• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศิริราชปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงข่าว "ศิริราชปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์สำเร็จ เป็นครั้งแรกของไทย" โดยมี ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธาน ร่วมด้วย รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ รศ.นพ.สบง ศรีวรรณบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์รักษาสายตา SiLASIK (เอสไอเลสิก) อ.พญ.สุขศรี โชติกวณิชย์ แพทย์ผู้ปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์ และ รศ.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร รองคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจการพิเศษ ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น ๒

รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวนิตย์ แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ อธิบายว่า กระจกตา หรือตาดำ คือส่วนหน้าของดวงตา (ดวงตาแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหน้าสุดคือกระจกตา ส่วนกลางคือเลนส์แก้วตา และด้านในสุดเป็นจอตา) เรามักคุ้นหูแต่คำว่าเลนส์ขุ่นมัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้มองไม่ค่อยเห็น หรือที่เรียกว่า ภาวะต้อกระจก ซึ่งการผ่าตัดลอกต้อกระจกร่วมกับการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมทำให้การมองเห็นดีขึ้น ส่วนภาวะกระจกตาเสื่อมจะต่างจากภาวะต้อกระจก เนื่องจากพยาธิสภาพอยู่ที่กระจกตาด้านหน้าที่ขุ่นมัว ไม่ใช่ที่เลนส์ตา ทำให้ความสามารถในการมองเห็นน้อยลงหรือไม่ชัดนั่นเอง

วิธีการรักษา เริ่มตั้งแต่การรักษาทางยา เช่น การหยอดตา และถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา โดยใช้กระจกตาจากผู้บริจาคมาปลูกถ่ายให้คนไข้ แทนกระจกตาเดิมที่ขุ่นมัวของคนไข้ สามารถแก้ไขภาวะกระจกตาขุ่นมัวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

สำหรับวิธีการใช้กระจกตาจากผู้บริจาคมาปลูกถ่ายนั้น ปัจจุบันมีการนำเลเซอร์มาช่วยในการผ่าตัด ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หลักการรักษานั้น รศ.นพ.สบง ศรีวรรณบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์รักษาสายตา  SiLASIK (เอสไอเลสิก) กล่าวว่า "สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตารายแรกนี้ ใช้ Femtosecond Laser ซึ่งเป็นแสงเลเซอร์ชนิดเดียวกับที่ศูนย์เลสิกศิริราชมีใช้แห่งแรก และในขณะนี้ยังเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยในการรักษาผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง เหตุที่เลือก Femtosecond Laser มาช่วยในการตัดหรือกรีดแทนใบมีด เนื่องจากจะได้แผลที่มีความเรียบและมีการสมานตัวของแผลที่ดีกว่า และเทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับและใช้กันแพร่หลายในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเพื่อใช้ในการรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ที่สำคัญ เป็นเทคโนโลยีเดียวในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากองค์การ NASA ใช้รักษาภาวะสายตาผิดปกติแก่นักบินอวกาศ เนื่องจากมีความแม่นยำและปลอดภัยสูง ทำได้ในผู้ที่มีกระจกตาบางหรือมีความโค้งผิดปกติของกระจกตาไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม" 

   

ส่วนขั้นตอนการทำผ่าตัด อ.พญ.สุขศรี โชติกวณิชย์ แพทย์ผู้ปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์ ให้รายละเอียดว่า "หลังจากที่แพทย์ได้รับการบริจาคดวงตามาแล้ว จะใช้ Femtosecond Laser แยกส่วนของกระจกตาตรงกลาง ซึ่งสามารถกำหนดขนาดและรูปแบบที่ต้องการได้อย่างแม่นยำกว่าการใช้ใบมีดแบบเดิม  แล้วนำกระจกตามาแช่ในน้ำยาพิเศษชั่วคราว จากนั้นนำคนไข้มาแยกส่วนกระจกตาที่ขุ่นขาวออกด้วย Femtosecond Laser เช่นกัน เมื่อแยกชิ้นกระจกตาทั้งของผู้บริจาคและคนไข้เรียบร้อยแล้ว นำกระจกตาที่ใสของผู้บริจาคไปวางบนลูกตาของคนไข้แทน เย็บปิดแผลโดยรอบ ซึ่งรอยต่อของกระจกตาทั้งสองจะเท่ากันทั้งขนาดและรูปแบบ ทำให้การหายตัวของแผลดีกว่าวิธีการใช้ใบมีดแบบเดิม ทั้งนี้การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง โดยเซลล์ของกระจกตาที่ได้รับบริจาคมาจะต้องมีคุณภาพที่ดี มีเซลล์เพียงพอสำหรับการปลูกถ่ายให้คนไข้ ส่วนคนไข้จะต้องมีจอตาที่ดี จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดและได้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งหลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ดังนี้ ห้ามน้ำหรือสิ่งสกปรกทุกชนิดเข้าตา ห้ามขยี้ตา และใช้ฝาครอบตาเวลานอน ไม่ควรใช้สายตาในการจ้องมองมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ หยอดยาตามแพทย์สั่ง และนัดตรวจติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ๖ เดือนถึง ๑ ปี"


ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดของการรักษาโรคกระจกตาเสื่อม โดยนำเทคนิคใหม่ Femtosecond Laser มาช่วยในการรักษา นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประชาชนเป็นอย่างมาก หากผู้ใดสนใจสามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ ศูนย์รักษาสายตา SiLASIK (เอสไอเลสิก) ตึก ๘๔ ปี ชั้น ๒ โรงพยาบาลศิริราช โทร. ๐ ๒๔๑๙ ๙๒๗๕-๖


      

 

ข้อมูลสื่อ

373-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
กองบรรณาธิการ