• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำไม? ลูกรักต้องเป็นหืด

พ่อแม่หลายคนถามว่า ทำไมลูกรักต้องเป็นหืด ทำไมเด็กคนอื่นไม่เป็น กวาดบ้านแต่ละครั้งมีแต่ความเครียด ไม่รู้ว่าทำไมกวาดบ้านแล้วลูกถึงหอบจนต้องหามส่งโรงพยาบาล พอมาโรงพยาบาลได้ยาพ่น ยากินก็หาย พอกลับไปบ้าน วันร้ายคืนร้าย ฝนตก เล่นตุ๊กตาหมีขนปุยขาวสะอาด หรือนอนอย่างมีความสุขบนที่นอนยัดนุ่นพลันต้องตื่นกันทั้งแม่ทั้งลูก หรืออาจจะทั้งครอบครัว

น่าแปลก! จากการพูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กที่ป่วยด้วยโรคหืดกว่าร้อยละ ๘๐ ไม่รู้ว่าโรคหืดเกิดจากอะไร ทำไมลูกรักถึงได้มีอาการหอบขนาดนั้น รู้แต่ว่าถ้าหอบก็พาไปพบแพทย์ ให้ยาดีขึ้นก็กลับบ้าน มีชีวิตอยู่เป็นปกติได้ไม่เท่าไหร่ ก็เกิดอาการขึ้นมาอีก

บางรายเป็นกะทันหันกลางดึกกลางดื่น ไม่ต้องหลับนอนกัน หลายครอบครัวได้แต่บ่นว่าทำไมโชคร้าย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

น่าตกใจไม่น้อย ที่หลายครอบครัวบอกตรงกันว่า เมื่อมารับการรักษาทั้งที่ห้องฉุกเฉินหรือหน่วยงานผู้ป่วยนอกแม้แต่ในหอผู้ป่วยเมื่อต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่เคยได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว หรือการบอกสาเหตุของโรค ตลอดจนการป้องกันโรคเลย

แม้ปัจจุบันโลกเราเป็นยุคสื่อสารฉับไว ข้อมูลข่าวสารมากมายที่ต้องการรู้สามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือสุขภาพที่วางแผงเต็มไปหมด แต่เป็นความจริงที่ว่ากลุ่มคนส่วนหนึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่ไม่มีโอกาสเข้าถึง พวกเขายังต้องรอบุคลากรทางสาธารณสุขให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

บุคลากรทางสาธารณสุขมักไม่มีเวลาในส่วนนี้ เนื่องจากผู้ป่วยรอคิวยาวเหยียดทุกวันทุกเวร ยิ่งห้องฉุกเฉินแล้วไม่ต้องพูดถึง

ผู้ป่วยโรคหืดส่วนใหญ่จะมีอาการนอกเวลาราชการ เช่น ยามค่ำคืนที่อากาศเริ่มหนาวเย็น เป็นต้น และพวกอุบัติเหตุรถชน รถคว่ำทั้งหลายก็ชอบมาเวลาเดียวกัน แพทย์พยาบาลก็ต้องให้เวลากับผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน พวกหอบก็นั่งพ่นยาอยู่เดียวดายมุมหนึ่งของห้องฉุกเฉิน ไม่มีใครมีเวลามาให้คำแนะนำอย่างที่ควร อัตรากำลังพยาบาลขาดแทบจะทุกโรงพยาบาล
 

โรคหืดรักษาไม่หาย แต่ป้องกันได้
โรคหืดรักษาไม่หาย แต่ป้องกันได้ ถ้าสามารถควบคุมโรคไม่ให้มีอาการ อาจจะ ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปีโดยไม่มีอาการ นั่นคือเราพอใจ

เด็กป่วยด้วยโรคหืดมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีอัตราการหอบเหนื่อยที่เข้าขั้นอันตรายจนต้องมานอนรักษาตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อหลายปีก่อนที่โรงพยาบาลมีเด็กโรคหืดคนหนึ่งเสียชีวิต พ่อแม่เด็กร้องไห้คร่ำครวญยังเป็นภาพที่จำติดตา

