• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กำจัดขน (กึ่ง) ถาวร

นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
กำจัดขน (กึ่ง) ถาวร 

 ถาม
ดิฉันมีขนค่อนข้างมากและดกดำบริเวณหน้าแข้ง  ปกติจะใช้ครีมทาหรือกำจัดด้วยการโกน  จึงทำให้เส้นขนแข็งและเส้นใหญ่  ซึ่งดิฉันเห็นว่ามีวิธีการกำจัดขนแบบคลื่นความถี่และเลเซอร์  ดิฉันมีความกังวลและไม่แน่ใจว่าควรจะรักษาด้วยวิธีดังกล่าวหรือไม่ ขอเรียนถามคุณหมอดังนี้
๑. การกำจัดขนมีกี่วิธี  และมีแบบไหนบ้างคะ  แต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร
๒. ความแตกต่างของการกำจัดขนแบบใช้คลื่นความถี่และเลเซอร์ต่างกันอย่างไรค่ะ และวิธีไหนได้ผลดีกว่า
๓. การกำจัดขนแบบถาวร การรักษาใช้ระยะเวลานานหรือไม่ และเมื่อรักษาแล้วจะกลับมาเป็นอีกหรือไม่ 
๔. จากการทำ ทำให้เป็นแผล รอยดำ และผิวหนังไหม้เกรียม หรือก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้หรือไม่ค่ะ
๕. ไม่ทราบมีผลข้างเคียงหลังจากการใช้หรือไม่ค่ะ
๖. วิธีดังกล่าวได้รับการรับรองจากวงการแพทย์ หรือไม่
๗. วิธีใดที่ปลอดภัยที่สุด

 ตอบ วิธีกำจัดขนบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มีหลายวิธี เช่น
 ๑. การโกนโดยใช้มีดโกน
 วิธีนี้ใช้กับบริเวณใบหน้า หน้าแข้ง รักแร้  หลายคนเชื่อว่าถ้าการโกนขนยิ่งจะทำให้ขนขึ้นมาก ดกดำ และแข็งกว่าเดิม ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ทั้งนี้เพราะเส้นขนที่เพิ่งขึ้นใหม่เวลาลูบจะ  สากมือทำให้เข้าใจว่าขนเส้นโตขึ้น
 ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องโกนซ้ำบ่อยๆ และถ้าใช้ใบมีดที่ไม่คมจะทำให้ผิวระคายเคืองได้

๒. การฟอกสีขนให้จางลง
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายไม่แพง เหมาะสำหรับขนที่อยู่เหนือริมฝีปาก และข้างแก้ม ข้อดีคือไม่เจ็บไม่มีอันตราย แต่ก็ยังมีขนเหลืออยู่ เพียงแต่สีจางลงเท่านั้น
น้ำยาฟอกสีมีขายตามร้านขายยาและห้างสรรพสินค้าทั่วไป

๓. การใช้สารเคมีที่เรียกว่า เคมิคัลดีพิเลทอรี่
 (chemical depilatories)
วิธีนี้ต้องใช้ครีมให้ถูกตำแหน่ง ห้ามใช้ครีมกำจัดขนที่ขามาใช้ที่ใบหน้า เพราะตัวยาจะแรงเกินไป
วิธีนี้อาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ควรอ่านคู่มือการใช้ให้ละเอียดก่อน

๔. การกำจัดขนด้วยขี้ผึ้ง (Waxing)
เป็นการกระตุกดึงเส้นขนออกทั้งราก ตำแหน่งที่ถูกกำจัดด้วยขี้ผึ้งจะค่อยๆ มีเส้นขนขึ้นใหม่ราว ๓ สัปดาห์
วิธีนี้มีข้อเสียคือค่อนข้างเจ็บ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเส้นขนค่อนข้างยาวและมองเห็นชัดเจน เมื่อจะมีเส้นขนใหม่งอกออกมา บางเส้นอาจไม่งอกตามรูขุมขนเดิม ทำให้เกิดเป็นตุ่มหนองอักเสบจากการเกิดตุ่มขนคุด  ปกตินิยมใช้วิธีนี้กับขนบริเวณขา ขนรักแร้ และบริเวณหัวหน่าวด้านข้าง แต่ก็ใช้กับเส้นขนที่ใบหน้าและแขนได้
หากจะทำซ้ำด้วยวิธีนี้ก็ต้องรอให้ขนใหม่งอกขึ้นมายาวพอควรจึงจะถอนได้ และหลังถอนขนด้วยขี้ผึ้งไม่ควรออกถูกแดดเป็นเวลา ๒-๓ วัน เพราะอาจทำให้ผิวด่างดำได้ การใช้ขี้ผึ้งถอนขนต้องทำด้วยความชำนาญและระมัดระวัง

