คำถาม มี...ยาเหลือใช้ (หรือ ยาขยะ)...ที่บ้าน ควรทำอย่างไรดี?
ยานับเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ที่สำคัญ ทุกบ้านจึงมักมียาไว้ประจำบ้านทั้งเพื่อรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้นเล็กๆ น้อยๆ หรือสำหรับการรักษาโรคประจำตัวของสมาชิกในครอบครัว
บรรดายาที่มีไว้ในบ้านนี้ บ่อยครั้งที่เก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้ อาจเป็นเพราะว่า ผู้ป่วยที่เคยใช้ยาชนิดนี้ได้เปลี่ยนแปลงการรักษาโดยแพทย์ให้เปลี่ยนยาชนิดใหม่ ทำให้ยาเดิมที่เหลืออยู่ไม่ได้ใช้ หรืออาจเกิดจากผู้ป่วยที่เคยใช้ยานี้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เหลือยาของผู้ตายคนนี้อยู่ หรือยากลุ่มที่ใช้บรรเทาอาการ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ฯลฯ เมื่อหายปวดแล้วก็ไม่ได้ใช้ยา จึงมียาที่เหลืออยู่เช่นกัน จะขอเรียกยาที่เหลือยู่นี้ว่ายาเหลือใช้
ส่วน ยาขยะ มีความหมายคล้ายคลึงกันกับยาเหลือใช้ แต่จะแคบกว่าโดยเน้นว่า "ขยะ" เป็นยาที่ไม่มีประโยชน์แล้ว ไม่ควรหรือไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก
ในขณะที่ยาเหลือใช้อาจหมายถึง ยาที่ยังใช้ได้ผลดีอยู่ (ยังไม่เสื่อมสภาพ หรือยังไม่หมดอายุ) หรือใช้ไม่ได้แล้วก็ได้ (ยาที่เสื่อมสภาพ หรือหมดอายุแล้ว)
ดังนั้น ยาเหลือใช้ จึงมีความหมายกว้างกว่า ยาขยะ คือ ครอบคลุมทั้งยาที่ยังใช้ได้และใช้ไม่ได้ แต่ยาขยะจะหมายถึงยาที่ใช้ไม่ได้แล้ว
สาเหตุของยาเหลือใช้ หรือ ยาขยะ
ถ้าสำรวจกันจริงๆ ก็จะพบว่า เกือบทุกหลังคาเรือนจะมียาเหลือใช้อยู่ไม่มากก็น้อย ยาเหลือใช้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงชนิดของยาในการรักษา ทำให้มียาเดิมเหลืออยู่และผู้ป่วยไม่ได้ใช้
อีกสาเหตุหนึ่งคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ได้ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง หรือเมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงหยุดยาเอง (ซึ่งไม่ควรหยุดยาเอง ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง)
นอกจากนี้ อาจหยุดยาเนื่องจากเกิดผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือผู้ป่วยเสียชีวิต ทำให้เกิดยาเหลือใช้ได้
ยาเหลือใช้ (หรือ ยาขยะ) ...เป็นเงินทั้งนั้น
มีรายงานในต่างประเทศว่า ยาที่เหลือใช้นี้มีประมาณร้อยละ ๓ ถึง ๒๐ ของยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับมาจะจากโรงพยาบาลหรือร้านยาก็ตาม ในบางคนยาเหลือใช้อาจมีค่าเพียงไม่กี่บาท แต่บางคนอาจมีค่าสูงเป็นหมื่นๆ บาทได้ เม็ดเงินที่ใช้จัดหายาเหล่านี้อาจเป็นเงินจากกระเป๋าของเรา (ที่ต้องจ่ายไปเอง) ของหน่วยงานของรัฐบาล (ที่มีคนอื่นๆ จ่ายแทนให้ก็ตาม) แต่ผลโดยรวมแล้วก็เป็นเงินของชาวไทย และเป็นเงินของประเทศชาติทั้งหมด
จากการสำรวจยาเหลือใช้ที่บ้านของประเทศอังกฤษ พบว่า ยาเหลือใช้คิดเป็นเงินมีมูลค่าสูงถึง ๒๐๐ ล้านปอนด์ต่อปี (ถ้าอัตราแลกเปลี่ยน ๕๐ บาทต่อปอนด์ จะเป็นเงินถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท) ซึ่งมีมูลค่าเป็นร้อยละ ๓ ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมด และถ้านำเงินก้อนนี้ไปเป็นค่าจ้างให้กับพยาบาล จะสามารถจ้างพยาบาลได้ถึง ๑๕,๐๐๐ คน หรือถ้าจะนำไปจ้างแพทย์จะได้กว่า ๒,๐๐๐ คนต่อปี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายาเหลือใช้มีเป็นจำนวนมากและมีความสำคัญต่อค่าใช้จ่ายของทุกคน และส่งผลต่องบประมาณของชาติอีกด้วย ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด
ยาเหลือใช้... ยังใช้ได้หรือไม่?
ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ยาเหลือใช้ จะประกอบด้วย ยาที่ยังใช้ได้กับยาที่ใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น จึงขอแนะนำง่ายๆ ในการสังเกตด้วยตนเองว่า ยาชนิดนั้นยังใช้ได้หรือไม่ ซึ่งมีหลักในการสังเกตง่ายๆ ดังนี้
๑. การเก็บยา
๒. ฉลากยา
๓. วันหมดอายุ
๔. ลักษณะภายนอกของยา
การเก็บรักษายา
การเก็บรักษายาที่ดี ควรจัดเก็บในภาชนะที่เหมาะสม เช่น กระปุกยา ซองยา ฯลฯ และเก็บไว้ให้เป็นที่เป็นทาง เช่น ในตู้ยา ในกล่อง ในถุง ในลิ้นชัก หรือในตู้ เป็นต้น ซึ่งมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงทั้งแสง ความร้อน และความชื้น เพราะทั้ง ๓ ประการจะส่งผลต่อความคงตัวของยา จึงควรเก็บยาให้พ้นแสง อย่าให้ร้อนเกินไป และไม่ควรมีความชื้นสูง ซึ่งจะส่งผลทำลายคุณภาพของยาได้ นอกจากนี้ควรเลือกสถานที่เก็บยาให้พ้นมือเด็กและไกลจากสัตว์เลี้ยง
ฉลากยา
ควรรักษาฉลากยาให้ครบถ้วน เพื่อง่ายต่อการนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ในการใช้ยาทุกครั้ง ควรอ่านฉลากยา โดยเฉพาะวิธีการใช้ยา และใช้อย่างถูกต้อง ถูกคน ถูกโรค ถูกเวลา จะได้เกิดผลดีในการรักษา และไม่เกิดการลืมใช้ยา
วันหมดอายุ
สิ่งหนึ่งที่จะปรากฏในฉลากยา คือ วันหมดอายุ ซึ่งมักจะระบุเป็นภาษาไทยว่า "วันหมดอายุ" หรือ "ยาสิ้นอายุ" หรือในภาษาอังกฤษว่า "Exp. Date" หรือ "Expired Date" หรือ "Expiry Date" หรือ "Use before" เป็นต้น
วันหมดอายุนี้มักจะระบุควบคู่กับวันที่ผลิตยา โดยจะเรียงวันที่ผลิตมาก่อนแล้วจึงตามด้วยวันหมดอายุเสมอ ซึ่งอาจจะระบุปีเป็นปี พ.ศ. หรือ ค.ศ. ก็ได้
ลักษณะภายนอกของยา
เมื่อพิจารณาวันหมดอายุไปแล้ว ก็พิจารณาลักษณะของยาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น รส ซึ่งสังเกตได้ด้วยตา จมูก และลิ้น ตัวอย่างเช่น สีของยาเม็ด ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปก็ไม่ควรใช้ ยาบางอย่างจะมีสีเข้มขึ้น หรือเยิ้มเมื่อมีความชื้น เป็นต้น ถ้ารูปลักษณ์ของยาเปลี่ยนแปลงไปก็ไม่ควรใช้
ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะสังเกตว่า ยายังดีอยู่ ยังไม่เสีย ยังใช้ได้ ถ้าเก็บยาไว้ในที่ๆเหมาะสม ไม่ร้อนเกินไป ไม่ถูกแสง และไม่ชื้นมาก รวมถึงฉลากยายังสมบูรณ์ชัดเจน มีชื่อยา ชื่อผู้ป่วย วิธีใช้อย่างชัดเจน และยังไม่หมดอายุ ประกอบกับมีสภาพรูปลักษณ์สีสันภายนอกเหมือนเดิม จึงถือว่ายายังดีอยู่ และใช้ได้ ไม่ถือเป็นยาขยะ
แล้วจะจัดการกับยาเหลือใช้อย่างไร?
เมื่อมียาเหลือใช้อยู่ในบ้าน นับวันจะมากขึ้นๆ จากกองเล็กๆ ก็จะขยายใหญ่ขึ้น หรือถ้าใส่ในกระจาดเล็กๆ ก็จะค่อยๆ ขยายมากขึ้น จนล้นกระจาด แล้วจะจัดการกับยาเหลือใช้อย่างไร?
คำถามที่ ๑ ควรทิ้งยาเหลือใช้ "ลงในชักโครก" หรือไม่?
ข้อเสนอแนะข้อแรกนี้เป็นสิ่งที่กำจัดได้ง่ายที่สุด แถมยังสะดวกสบายที่สุด โดยการนำยาเหลือใช้ทั้งหมดไปเทลงในชักโครก แล้วกดให้น้ำล้างก็เสร็จเรื่องกันไป วิธีนี้จะดีจริงหรือ?
ยาทั้งหมดจะถูกละลายลงไปอยู่ในบ่อเกรอะ บางส่วนก็จะละลายซึมออกไปกับน้ำ โดยเฉพาะส้วมซึมแบบที่นิยมกันมากในเมืองไทย สุดท้ายยาเหล่านี้ก็จะละลายไปสะสมอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ ตามธรรมชาติ ดังปรากฏเป็นข่าวในต่างประเทศว่า พบยาปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่างๆ พบในตัวปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นๆ ทั้งยังเพิ่มการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย และที่ร้ายที่สุด คือ ยาละลายปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มน้ำใช้ของประชาชน
ดังนั้น จึงไม่ควรทิ้งยาเหลือใช้... ลงในชักโครก
คำถามที่ ๒ ควรทิ้งยาเหลือใช้ "ลงในอ่างล้างจาน" หรือไม่?
ในเมื่อทิ้งในชักโครกหรือคอห่านไม่ได้ จะขอทิ้งในอ่างล้างจานจะได้ไหม? ประเด็นนี้คงพอเดาได้แล้วว่า ไม่ดีแน่นอน เพราะยาที่ถูกเททิ้งลงไปในท่อของอ่างล้างจาน ก็จะละลายและไหลไปรวมกันในแหล่งน้ำ ซึ่งยังไม่มีวิธีการกำจัดยาออกจากน้ำเสีย ยาจะสะสมหมุนเวียนในลักษณะเดียวกันกับประการแรก เกิดการสะสม ปนเปื้อนในสัตว์น้ำ เกิดแบคทีเรียดื้อยา และอาจปนเปื้อนในน้ำดื่มน้ำใช้ของเราได้เช่นกัน
คำตอบ จึงไม่ควรทิ้งยาเหลือใช้... ลงในอ่างล้างจาน
คำถามที่ ๓ ควรนำไป "ให้เพื่อนใช้" หรือไม่?
ประเด็นที่ ๓ เมื่อยาเหลือก็เอาไปให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องที่เป็นโรคหรือมีอาการเดียวกันกับเราใช้จะได้ประโยชน์ ไม่เสียของเปล่าๆ ฟังดูดี แถมยังมีคุณธรรม ได้ช่วยเหลือคนอื่นอีกด้วย ในกรณีเช่นนี้จะใช้ได้จริงๆ ก็ต้องเป็นยาชนิดเดียวกันและขนาดเดียวกันเท่านั้น จึงจะใช้แทนกันได้ แต่ถ้าเป็นโรคหรืออาการเหมือนกัน ยังไม่แนะนำให้นำไปให้เพื่อนใช้ เพราะโรคเดียวกันหรืออาการที่คล้ายกัน แต่ระดับความรุนแรงหรือลักษณะอื่นๆ อาจแตกต่างกัน นอกจากนี้การจ่ายยาให้ผู้ป่วยนั้น แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาจะพิจารณาลักษณะของแต่ละคน และเลือกยาให้เหมาะสมที่สุด
ยาที่ได้ผลดีกับคนที่ ๑ อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลเลยกับคนที่ ๒ แถมอาจจะเกิดผลเสียเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้ เช่น แพ้ยา เป็นต้น ดังนั้นจึงควรนำไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา อยากคิดเอง เออเอง
คำถามที่ ๔ ควรนำไป "หาแพทย์หรือเภสัชกร" หรือไม่?
ส่วนประเด็นคำถามสุดท้ายนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะแพทย์ หรือเภสัชกร จะช่วยกัน ตรวจเช็กความพร้อมของยาเหลือใช้เหล่านั้นว่า ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ถ้าใช้ได้ จะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย อาจจะเป็นคนเดิมที่เป็นเจ้าของ หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยคนอื่นตามความเหมาะสมต่อไป
ดังนั้น เมื่อมี..ยาเหลือใช้...จึงควรนำกลับไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ดีที่สุด
ขอย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า "ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์" ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรใช้อย่างพอเพียง ใช้ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็น
ยาล้วนเป็นสารเคมีที่อาจจะเกิดอันตรายกับผู้ใช้ยาได้ทุกเมื่อ จึงควรพินิจพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนใช้ และใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ที่สุด ตามหลัก ๓ ป. (ปอ ปลา) คือ ประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด
- อ่าน 10,792 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้