คนมีชื่อเสียงในสังคม รวมทั้งดารานักแสดงป่วยด้วยโรคหืดก็มีจำนวนมาก และมีหลายคนเสียชีวิตไปแล้วจากโรคนี้

โรคหืดเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากภูมิไวเกิน ในคนปกติเราได้รับฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือไรฝุ่น เราจะไม่มีอาการหอบ อาจจะแค่จามไล่สิ่งแปลกปลอมสัก ๒-๓ ครั้งก็กลับเป็นปกติ แต่ในคนที่เป็นโรคหืดหรือภูมิไวเกิน จะมีปฏิกิริยาตอบสนองทันที กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมจะหดเกร็ง มีการบวมของเยื่อบุ มีเสมหะที่เหนียวออกมาก ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อหายใจออกเกิดอาการเหนื่อยมาก ถ้าเป็นมาก เวลาหายใจจะมีเสียงดังวี้ด ได้ยินโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยฟัง (stethoscope) เป็นมากๆ เข้าจะเหนื่อยจนไม่สามารถหายใจเข้าออกได้ ในบางรายจะรุนแรงมากทำให้เสียชีวิตได้

ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหืดมากขึ้น เพราะสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไปจากสมัยก่อนที่บ้านเมืองมีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยมาก มองไปเห็นแต่ความเขียวชอุ่มของพืชไร่ อากาศสดชื่น สูดลมหายใจได้เต็มปอด เมื่อไร่นาหายไปพร้อมกับร่มไม้ใหญ่ ประเทศเปลี่ยนไปรับความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมเต็มที่ พื้นที่เกษตรกรรมลดลง พืชผักเต็มไปด้วยสารพิษฆ่าแมลง เราจึงมีโรคหืดเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แทบจะเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก ที่เมืองอุตสาหกรรมจะมีผู้ป่วยโรคหืดเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้

การรักษาโรคหืดมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ แน่นอนยามีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำก็คือวิธีปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสมนั่นเอง

ปีที่แล้ว แพทย์หญิงภาวนา ตันติไชยากุล กุมารแพทย์โรงพยาบาลบ้านโป่ง ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของยารักษาโรคหืด ๒ ชนิดเปรียบเทียบกันคือ ยาพ่น Budesonide inhaler กับยากิน ketotifen โดยทำการทดลองกับเด็กโรคหืดจำนวน ๓๐ คน เป็นระยะเวลานาน ๘ เดือน

ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิผลของยาพ่น Budesonide inhaler ดีกว่ายากิน ketotifen ยา ๒ ตัวนี้ถ้าใช้ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้ควบคุมโรคหืดได้เหมือนกัน แต่ปัญหาอยู่ที่การรักษาไม่ต่อเนื่อง และไม่ดูแลตนเอง เมื่อไม่มีอาการก็ไม่กินยา หรือพ่นยา สำหรับยาพ่นนั้นมีสตีรอยด์ผสมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์รักษาการอักเสบของหลอดลม ผลข้างเคียงของยาพ่นนั้นมี แต่น้อย


นอกจากยาแล้ว การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ไม่หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ไม่รักษาความสะอาด บ้านเรือนมีฝุ่นหรือที่นอน หมอน มุ้งเต็มไปด้วยไรฝุ่น หรือคนในบ้านยังสูบบุหรี่พ่นใส่หน้าเด็กมวนต่อมวนเหมือนไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ต่อให้ได้ยาวิเศษเพียงใดก็ไม่มีวันที่จะควบคุมโรคหืดได้
นอกจากผลการวิจัยเรื่องยาที่ได้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่พ่อแม่ที่มีลูกเป็นหืดไม่รู้สาเหตุ และวิธีการดูแลดังกล่าวข้างต้น แม้ลูกจะป่วยมานานหลายปี มานอนโรงพยาบาลซ้ำซากหลายครั้งแล้วก็ตาม ส่วนใหญ่ก็พึ่งยา พึ่งหมอเพียงอย่างเดียว นี่คือปัญหาสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพบ้านเรา