๕. ใช้เส้นด้ายถอนขน (threading)
เส้นด้ายที่ใช้ถอนขนทำจากฝ้ายนำมาพันที่นิ้ว ทำ ให้สามารถถอนเส้นขนและรากออกได้ หลังจากถอนขนด้วยวิธีนี้ จะกินเวลา ๓-๔ สัปดาห์ จึงจะเริ่มมีขนงอกขึ้นใหม่
ข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถค่อยๆ ทำทีละเล็กละน้อย ไม่เจ็บปวดมากนัก ขนจะถูกถอนออกหมดจดไม่ค่อยหักกลาง และไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาทาผิวหนัง จึงเป็นการลดการแพ้ลงได้
วิธีนี้เหมาะกับผิวหนังที่อ่อนบาง เช่น ผิวหน้า และขนอ่อนที่แขน

๖. การกำจัดขนโดยการถอนออก
สามารถใช้กับขนที่ขึ้นกระจายตามใบหน้า แต่ถ้าขนดกมากวิธีนี้จะไม่เหมาะ
วิธีนี้อาจทำให้เจ็บปวดได้ หลังถอนขนแล้วขนจะงอกใหม่ต้องถอนซ้ำใน ๒-๑๒ สัปดาห์

๗. การกำจัดขนด้วยเทคนิคใช้พลังงานของแสงและความร้อน
การกำจัดขนบริเวณที่ต้องการ ด้วยพลังงานของคลื่นที่ ๔๐๐-๑,๒๐๐ นาโนเมตร ซึ่งพลังงานแสงที่ปล่อย ออกมานั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังรอบบริเวณนั้น แต่จะทำลายเส้นขน เพราะพลังงานนี้จะถูกดูดซับด้วยเม็ดสีเมลานินของเส้นขน และความร้อนจะถูกส่งผ่านไปยังต่อมขนใต้ผิวหนังลงไป ทำให้ขนบริเวณนั้นหลุดทันทีและหยุดยั้งหรือชะลอการขึ้นของเส้นขนครั้งต่อไป การใช้เครื่องมือนี้ค่อนข้างสะดวกและปลอดภัย ใช้เวลารักษาไม่นาน เพราะแต่ละครั้งที่ฉายแสงจะกำจัดขนได้ในพื้นที่ ๕.๕ X ๒.๒ ตารางเซนติเมตร จึงทำให้ใช้เวลาในการกำจัดขนเร็วกว่าวิธีอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กินยากลุ่มกรดวิตามินเอจะใช้วิธีนี้ไม่ได้

๘. การกำจัดขนโดยเลเซอร์
มีเลเซอร์หลายชนิดที่ใช้กำจัดขนได้ เช่น Alexandrite long pulse lkaser, diode laser ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีสีผิวค่อนข้างอ่อน และ Nd:YAG long pulse laser สำหรับผู้ที่มีผิวเข้ม  การใช้เลเซอร์กำจัดขนอาจทำให้ผิวไหม้ ผิวเป็นรอยด่างขาวได้ ในการทำช่วงแรก ต้องทำ ๖-๘ ครั้ง ห่างกันครั้งละ ๖-๑๐ สัปดาห์ ต่อไปอาจต้องมาทำเพิ่ม ๑-๒ ครั้งต่อปี

๙. การกำจัดขนโดยแสง IPL, การขจัดขนโดยคลื่นวิทยุ (radiofrequency), การขจัดขนโดยใช้แสง IPL ร่วมกับคลื่นวิทยุ (ELOS technic)
การกำจัดขนทุกวิธีที่กล่าวมา ไม่มีวิธีใดที่ได้ผลถาวร (คือไม่ขึ้นแน่นอนตลอดชีวิต)
องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) จึงเสนอให้ใช้คำว่าการกำจัดขนกึ่งถาวร (semi permanent hair removal) เพราะถึงอย่างไรก็ต้องทำซ้ำแน่นอน
โดยทั่วไปแล้วการกำจัดขนจะปลอดภัย ไม่ทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง แต่อาจมีการระคายเคือง เจ็บ เกิดรอยด่าง เกิดการกำเริบของโรคเริมได้ มักต้องใช้เวลาหลายครั้ง และเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยส่วนตัวชอบการกำจัดขนโดยการโกนเพราะทำได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากและไม่เจ็บตัว 

ข้อมูลสื่อ

340-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 340
สิงหาคม 2550
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร