มีสิทธิ์เย็บแผลหรือไม่ ถ้ามีจะให้ยาปฏิชีวนะอย่างไร เพราะพยาบาลไม่มีสิทธิ์จะจ่ายยาปฏิชีวนะกับคนไข้
ดิฉันจบปริญญาตรี สาขาการพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ มีประสบการณ์ปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย 12 ปี ปัจจุบันโอนมารับราชการเป็นพยาบาลประจำโรงเรียนสังกัดการทรวงศึกษาธิการ ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาพยาบาลเพื่อควบคุมการปฏิบัติงานของพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ และมิให้ปฏิบัติงานเกินขอบเขตและหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด มีปัญหาขอเรียนถามดังนี้
1. พยาบาลประจำโรงเรียนสามารถให้คำแนะนำ ครู-อาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนให้ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามบทความที่ลงเผยแพร่ในหมอชาวบ้านได้หรือไม่ (บทความที่ลง เช่น ถ้าเป็นหวัด น้ำมูกใส เสมหะขาวไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองหรือเขียวจึงค่อยให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนวีหรืออีริโทรมัยซิน ผู้ใหญ่ใช้เพนวีขนาด 4 แสนยูนิต เด็กใช้เพนวี ขนาด 2 แสนยูนิต กินวันละ 4 ครั้ง ๆ ละ 1 เม็ด ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงและก่อนนอน) เพราะตามบทความที่ลงเผยแพร่ไปนั้นประชาชนก็อาจไปซื้อยากินได้เองตามร้านขายยาอยู่แล้ว
2. ถ้าได้ เมื่อนักเรียนไปซื้อยากินแล้ว เกิดอาการแพ้จะฟ้องร้องพยาบาลได้หรือไม่ ในฐานะที่เป็นผู้แนะนำ (การแนะนำนี้มีหลักฐานเนื่องจากต้องเขียนชื่อยาใส่กระดาษไปให้ มิฉะนั้นอาจารย์หรือนักเรียนที่มาขอคำแนะนำก็จะจำชื่อยาไม่ได้)
3. พยาบาลโรงเรียนมีสิทธิ์เย็บแผลหรือไม่ ถ้ามีสิทธิ์เย็บจะให้ยาปฏิชีวนะอย่างไร เพราะพยาบาลไม่มีสิทธิ์จ่ายยาปฏิชีวนะกับคนไข้
4. ขอบเขตหน้าที่ตามกฎหมายของพยาบาลทั่วๆไปกับพยาบาลเวชปฏิบัติต่างกันหรือไม่
สุธี/กรุงเทพฯ
ตอบ
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาพยาบาล เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานของพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ และมิให้ปฏิบัติงานเกินขอบเขตและหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนด
1. พยาบาลประจำโรงเรียนสามารถให้คำแนะนำ ครู-อาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนให้ซื้อยาปฏิชีวนะกินได้ครับ เพราะการซื้อยาดังกล่าวจากร้านขายยานั้น เภสัชกรต้องรับผิดชอบควบคุมการขายอยู่แล้ว
2. เมื่อนักเรียนไปซื้อยากินแล้ว เกิดอาการแพ้จะฟ้องร้องพยาบาลไม่ได้ครับ เพราะการแพ้ยาเป็นเรื่องที่อาจเกิดกับใครก็ได้ และไม่มีใครจะทราบล่วงหน้าได้ว่า ใครจะแพ้ยาอะไร
3. ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 มีนิยามของคำว่า “การพยาบาล” ไว้ดังนี้
การพยาบาล หมายความว่า การกระทำในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการของโรค และการลุกลามของโรค การประเมินภาวะสุขภาพ การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพอนามัย และการป้องกันโรค รวมทั้งการช่วยเหลือแพทย์ และการกระทำตามคำสั่งในการรักษาโรคของแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ และศิลปะการพยาบาล
จากคำจำกัดความของกฎหมายข้างต้นนี้ การเย็บแผลไม่น่าจะถือว่าเป็นการพยาบาล
อย่างไรก็ดี สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการนั้น มีระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยบุคคลซึ่งทางราชการ เทศบาล สุขาภิบาล หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแล้ว (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 ข้อ 2.1.2 ให้เจ้าหน้าที่ตำแหน่งอนามัยอำเภอ พนักงานอนามัย ผดุงครรภ์(อนามัย) ผู้ช่วยพยาบาล-ผดุงครรภ์ และผู้ช่วยพยาบาลให้เย็บแผลที่ไม่สาหัสได้ (แต่พยาบาลโรงเรียน ในระเบียบมิได้ระบุไว้)
ดังนั้น เท่าที่ปรากฏตามตัวบทกฎหมายนั้น น่าจะทำไม่ได้
4. ตามกฎหมายที่อ้างไว้ในข้อ 3 นั้น มิได้กล่าวถึงเรื่องพยาบาลเวชปฏิบัติไว้เลย การพยาบาลจึงต้องพิจารณาตามนิยามศัพท์ของกฎหมายที่ได้ตอบมาในข้อ 3 นั้น
อย่างไรก็ดี ในมาตรา 22 (3) ของกฎหมายดังกล่าว ให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลมีอำนาจออกข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วย
“ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์”
ดังนั้น ในข้อบังคับนี้ อาจมีข้อความที่ยอมให้พยาบาลจะทำอะไรได้แค่ไหนอยู่ด้วย ซึ่งผู้ตอบไม่ทราบว่า ข้อบังคับนี้ออกมาหรือยัง
นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์