• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดเจ็บฉุกเฉิน "ร้ายแรง"

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๘

ผู้ป่วยรายนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และเป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่หลายวันตั้งแต่วันที่ได้รับบาดเจ็บจนถึงวันที่เสียชีวิต และเป็นบทเรียนอย่างดียิ่งถึงการขาดแคลนเจตคติและความรู้ความสามารถในการป้องกันและการบำบัดรักษาภาวะเจ็บฉุกเฉินร้ายแรง

ผู้ป่วยรายนี้คือ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง"  ซึ่งตั้งตนเป็นหัวหน้ากลุ่มรักษาความปลอดภัย (ในอาณัติของตน) ให้แก่ผู้ชุมนุม "คนเสื้อแดง"  ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

"เสธ.แดง" ถูกยิงด้วยอาวุธปืนที่มีอานุภาพสูงเข้าที่ศรีษะ ขณะยืนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศหน้าลิฟต์สถาณีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม หันหลังให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อเวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น. วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

           หลังเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวฝรั่งบอกว่า ช่วงเกิดเหตุขณะถ่ายทำการสัมภาษณ์สด "เสธ.แดง"  มองเห็นจากในกล้องทีวีว่ามีคนโผล่มาทางช่องกระจกของชั้น ๖ หรือ ๗ อาคารแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้สนใจเพราะอยู่ระหว่างการสัมภาษณ์สดพอดี ต่อมาตนได้ยินเสียง "ฟิ้ว"  เฉียดศรีษะตนไป เลือดท่วมศรีษะและใบหน้า คอพับไปพับมาขณะที่การ์ดของ "เสธ.แดง" เข้าอุ้มร่าง "เสธ.แดง" ที่อ่อนปวกเปียกและไม่รู้สึกตัวเลย

          ภาพจากสื่อโทรทัศน์ฝรั่งแสดงให้เห็นการ "หอบหิ้ว" ร่าง "เสธ.แดง" อย่างทุลักทุเลไปใส่รถที่อยู่ไกลออกไป เพื่อส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว (ทั้งที่จุดเกิดเหตุอยู่เกือบติดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) และอีกหลายชั่งโมงต่อมา ก็ถูกส่งต่อไปรักษาที่วิทยาลัยแพทศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล (โรงพยาบาลวชิรพยาบาล)

          นายแพทย์ชัยวัน  เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล แถลงว่า "เสธ.แดง" ถูกกระสุนที่มีอานุภาพสูงเข้าที่ศรีษะทางขวาทะลุออกทางซ้าย  ไม่พบหัวกระสุนในศรีษะ  สมองได้รับการกระทบกระเทือนและบวมจากการบาดเจ็บที่รุนแรง และการขาดออกซิเจนที่อาจเกิดจากการหยุดหายใจไปนานก่อนได้รับการกู้ชีพ แม้จะได้รับการผ่าตัดเอาเลือดคั่งในสมองออก  และเปิดกะโหลกศรีษะไว้เพื่อบรรเทาอาการบีบรัดเนื้อสมองที่บวมมาก พร้อมกับการบำบัดวิกฤติ (intensive treatment) ต่างๆ อย่างเต็มที่ รวมทั้งที่การฟอกเลือดสำหรับภาวะไตวายด้วย

          แต่ในเช้าวันที่ ๑๗ พฤภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ความดันเลือดก็ตกลงจนวัดไม่ได้แม้จะใช้ยากระตุ้นต่างๆเต็มที่ ต่อมาหัวใจก็หยุดเต้น แพทย์ได้ช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ และให้ยากระตุ้นต่าง ๆ จำนวนมากอยู่ ๕๕ นาที แต่ไม่เป็นผล "เสธ.แดง"  ได้เสียชีวิตลงเมื่อเวลา ๐๙.๒๐ น.

          กรณีการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของ "เสธ.แดง" ได้ให้บทเรียนมากมายต่อการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น

          ๑. การป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การเจ็บป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่ป้องกันได้ และทุกฝ่ายควรจะช่วยกันหาวิธีต่างๆ ในการป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะเมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ย่อมเกิดการเสียชีวิต การพิการ และความทุกข์ทรมานมากหรือน้อยเสมอ

          แม้แต่กรณี "เสธ.แดง" ถ้ามีการแก้ปัญหาความขัดแยัง/แตกแยกในสังคมแต่เนิ่นๆ จนไม่เกิดการชุมนุมของกลุ่ม "เสื้อเหลือง"  "เสื้อแดง"  และอื่นๆที่นำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสีย กรณี "เสธ.แดง"  นี้คงไม่เกิดขึ้น

          แต่ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บฉุกเฉินในกรณี "เสธ.แดง"  เท่านั้น ซึ่งมีวิธีที่จะป้องกันได้หลายอย่าง เช่น

          ๑.๑ การมีกฏหมายไม่ให้ครอบครองและพกพาอาวุธปืน/กระสุนอย่างเด็ดขาด ยกเว้น เจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานตามกฏหมาย ดังเช่น ในประเทศมาเลเซีย ทำให้ผู้บาดเจ็บ/เสียชีวิตจากกระสุนปืนมีน้อยมาก เพราะโทษของการมี/การใช้อาวุธปืนสูงถึงขั้นประหารชีวิต

          ๑.๒ การไม่เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีอันตรายบริเวณแยกศาลาแดงและถนนสีลมในเวลานั้นได้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากกระสุนปืนและระเบิดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเรื่อยมา  "เสธ.แดง"   จึงไม่ควรเสี่ยงเข้าไปบริเวณนั้น โดยเฉพาะการปรากฏตนอย่างเปิดเผยในที่โล่งแจ้ง  แม้จะมีผู้คนจำนวนมากห้อมล้อมอยู่ก็ตาม  เพราะการซุ่มยิงจากที่สูงโดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมสามารถเล็งเป้าที่ศรีษะได้

          ๑.๓ การใช้สิ่งกำบังตนและไม่เป็นเป้านิ่ง ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าหน่วยคุ้มกันของ "เสธ.แดง"  ใช้ร่มหรือสิ่งอื่นกางไว้โดยรอบเหนือศรีษะของ "เสธ.แดง" และผู้ห้อมล้อมทั้งหมด รวมทั้งผลักดันให้ "เสธ.แดง" มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่คนซุ่มยิงจะยิง "เสธ.แดง" ได้อย่างแม่นยำจะเป็นไปได้ยาก

           ๑.๔ การไม่แจ้ง / ไม่ทำตามกำหนดล่วงหน้าซึ่งตามข่าว ปรากฏว่ามีกำหนดการล่วงหน้า (อันเป็นที่ทราบทั่วไป)  ว่า   "เสธ.แดง"  จะไปให้สัมภาษณ์นักข่าวที่แยกศาลาแดง แล้วยังมีการชี้นำ/ชักนำ "เสธ.แดง" ให้ไปยืนที่จุดสังหารอีกด้วย

          ถ้าป้องกันไม่ให้ "เสธ.แดง" เกิดการบาดเจ็บฉุกเฉินจนเสียชีวิตได้ อาจจะไม่มีเหตุการณ์ "พฤษภาอำมหิต"  ที่ทำให้สูญเสียกว่า ๖๐ ชีวิต และบาดเจ็บกว่า ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสร้างความโกรธแค้นและแตกแยกในสังคมที่ยังไม่ทราบว่า จะใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าจะเยียวยาสุขภาพจิตและทางสังคมได้

          การป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จึงเป็น "การแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีประโยชน์มากที่สุด"  โดยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ จะต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องการป้องกันให้มากกว่าการบำบัดรักษา

         ๒. การปฐมพยาบาล เมื่อ "เสธ.แดง"  ฟุบลงกับพื่น จะเห็นผู้ที่ล้อมรอบ "เสธ.แดง"  รีบมะรุมมะตุ้มช้อนร่าง "เสธ.แดง"  ขึ้นจนคอพับไปพับมา โดยไม่ได้ตรวจดูอย่างละเอียดก่อนว่า "เสธ.แดง"  ได้รับบาดเจ็บที่ใดบ้าง ยังหายใจอยู่หรือไม่ เป็นต้น

