• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอโอดีนพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย

สท. ยูนิเซฟ ผนึกองค์กรภาคีและนักวิชาการ ผลักดันกฎหมายบังคับให้เกลือผสมไอโอดีนเพื่อป้องกันเด็กไทยขาดไอโอดีนอย่างยั่งยืน ยกกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ พร้อมเรียกร้องให้แก้กฎหมายให้ชัดเจนขึ้น และให้บังคับใช้อย่างเคร่งครัด

สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย องค์กรภาคี ภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการเร่งส่งเสริมการบริโภคไอโอดีนอย่างเพียงพอในเด็กและสตรีโดยเฉพาะที่มีครรภ์ เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อระดับการพัฒนาสติปัญญา (IQ) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเอ๋อและพัฒนาการที่ผิดปกติของสมอง

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลของการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เพราะในช่วง ๑๒ สัปดาห์แรก ทารกไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้เองต้องรับจากแม่ หากแม่ขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงตั้งแต่ปฏิสนธิ ทารกก็จะพร่องไทรอยด์ ฮอร์โมน และหากขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างรุนแรงใน ๑๒ สัปดาห์แรก เด็กจะแท้งและเสียชีวิต แต่หากรอดชีวิตก็จะมีโอกาสเป็นโรคเอ๋อ ไอคิวต่ำถึงระดับ ๓๐-๔๐ ได้ และอาจหูหนวก เป็นใบ้ บางคนถึงกับเดินไม่ได้ พิการอย่างถาวร

 "ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก โดยเสนอ ๔ มาตรการ คือ ๑.นโยบายการเมืองต้องให้ความสนใจกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ๒.ต้องติดตามผลเป็นระยะ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ๓.ต้องเสริมไอโอดีนในพาหะที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ และ ๔.ต้องให้ความรู้กับประชาชน ปรับทัศนคติใหม่ เน้นสร้างความเข้าใจว่า ปัญหาการขาดสารไอโอดีนมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของสมอง" ศ.นพ.รัชตะกล่าว 

พญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "การรณรงค์ให้ประชาชนได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพออย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ การออกกฎหมายบังคับให้เกลือผสมไอโอดีนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่อเนื่องได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็สำคัญเช่นกัน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก การควบคุมคุณภาพในโรงงาน เพราะมีปัญหามาตลอด เนื่องจากโรงงานผลิตเกลือมีหลายขนาดและส่วนใหญ่เป็นรายย่อย อีกประเด็นที่สำคัญคือความร่วมมือของชุมชนที่จะต้องร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหานี้ และต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวังและส่งเสริมให้บริโภคเกลือผสมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง"

นางสาวนฤมล ฉัตรสง่า
นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนและจริงจัง ที่จะขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากคนไทย ซึ่ง อย.ได้ระดมสรรพกำลังเพื่อสนองนโยบายในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๕๓ (พ.ศ.๒๕๓๗) เรื่องเกลือบริโภค ให้มีความครอบคลุม เข้มงวดขึ้น โดยกำหนดให้เกลือทุกชนิดทั้งที่บริโภคและที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารจะต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยให้มีปริมาณไอโอดีนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และการผลิตต้องมีระบบประกันคุณภาพ ฉลากต้องมีข้อความว่า "เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน" เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้นำเข้าเกลือบริโภคต้องขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าและจดทะเบียนอาหาร

อย.ได้ประชุมหารือกับชมรม สมาคม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร และได้ข้อสรุปว่า อุตสาหกรรมอาหารทุกชนิดที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมทั้งผลิตและนำเข้า โดยเฉพาะน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนบกรุบกรอบ ต้องใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งนี้เมื่อออกกฎหมายรวมทั้งมาตรการดังกล่าว จะให้ความมั่นใจได้ว่าคนไทย ๖๕ ล้านคนมีโอกาศได้รับสารไอโอดีนอย่างพอเพียง

 

ข้อมูลสื่อ

378-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
กองบรรณาธิการ