การจัดโครงการวิจัยดังกล่าวทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ปกครองเด็ก ให้ผู้ปกครองได้พูดคุยกันเอง ได้เล่าถึงวิธีการดูแลเด็ก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เราจึงทราบหลายอย่างว่า ผู้ปกครองเด็กส่วนหนึ่งคิดว่าการตากผ้ากับแดดแรงจัดๆ จะสามารถฆ่าไรฝุ่นซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดหอบหืดขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงต้องต้มในน้ำเดือดเท่านั้นไรฝุ่นจึงจะตาย และไรฝุ่นมีมากในที่นอน หรือของเล่นที่ยัดด้วยนุ่น ผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้าโครงการ เกิดการเรียนรู้ในเรื่องนี้และเปลี่ยนที่นอนเป็นใยสังเคราะห์กันทั้งหมด

ตัวกระตุ้นอีกหลายตัวที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นสาเหตุกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ หรือการวิ่งเล่นหักโหม จากเดิมที่ปล่อยให้คนในบ้านพ่นควันโขมงใส่เด็ก ก็หลีกเลี่ยง ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด จะบอกว่าลูกของตนมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยป่วยตลอดปี มานอนโรงพยาบาลปีละหลายๆ ครั้ง ขาดโรงเรียนเป็นกิจวัตรก็ห่างลง จนบางคนในระหว่างที่ได้รับการดูแลอยู่ในโครงการ ไม่เคยกลับมานอนโรงพยาบาลเลย จากที่เคยวิ่งเล่น หรือว่ายน้ำไม่ได้ แต่คราวนี้กลับสามารถวิ่งเล่นและว่ายน้ำได้

ครั้งแรกที่เข้ามาทำโครงการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคหอบหืดนั้น คุณหมอมีหน้าที่ตรวจและพิจารณาให้ยารักษาเป็นหลัก แต่เรื่องการดูแลให้คำแนะนำซึ่งดูเหมือนเป็นส่วนของการพยาบาล คุณหมอก็ทำด้วย คุณหมอจะให้เวลาในการพูดคุย และให้คำแนะนำกับผู้ป่วยด้วยความเป็นกันเอง
ในส่วนของพยาบาลนั้น ก็ให้คำแนะนำที่ผู้ป่วยยังสงสัยหรือปัญหาใหม่ๆ ที่เข้ามา โดยจะให้เบอร์โทรศัพท์ไว้กับผู้ป่วยทุกคน ให้ติดต่อได้ตลอดเวลาถ้ามีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ ช่วงเปิดโครงการใหม่ๆ จำได้ว่ายามที่รับโทรศัพท์จากผู้ปกครองเด็กบางครั้งกำลังยุ่งอยู่ แต่ก็รู้สึกมีความสุขดีที่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือมีส่วนช่วยเหลือพวกเขา บอกได้เลยว่าไม่เคยรู้สึกรำคาญแม้แต่น้อย แม้บางวันจะมีโทรศัพท์เข้ามาหลายครั้งจากคนเดียวกัน ด้วยปัญหาว่าเด็กหอบ และพ่นยาแล้วยังไม่ดีขึ้นจะทำอย่างไรต่อไป ผู้ปกครองทุกคนพูดเหมือนๆ กันว่า
"โครงการนี้ดีมาก เมื่อก่อนไม่เคยรู้เลยว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เดี๋ยวนี้ลูกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด"

 