          ถ้า "เสธ.แดง"  ถูกระสุนจนกระดูกคอแตก/หักด้วย  การช้อนร่าง "เสธ.แดง"  แบบนั้นจะทำให้หยุดหายใจและ/หรือ แขนขาทั้งหมดเป็นอัมพาตทันที

          ถ้า "เสธ.แดง"  เพียงแต่เป็นลมหมดสติ เพราะแรงกระแทกของกระสุนร่วมกับความแออัดอบอ้าวจากภูมิอากาศและคนจำนวนมาก การช้อนศรี (ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง) ยิ่งทำให้

"เสธ.แดง"  เป็นลมหมดสตินานขึ้น

          การปฐมพยาบาลแบบผิดๆ ถือว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเสียชีวิต พิการ และ/หรือทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น

          เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปมานานแล้วว่า การปฐมพยาบาลโดยผู้ที่อยู่ใกล้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างถูกต้องและทันท่วงที เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการช่วยให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินรอดชีวิต และลดความพิการและความทุกข์ทรมานลงได้ดีที่สุด

          การปฐมพยาบาล จีงเป็น "การแพทย์ฉุกเฉินที่มีประโยชน์มากที่สุดเป็นอันดับสอง" โดยแพทย์และพยาบาลจะต้องสนใจและทำการปฐมพยาบาลได้ดี เพื่อที่จะสามารถฝึกอบรมบุคลากรอื่นๆ และประชาชนทั่วไปได้

           ๓. การเคลื่อนย้ายและการส่งต่อผู้ป่วย โดยทั่วไป ผู้บาดเจ็บรุนแรงควรจะได้รับการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษา (โดยเฉพาะการผ่าตัดฉุกเฉิน) ได้ทันที และอยู่ใกล้ๆจุดเกิดเหตุสุดท้ายด้วย เพราะจะเป็นการประหยัดและปลอดภัยที่สุด

          แต่เป็นที่น่าเสียใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (โรงพยาบาลจุฬาฯ) ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุมากที่สุดและมีความพร้อมมากที่สุดในด้านบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆกลับไม่เป็นที่ไว้ใจของ "เสธ.แดง" (ตามคำกล่าวอ้างของการ์ด "เสธ.แดง" ที่ว่า "เสธ.แดง" ไม่ให้ส่งตัวเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ)

          และไม่เฉพาะแต่ "เสธ.แดง" และพรรคพวกเท่านั้น แม้แต่นักข่าวและช่างภาพต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนใกล้แยกสารสิน และใกล้ทางเข้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก็ไม่ได้ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่ถูกหอบหิ้วฝ่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงเป็นระยะทางไกลเพื่อไปเข้าโรงพยาบาลตำรวจ จนช่างภาพชาวอิตาเลียนเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว (ถ้าเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯที่อยู่ติดกับจุดเกิดเหตุ อาจรอดชีวิตก็ได้)

          ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯจึงน่าจะวิเคราะห์ว่าทำไมประชาชนจำนวนหนึ่งจึงไม่ไว้ใจโรงพยาบาลจุฬาฯจะดีกว่าออกมาแถลงข่าวทุกวันในช่วงนั้น เพราะผู้คนเขาตัดสินจากสิ่งที่ท่านทำมากกว่าสิ่งที่ท่านพูด

          นอกจากนั้น การเคลื่อนย้าย "เสธ.แดง" บาดเจ็บรุนแรงไปยังโรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งไม่มีความพร้อมสำหรับการรักษาภาวะบาดเจ็บรุนแรง ทำให้ "เสธ.แดง" ต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงกว่าจะได้รับการผ่าตัดสมองที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เวลาที่เสียไปนั้นอาจจะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรอดชีวิต

          การเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยในกรณี "เสธ.แดง" จึงเป็นการเคลื่อนย้ายที่ผิดเวลา และน่าจะมีการทบทวนให้เกิดความปลอดภัย และไร้รอยต่อโอกาสต่อไป

