• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ

นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
มองจากทัศนะแพทย์แผนจีน (๕)

ฉบับที่แล้วกล่าวถึงแนวคิดอาหารสุขภาพคืออาหารหลัก ๖ หมู่ แต่ฉบับนี้พูดถึงสารสกัดจากพืชและสมุนไพรที่ไม่ใช่สารอาหารหลักกลุ่มพฤกษเคมี

สารพฤกษเคมี
สารพฤกษเคมี (phytochemical) เป็นสารที่พบในผักและผลไม้ ที่มีบทบาทในการป้องกันการเกิดโรคของร่างกาย โดยเฉพาะผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
สารพฤกษเคมี (ไม่ใช่สารอาหารหลัก ๖ หมู่) มีหลายร้อยชนิด มีเพียงส่วนน้อยที่มีการศึกษา อาหารที่เรากินอยู่ทุกวันล้วนมีสารพฤกษเคมีอยู่หลายชนิดมากมาย มีการทำหน้าที่ร่วมกันที่ซับซ้อน สีของใบไม้ ผลไม้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสารพฤกษเคมี สารเหล่านี้ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการในการให้พลังงานแก่ร่างกายโดยตรง แต่เชื่อว่ามีผลต่อภูมิต้านทานโรคเป็นด้านหลัก การศึกษาวิจัยทางด้านนี้นับว่ายังเริ่มต้นไม่นาน