เรากินอะไร เราก็ได้อย่างนั้น
ฉันมีความเชื่อเช่นเดียวกับหลายคนที่ว่า "you are what you eat" กินอะไรเข้าไปก็จะเป็นอย่างนั้น และฉันเชื่อว่า อาหารบำบัดโรค ฉันไม่ชอบกินยาเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย นอกจากจำเป็นจริงๆ แต่ฉันจะดูแลตนเองด้วยการเลือกกิน กินให้ถูก เมื่อก่อนต้องอร่อยอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ความอร่อยของฉันคือการได้กินผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ ที่บ้านแม่จะปลูกผักหลายอย่าง
นอกจากพืชผักสวนครัวที่ไม่เคยซื้อ ต้นพริก ๔-๕ ต้น ออกผลสะพรั่ง กินกันไม่มีหมด แถมยังเหลือเก็บขายได้อีก เพราะกินไม่ทัน คะน้าที่ตามท้องตลาดเต็มไปด้วยสารพิษฆ่าแมลง แม่ก็ปลูกเอง กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ถ้าคุณลองกินผักที่ได้ปลูกเอง และเด็ดขึ้นมาใหม่ๆ จากดิน คุณจะรู้ว่ารสชาติมันต่างจากที่ซื้อมาอย่างเห็นได้ชัด ผักที่ซื้อมาวิตามินสูญหายไปเกือบครึ่ง ผักคะน้าซื้อจะเหนียว ไม่กรอบ ผักคะน้าที่บ้านกรอบสด ไม่มีรสขมแม้แต่น้อย


ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ในการจัดโครงการพบปะผู้ปกครองและเด็กโรคหอบหืดครั้งแรกนั้น ฉันได้นำเสนอเกี่ยวกับการกินอาหารที่สมควรกิน เริ่มด้วยการรับรู้คุณค่าของอาหารแต่ละอย่าง ถ้าไม่สามารถปลูกผัก ผลไม้กินเองได้ ก็เน้นเรื่องการทำความสะอาดให้ปลอดภัยจากสารพิษฆ่าแมลง

ผู้ปกครองหลายคนไม่ทราบวิธีการล้างผักที่ถูกวิธี ฉันแนะนำวิธีการล้างผัก ซึ่งอาจจะใช้เกลือแกงหรือผงฟูก็ได้ ๑ ช้อนโต๊ะต่อน้ำ ๑ ลิตร แช่ผักนาน ๑๕ นาที จึงล้างออก ถ้าล้างด้วยน้ำอุ่นได้ก็จะดี เพราะจากการศึกษาพบว่าการล้างผักด้วยน้ำอุ่นจะช่วยลดสารพิษฆ่าแมลงได้ดีกว่า แต่อย่าใช้น้ำร้อนเพราะผักจะเหี่ยวและวิตามินจะไปหมด

จะเห็นว่า ถ้ารู้ จะทำให้สามารถดูแลรักษาสุขภาพได้ถูกต้อง แต่ปัญหาคือ ไม่รู้ แล้วจะทำอย่างไรให้รู้ นั่นเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก ในฐานะบุคลากรทางสาธารณสุข มีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพตามหลักโภชนบำบัด ธรรมชาติบำบัด ฉันให้คะแนนส่วนนี้มากกว่าการรักษาด้วยยาสมัยใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฉันก็เชื่อในศาสตร์แห่งการบูรณาการเช่นเดียวกัน หมายถึงการใช้หลักการทั้ง ๒ อย่างเข้าด้วยกัน เมื่อจำเป็นยารักษาโรคก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ แต่ก็อย่างพอประมาณ ไม่ใช่กินยาแทนข้าว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันบ่อยๆ ว่า คนเดียวแต่มียาถุงใหญ่ขนาดนั้น ๓ ถุงกินก่อนอาหาร อีก ๕ ถุงกินหลังอาหาร แล้วชีวิตมันจะอยู่ได้อย่างไร

ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับโครงการดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืดในเด็กที่ได้ทำร่วมกับคุณหมอภาวนา ตันติไชยากุล ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการทำโครงการวิจัย แต่ก็ยังไม่ได้ลงรายละเอียดทั้งหมด

 

ข้อมูลสื่อ

375-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
บทความพิเศษ
เสาวรี เอี่ยมละออ