          ๔. การบำบัดรักษาภาวะฉุกเฉินและ"การปั๊มหัวใจ"  คงไม่มีใครที่จะสงสัยในความพยายามของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ที่ได้ช่วยกันอย่างสุดความสามารถในการบำบัดรักษา "เสธ.แดง"

          แต่ผู้ที่ได้ตรวจ รักษา และผ่าตัด "เสธ.แดง" ย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นว่า สภาพการบาดเจ็บเช่นนั้นน่าจะรักษาได้ไหม โดยเฉพาะถ้ารักษาแล้ว ผู้ป่วยจะไม่กลายเป็น "เจ้าชายนิทรา" หรือ "สภาพผักถาวร" (persistent vegetative state) เพราะมีข่าวแจ้งว่า แพทย์ท่านหนึ่งในโรงพยาบาลวชิรพยาบาลบอกแก่ผู้สื่อข่าวว่า "สมองตายแล้ว"  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผู้บริหารและแพทย์ผู้ตรวจรักษาควรจะมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและทางวิชาการ ที่จะชี้แจงให้ลูกของผู้ป่วยและสังคมเข้าใจเพื่อจะได้ไม่ต้องทุ่มเททรัพยากรทั้งบุคลากรและเวชภัณฑ์ต่างๆ เพียงเพื่อยื้อเวลาผู้ป่วยไปอีกเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน (ดังเช่น กรณีคุณครูจูหลิง ปงกันมูล) ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสแก่ผู้ป่วย และสร้างภาระแก่ครอบครัวและสังคมด้วย

          ที่น่าประหลาดใจและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับวงการแพทย์และสังคมทั่วไป ก็คิอ หลังให้การบำบัดรักษา "เสธ.แดง" อย่างเต็มที่ แต่ในที่สุด อวัยวะต่างๆก็ล้มเหลว (หยุดทำงาน/ทำงานลดลงมาก) รวมทั้งไตจนต้องฟอกเลือด ("ฟอกไต")  แต่ก็ไม่ประสบผล ความดันเลือดตกลงจนวัดไม่ได้เช้าวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓  แล้วหัวใจก็หยุด แต่แพทย์ในโรงพยาบาลวชิรพยาบาลยังปั๊มหัวใจ "เสธ.แดง" อยู่ถึง ๕๕ นาที ก่อนจะยอมให้เสียชีวิตเมื่อเวลา ๐๙.๒๐ น.

          หลักสูตรการกู้ชีพขั้นสูงด้านหัวใจและหลอดเลือด (advanced cardiovascular lift support, ACLS) ซึ่งใช้กันทั่วโลกได้ห้ามไว้ โดยไม่ให้ทำการกู้ชีพ (ปั๊มหัวใจ) ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วไม่ได้ผล จนในที่สุดหัวใจหยุดเต้น เพราะถึงปั๊มหัวใจให้มันกลับขึ้นมาเต้นใหม่ มันก็เต้นได้ไม่นาน แล้วก็จะหยุดเต้นอีกเนื่องจากสาเหตุที่ทำให้มันหยุดเต้นยังแก้ไขไม่ได้หรือยังแก้ไขไม่สำเร็จ

          การที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ออกมาแถลงข่าวต่อที่สาธารณะว่า ได้ทำการปั๊มหัวใจ  "เสธ.แดง"  ถึง ๕๕ นาที จึงตรงข้ามกับหลักสูตรการกู้ชีพที่ใช้กันทั่วโลกและสร้างความเข้าใจผิดให้กับนักศึกษาแพทย์ แพทย์(ที่ไม่ได้ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ)  และสังคมทั่วไปด้วย

          ผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยฉุกเฉินจึงต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อให้ "การแพทย์ฉุกเฉิน" มีประสิทธิผล และคุ้มค่าสำหรับผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมด้วย

ข้อมูลสื่อ

379-040
นิตยสารหมอชาวบ้าน 379
พฤศจิกายน 2553
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์