ตัวอย่างของสารพฤกษเคมี
๑. อินโดล (indoles)
พบในผักพวกกะหล่ำ บทบาทสำคัญคือการขับสารก่อมะเร็งและสามารถปรับเปลี่ยนฮอร์โมนเอสโทรเจน ให้เป็นรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งชนิดอื่นๆ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อินโดลจะปิดกั้นสารก่อมะเร็งเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย
๒. อัลลีล ซัลไฟด์ (allyl sulphide)
พบในหัวหอม กระเทียม บทบาทสำคัญคือการกระตุ้นการผลิตเอนไซม์ เพื่อช่วยขับสารก่อมะเร็งมากขึ้น และช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
๓. ฟลาโวนอยด์ (flavonoids)
พบมากในผักและผลไม้ สารฟลาโวนอยด์มักมีวิตามินซีเป็นส่วนประกอบร่วมด้วย มีบทบาทปกป้องเซลล์จากสารก่อมะเร็ง และกดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปกติที่จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง การวิจัยบางชิ้นรายงานว่าสามารถยับยั้งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเติบโตของมะเร็ง
๔. ไอโซฟลาโวน (isoflavones)
พบมากในถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วแระ ถั่วอัลฟาฟ่า ชะเอม ตังกุย ธัญพืช เป็นต้น การศึกษาพบว่า ประเทศญี่ปุ่นที่ปลูกถั่วเหลืองและกินถั่วเหลืองอย่างสม่ำเสมอ มีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากน้อย ไอโซฟลาโวนมีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระ ขจัดสารก่อมะเร็งและยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็ง
๕. ลิกนาน (lignans)
พบมากในเมล็ดแฟลกซ์ พวกปอ ป่าน เมล็ดงา ทานตะวัน บร็อกโคลี่ ข้าวโอ๊ต มีบทบาทเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีส่วนประกอบของกรดไขมัน โอเมก้า-๓ ซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับโรคระบบภูมิคุ้มกัน เช่น มะเร็งลำไส้ โรคหัวใจและหลอดเลือด
๖. ไลโมนีน (limonene)
พบมากในมะนาว ผลไม้พวกส้ม มีบทบาทด้านการผลิตเอนไซม์ต่างๆ ขจัดสารก่อมะเร็ง และช่วยลดขนาดมะเร็งเต้านม
๗. กรดแคฟเฟกเซีย (caffecia acid)
พบในผลไม้พวกส้ม มีบทบาททำให้สารก่อมะเร็งถูกขับออกจากร่างกายง่ายขึ้น (โดยการละลายน้ำ)    ช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งผิวหนัง
๘. ซาโพนิน (saponins)
พบในรากมันสำปะหลัง ผักสะตอ ผักหนาม ผักเสี้ยนผี มีอยู่ ๑๑ ชนิด พบว่าในปริมาณน้อยจะมีฤทธิ์ขจัดมะเร็ง
๙. ไลโคพีน (lycopene)
เป็นแคโรทีนอยด์ พบปริมาณสูงในมะเขือเทศ ฝรั่ง แตงโม มะละกอ สามารถออกฤทธิ์ลดไขมัน ลดความดันเลือด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร
๑๐. คาเทชิน (catechins)
พบมากในสารสกัดชาเขียว (green tea extract) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ป้องกันการเสื่อมของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ป้องกันการอักเสบของข้อ และการทำงานกระดูกอ่อน
๑๑. ไคโทซาน (chitosan)
เป็นสารธรรมชาติที่ได้จากเปลือกของกุ้ง ปู หรือหอย เป็นพวกโพลีแซ็กคาไรด์ มีประจุบวกในตัว สามารถจับกับกรดไขมันที่เป็นประจุลบได้ดี ทำให้สามารถดูดจับไขมันในระบบทางเดินอาหาร เพื่อลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกาย
๑๒. ไฟเบอร์ (fiber)
แบ่งเป็นไฟเบอร์ที่ละลายน้ำ ได้แก่ เพ็กทิน (pectin) มูซิเลจ (mucilage) กัม (gum) เมื่อละลายน้ำมีลักษณะคล้ายเจล เมื่อกินเข้าไปในทางเดินอาหาร เส้นใยอาหารชนิดนี้จะจับโมเลกุลของไขมันได้ รวมถึงการดูดจับกรดน้ำดีที่สร้างจากคอเลสเตอรอลไหลดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย จึงมีบทบาทลดไขมันและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน และควบคุมความหิวและทำให้อิ่ม ใช้ในการลดน้ำหนัก และช่วยดูดซับพิษของร่างกายที่ขับออกทางน้ำดี
๑๓. โคเอนไซม์คิวเท็น (coenzyme Q10)
ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง หรืออาจได้จากสัตว์และพืช เช่น น้ำมันปลาทะเลลึก (ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน) อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ รำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น เป็นสารประกอบคล้ายวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ โดยจะอยู่ในส่วนเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ของบริเวณไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ของเซลล์อวัยวะที่ให้พลังงานมากในปริมาณที่สูง เช่น หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อ สมอง เป็นต้น โคเอนไซม์คิวเท็น มีหน้าที่ในกระบวนการเปลี่ยน แปลงคาร์โบไฮเดรตและไขมันให้เป็นพลังงานเพื่อการใช้งานของเซลล์ การมีคิวเท็นลดลงจะทำให้การได้รับพลังงานของร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง ทำให้เซลล์ตายได้ง่าย นอกจากนี้ยังเสริมฤทธิ์วิตามินซี และวิตามินเอ ในการต้านอนุมูลอิสระ ร่างกายสามารถสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นได้ดีในช่วงหนุ่มสาวเท่านั้น และจะค่อยๆ สร้างลดลงในวัยกลางคน (๔๐ ปีขึ้นไป)
      
มีการนำมาใช้เป็นอาหารเสริมเพื่อวัตถุประสงค์
๑. ช่วยการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือดและต้านการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด (ออกฤทธิ์คล้ายวิตามินอี) ในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือด
๒. ช่วยการทำงานของสมอง ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพื่อให้สมองสามารถผลิตพลังงานแก่สมองได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน โคเอนไซม์คิวเท็นยังมีส่วนประกอบของเฟนิลอะลานิน ช่วยกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้เผาผลาญอาหารเป็นพลังงานได้ดีขึ้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)

 


 

ข้อมูลสื่อ

343-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 343
พฤศจิกายน 2550
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล