• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระวังภัยจากปลาปักเป้า

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ระวังภัยมืดจากปลาปักเป้า

มีผู้ป่วยรายหนึ่งหลังจากกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาได้ไม่นาน ก็มีอาการรู้สึกชาและเสียวๆ ที่ริมฝีปาก ร่วมกับอาการปวดท้องอาเจียน ถ่ายเป็นน้ำแบบอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ ได้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ระหว่างรอหมอก็เริ่มรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ไม่ค่อยมีแรง แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก หายใจลำบาก แพทย์เห็นอาการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว ก็สงสัยว่าผู้ป่วยได้รับพิษปลาปักเป้า และให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยการใส่ท่อช่วยหายใจ และรับไว้รักษาในห้องไอซียูจนผู้ป่วยปลอดภัย
โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งก็เคยพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษปลาปักเป้าพร้อมกันหลายคน โดยทุกคนมีประวัติ   ว่า กินก๋วยเตี๋ยวปลาจากร้านเดียวกัน ทุกคนจะมีอาการ เริ่มแรกคือ รู้สึกชาและเสียวๆ ที่ปาก ต่อมาบางคนก็มีอาการรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นอัมพาต  หายใจไม่ได้แบบกรณีดังกล่าวข้างต้น

ที่ผ่านมา เคยมีข่าวคนตายจากการกินปลาปักเป้า และแมงดาทะเลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นครั้งเป็นคราว ทั้งปลาปักเป้าและแมงดาทะเล (ชนิดที่เรียกกันว่าแมงดาถ้วย) มีสารพิษชนิดเดียวกัน  คือเทโทรโด-ท็อกซิน (tetrodotoxin) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อประสาทร้ายแรง  ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นอัมพาต (แขนขา อ่อนแรง  พูดลำบาก กลืนลำบาก หายใจลำบาก) และมักจะทำให้ ผู้ป่วยตายจากการหยุดหายใจ เนื่องจากกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจเป็นอัมพาต

ผู้ป่วยมักเกิดอาการเป็นพิษหลังจากกินอาหารพวกนี้ประมาณ ๑๐-๔๕ นาที  ถึง ๔ ชั่วโมง บางคนอาจนานถึง ๑๒-๒๐ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ ถ้ารับพิษเข้าไปมาก ก็จะเกิดอาการได้รวดเร็ว อาการเริ่มแรกที่พบก็คือ รู้สึกชาและเสียวๆ รอบปาก ซึ่งจะค่อยๆ ลุกลามไปที่ใบหน้า  บางคนอาจมีอาการปวดท้อง  อาเจียน ท้องเดิน แบบอาหารเป็นพิษร่วมด้วย ระยะต่อมาก็จะมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา กลืนลำบาก พูดลำบาก และหยุดหายใจในที่สุด ถ้าได้รับพิษมากอาการก็จะลุกลามรวดเร็ว อาจเสียชีวิตภายใน ๒๐-๓๐ นาทีหลังเริ่มมีอาการชาที่ปาก บางคนอาจเสียชีวิตภายใน ๔-๖ ชั่วโมง หรือภายใน ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าพ้น ๒๔ ชั่วโมงไปแล้วก็มักมีโอกาสรอดชีวิต และค่อยๆ ฟื้นคืนสู่ปกติได้เองภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมงต่อมา

ที่น่ากลัวคือ สารพิษชนิดนี้ทนต่อความร้อน กล่าวคือต่อให้ปรุงอาหารให้สุก ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ทอด ปิ้ง  ย่าง ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ และในปัจจุบันยังไม่มี   ยา หรือเซรุ่มที่ใช้แก้พิษชนิดนี้ แพทย์จะให้การรักษาโดยการใส่ท่อช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ รอให้พิษค่อยๆ หมดไปจากร่างกาย ก็จะช่วยให้รอดชีวิตได้ แต่ถ้าผู้ป่วย หยุดหายใจก่อนมาถึงโรงพยาบาล ก็สุดที่จะเยียวยาได้

สำหรับปลาปักเป้า (ปลาเนื้อไก่ ก็เรียก) ปกติจะมีลักษณะเหมือนปลาทั่วไป แต่รอบตัวมีหนาม เมื่อถูกรบกวนจะพองตัวคล้ายลูกโป่ง หรือทุเรียนที่มีหนามแหลม พบได้ทั้งในน้ำจืด ตามแม่น้ำลำธาร ห้วย หนอง  คลอง บึง (เช่น ปลาปักเป้าเขียว ปักเป้าเหลือง ปักเป้าทอง) และน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทย (เช่น ปักเป้าดำ ปักเป้า แดง ปักเป้าหนามทุเรียน ปักเป้าดาว ปักเป้าหลังแก้ว) ปลาเหล่านี้ล้วนมีพิษ ห้ามนำมาบริโภคโดยเด็ดขาด

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ มีการแอบ   นำปลาปักเป้าที่หาได้มา ชำแหละเป็นเนื้อปลาผสม กับเนื้อปลาอื่นๆ หรือทำเป็นลูกชิ้นปลา ส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าตามร้านอาหารประกอบให้ผู้บริโภค กิน ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางทราบเลยว่าเป็นปลาปักเป้าพิษ

การป้องกันคือ  หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตรวจสอบและลงโทษ แหล่งที่นำปลาปักเป้าออก มาจำหน่าย โรงพยาบาลใดถ้าพบผู้ป่วยที่รับพิษปลาปักเป้า ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทำการสอบสวนถึงต้นตอของผู้แอบนำปลาพิษออกมาจำหน่าย

ส่วนผู้บริโภคเอง ควรเลือกบริโภคปลาที่ทราบชนิดแน่ๆ ว่าไม่ใช่ปลาปักเป้า และควรหลีกเลี่ยงเนื้อปลา  หรือลูกชิ้นปลาที่มีการผสมปนเปเนื้อปลาหลายชนิด
หากบังเอิญกินก๋วยเตี๋ยวปลา ข้าวต้มปลา หรืออาหารที่มีเนื้อปลาเป็นองค์ประกอบ หากรู้สึกมีอาการชา ที่ปาก หรือมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเพิ่งบริโภคเนื้อปลาหรือลูกชิ้นปลามา และควรอยู่เฝ้าดูอาการที่โรงพยาบาล จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย 

ข้อมูลสื่อ

341-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 341
กันยายน 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