต้องได้รับสตีรอยด์ในที่สุด เราจะช่วยให้อาการของเขาดีขึ้นโดยที่ผู้ป่วยยังอยู่ในสายตาของแพทย์แทนที่จะแสวงหามาใช้เองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้หรือไม่
๒. กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสำหรับจัดการกับหมอพื้นบ้านอย่างในกรณีนี้อย่างไร โดยอาศัยอำนาจของเจ้าหน้าที่จาก สสจ. เช่น จับเลย หรือตักเตือนไปเรื่อยๆ หรือส่งเสริมคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาลของรัฐ และมีแนวโน้มแค่ไหนที่จะกำจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป
ผู้ตอบ ศ.น.พ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์
ปัญหาที่ถามเป็นปัญหาเรื่องความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน ซึ่งแก้ไขได้ยาก การที่ชาวบ้าน
ติดยาฉีด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยากลุ่มใด ส่วนหนึ่งเป็นผลทางใจ เขารู้สึกว่า ยาฉีดมีฤทธิ์เร็วและแรงกว่ายากิน ชาวบ้านจึงต้องการฉีดยา และยาฉีดทำให้เขารู้สึกดีขึ้น การฉีดสตีรอยด์ ถึงแม้ว่าผู้ได้รับการฉีดจะอาการดีขึ้น แต่ผลร้ายมีมากกว่า
ที่ผู้ถาม ถามว่าจะให้โรงพยาบาลของรัฐฉีดให้เสียเลย เพราะยังไงๆ ชาวบ้านก็ต้องได้รับยากลุ่มนี้อยู่แล้วนั้น มิใช่เป็นการแก้ปัญหา หมอโรงพยาบาลของรัฐทุกคนย่อมมีสิทธิในการวินิจฉัยและรักษาโรคตามความเห็นของเขาอยู่แล้ว หมอแต่ละคนจึงใช้ดุลยพินิจในการฉีดยาต่างๆ โดยอิสระ แต่ไม่ใช่ให้เขาฉีดยาเพื่อเอาใจผู้ป่วย หรือเพื่อให้ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยาอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันเรามีแนวคิดว่า ทำอย่างไรที่จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยา เช่น พวกอัมพาต อัมพฤกษ์ ก็ให้เขาใช้กายภาพบำบัดที่ถูกวิธี การหัดเดิน การใช้เครื่องช่วยเดิน การนวดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ พวกปวดข้อต่างๆก็ใช้วิธีนวดหรือประคบด้วยสมุนไพรต่างๆที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น
การให้ผู้ป่วยมีความหวังอยู่กับยาไม่ว่าได้รับยาจากใคร ไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยและประเทศไทยเป็นส่วนรวม โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจภายใต้ไอเอ็มเอฟ.
ปัญหาข้อ ๒ ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ กระทรวงสาธารณสุขพยายามใช้นโยบายการสาธารณสุขมูลฐาน โดยผลิต ผสส. และ อสม. ขึ้นมา แต่ถ้าควบคุมบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ก็ทำให้เกิดผลร้าย ดังที่ผู้ถามเล่ามา สำหรับกรณีหมอพื้นบ้านที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายตามตัวอย่าง ถ้าเขาปฏิบัติอยู่ในขอบเขตของความรู้พื้นบ้านดั้งเดิมจริงๆ ก็อาจยังมีประโยชน์ คงไม่อาจกำจัดให้หมดไปได้ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพดีพอ ถ้าเราสอนเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจเรื่องสุขภาพที่ถูกต้อง วันหนึ่งเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ปัญหาเหล่านั้นคงหมดไป