• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สธ.พร้อมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิดรวม ๓ สายพันธุ์

สธ.พร้อมบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรวม ๓ สายพันธุ์แก่ ๗ กลุ่มเสี่ยง ฟรี ๒.๑ ล้านโด๊ส ที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เริ่ม ๑ กรกฎาคม ถึง ๓๑ ตุลาคมปีนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการรณรงค์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ๗ กลุ่มมารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิดครอบคลุม ๓ สายพันธุ์ ทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ไข้หวัดใหญ่ชนิดบี และไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช ๓ เอ็น ๒ ซึ่ง ๒ ชนิดหลังถือเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้เตรียมวัคซีนไว้ทั้งหมด ๒.๑ ล้านโด๊ส โดยจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ๗ กลุ่ม คือ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกินกว่า ๗ เดือน คนอ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม ผู้พิการทางสมอง ประชาชนอายุ ๖ เดือนขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง ๑๐ โรค ผู้สูงอายุเกินกว่า ๖๕ ปีขึ้นไป เด็กอายุตั้งแต่ ๖ เดือน-๒ ขวบบุคลากรทางสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีก เริ่มให้บริการตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม-๓๑ ตุลาคมปีนี้ 

 "ขอเชิญชวนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง ๗ กลุ่มรับบริการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ฟรี โดยขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้จัดส่งวัคซีนไปที่โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ไปแล้ว หลังฉีด ๑ เดือนสามารถรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด ๓ สายพันธุ์นี้ได้ และมีข้อดีคือจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ให้มากขึ้น รวมทั้งยังป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อีก ๒ สายพันธุ์ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ครอบคลุมให้มากที่สุด"

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ที่เหลืออยู่ประมาณ ๑.๕ แสนโด๊ส หากจังหวัดใดต้องการฉีดแก่ประชาชนทั่วไป ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อประสานกรมควบคุมโรคในการจัดส่งวัคซีนไปให้ต่อไป ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ก็ขอให้มารับการฉีดวัคซีนชนิด ๓ สายพันธุ์นี้ โดยองค์การอนามัยโลกเป็นผู้กำหนดว่าในแต่ละปีประชากรโลกควรฉีดวัคซีนตัวใด ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยทั่วไป เชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีพันธุกรรมประมาณ ๘ ท่อน และพันธุกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี โดยองค์การอนามัยโลกได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีกว่า ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก เก็บเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศเพื่อตรวจวิเคราะห์แยกสายพันธุ์และส่งรายงานให้องค์การอนามัยโลกเพื่อกำหนดสายพันธุ์วัคซีนป้องกัน ซึ่งจะแตกต่างกันทุกปี ให้แก่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเป็นผู้ผลิต และฉีดให้ประชาชนทั่วโลก ในปีนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกัน ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิดเอ เอช ๑ เอ็น ๑ หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ชนิดเอ เอช ๓ เอ็น ๒ และชนิดบี กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยละ ๘๐  ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ในช่วงหลังๆ นี้ พบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ เหลือสัปดาห์ละประมาณ ๒-๓ ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตติดต่อกันหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในปี
พ.ศ.๒๕๕๓ ตั้งแต่ ๑ มกราคมถึง ๒๕ มิถุนายน มีผู้ป่วยยืนยัน ๖,๖๗๙ ราย เสียชีวิต ๓๓ ราย

ส่วนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยทั่วไปจะมีรายงานผู้ป่วยปีละ ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ซึ่งมักเสียชีวิตจากปอดบวม ซึ่งผู้ป่วยปอดบวมจะเสียชีวิตประมาณร้อยละ ๒.๕ หรือ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ รายต่อปี ซึ่งหากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะสามารถลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยได้ ๙๔๘-๒,๔๕๓ ล้านบาทต่อปี

 

ข้อมูลสื่อ

376-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 376
สิงหาคม 2553
กองบรรณาธิการ