“เวลาเดินไปสัก ๓๐-๔๐ เมตรจะมีอาการปวดน่อง ต้องหยุดสักพัก ค่อยเดินต่อได้ นึกว่าเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ได้กินยาคลายกล้ามเนื้อ ก็ไม่ดีขึ้น เป็นมาได้หลายเดือนแล้ว คุณหมอคิดว่าอาการที่เป็นนี้เกิดจากโรคอะไร”
วันหนึ่ง คุณลุงวัยร่วม ๗๐ ปีที่ผมรู้จักมักคุ้นในสวนสุขภาพที่ผมไปเป็นประจำได้ปรึกษาผมถึงปัญหาดังกล่าว
คุณลุงมีรูปร่างค่อนข้างท้วม เป็นเบาหวานมา ๔-๕ ปี หาหมอและกินยาไม่สม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีนัก
“อาการปวดน่องเวลาเดินและดีขึ้นเวลาพัก จนต้องคอยหยุดพักเป็นระยะๆ น่าจะเป็นเพราะหลอดเลือดแดงส่วนขาตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงได้น้อยลง เวลาเดินกล้ามเนื้อต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น เมื่อเลือดไปเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อน่องจึงเกิดภาวะขาดเลือด เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นทันที แต่เมื่อหยุดพัก กล้ามเนื้อก็ลดความต้องการเลือดที่ไปเลี้ยง ไม่เกิดภาวะขาดเลือด อาการเจ็บปวดก็ทุเลาไปได้ทันที” ผมอธิบาย “สาเหตุที่หลอดเลือดขาตีบน่าจะเกี่ยวกับความมีอายุมาก ร่วมกับน้ำหนักตัวมากเกิน และโรคเบาหวานที่รักษาได้ไม่เต็มที่”
ผมได้แนะนำให้คุณลุงกลับไปติดต่อรักษาโรคเบาหวานกับหมอให้จริงจัง และควรตรวจเช็กหัวใจดูว่าเริ่มมีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือยัง เพราะเมื่อมีหลอดเลือดที่ขาตีบ ก็อาจมีหลอดเลือดส่วนอื่นรวมทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยก็ได้
ต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้ข่าวว่าคุณลุงต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และรักษาอยู่ต่อมาได้อีกไม่ถึงปีก็เสียชีวิต
ระบบหลอดเลือดหรือระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งประกอบด้วยหัวใจ (ทำหน้าที่เหมือนเครื่องสูบน้ำ) กับเครือข่ายหลอดเลือด (เปรียบเหมือนระบบท่อประปา) มีหน้าที่นำเลือดที่มีออกซิเจน สารอาหารและสารที่จำเป็นไปเลี้ยงเนื้อเยื่ออวัยวะส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย เมื่อผู้ชายอายุมากกว่า ๕๕ ปีและผู้หญิงอายุมากกว่า ๖๕ ปี หลอดเลือดก็จะเริ่มเสื่อมตามสังขาร โดยผนังหลอดเลือดเริ่มแข็งและหนาตัวเนื่องจากมีไขมันไปเกาะตัวอยู่ภายในผนังหลอดเลือด ภาษาแพทย์เรียกว่า “ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)” ภาษาชาวบ้านอาจเรียกว่า “ภาวะหลอดเลือดแดงมีตะกรันเกาะ” (คล้ายท่อประปาที่ใช้งานนานๆ เข้า มีตะกรันเกาะ ทำให้น้ำไม่ไหลหรือไหลได้อ่อน)
หาก “ตะกรัน” ที่เกาะค่อยๆ พอกพูนหนาตัวมากขึ้นจนท่อตีบ เลือดก็จะไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ได้น้อยลงจน
ทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงและค่อยๆ เสื่อมหรือถูกทำลาย จนเกิดภาวะเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งครอบคลุมได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ที่สำคัญ ได้แก่
► สมอง เมื่อขาดเลือด ทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม ความจำเสื่อม
► หัวใจ เมื่อขาดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (โรคหัวใจวายกะทันหัน)
► จอประสาทตา เมื่อขาดเลือด ทำให้ตามัว ตาบอด
► ไต เมื่อขาดเลือด ทำให้ไตเสื่อม ไตวาย
► ขา เมื่อขาดเลือด ทำให้ปลายเท้าชา เป็นตะคริวตอนดึก มีอาการปวดน่องเวลาเดินมาก
► องคชาต เมื่อขาดเลือด ทำให้องคชาตไม่แข็งตัว (นกเขาไม่ขัน)
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งอาจมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นหรือเกิดได้เร็วขึ้นก่อนช่วงอายุดังกล่าว ถ้าคนคนนั้นมีปัจจัยเสี่ยง เช่น
► มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และ/หรือหลอดเลือดส่วนอื่นตีบก่อนอายุ ๕๕ ปีในผู้ชาย หรือ ๖๕ ปีในผู้หญิง
► มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า ๓๐ กก./เมตร๒) สูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย
► มีประวัติเป็น “กลุ่มอาการเมตาบอลิก (metabolic syndrome)” หมายถึงเริ่มมีความผิดปกติของความดันเลือด น้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดในขั้นก้ำกึ่ง (ยังไม่สูงถึงเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นโรค) รวมทั้งลงพุง โดยมีค่าผิดปกติอย่างน้อย ๓ ข้อใน ๕ ข้อต่อไปนี้
(๑) ความดันเลือดมีค่าเท่ากับ ๑๓๐/๘๕ มม.ปรอทหรือมากกว่า
(๒) ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าเท่ากับ ๑๐๐ มก./ดล.หรือมากกว่า
(๓) ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมีค่าเท่ากับ ๑๕๐ มก./ดล.หรือมากกว่า
(๔) ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือดมีค่าต่ำกว่า ๔๐ มก./ดล.ในผู้ชาย หรือ ๕๐ มก./ดล.ในผู้หญิง
(๕) เส้นรอบเอวมีค่าเท่ากับ ๘๐ ซม.ในผู้หญิง หรือมากกว่า ๙๐ ซม.ในผู้ชาย หรือมากกว่า ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากอย่างเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากขึ้นเท่านั้น ดังเช่นกรณีของคุณลุงที่มีอายุมาก (เกือบ ๗๐ ปี) ร่วมกับเป็นเบาหวาน และน้ำหนักเกิน ถ้าหากมีประวัติสูบบุหรี่ ความดันเลือดสูง และ/หรือไขมันในเลือดสูง ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้มากขึ้นหรือเร็วขึ้น
การดูแลหลอดเลือดแดงให้ดี คือ ป้องกันไม่ให้เสื่อมเร็วหรือเสื่อมมาก จึงมีส่วนช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้
ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้วิธีดูแลหลอดเลือดตนเอง โดยหลีกเลี่ยงหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยง ยกเว้นปัจจัยด้านอายุและพันธุกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา
ในการดูแลหลอดเลือดไม่ให้เสื่อมเร็ว สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
► ไม่สูบบุหรี่
► ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
► ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน
► กินอาหารสุขภาพโดยเน้นธัญพืช ผัก ผลไม้ให้มากๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ไข่ นมพร่องไขมัน ลดเนื้อแดง (หมู วัว) ลดไขมัน น้ำตาลและของหวาน
► ตรวจเช็กสุขภาพ หากพบว่าเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ก็รู้จักดูแลรักษาจนสามารถควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ ควรหมั่นเจริญสติให้มีชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ลงมือทำในสิ่งที่ควร ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร ก็จะสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างทั่วด้าน
- อ่าน 13,123 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้