• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๑๐ ข้อดูแลสุขภาพฤดูหนาวศาสตร์แพทย์จีน


วิถีการดูแลสุขภาพฤดูหนาว
กับศาสตร์การแพทย์แผนจีน 中医冬季养生道

การดูแลสุขภาพตามฤดูกาลกับศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นหลักการที่เกี่ยวกับพื้นฐานแนวคิดที่ว่า “มนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว” (天人合一)
ฤดูกาลต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากพลังยินและพลังหยางของธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลง ผันแปรต่อเนื่องตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย
ในประเทศไทยมีฤดูกาลอยู่ ๓ ฤดู คือ หนาว ร้อน ฝน
แต่สำหรับประเทศจีนมีฤดูกาลอยู่ ๔ ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว
อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูหนาวของจีนมีอากาศหนาวรุนแรงกว่าไทย แต่เราก็สามารถนำมาศึกษาและดัดแปลงใช้กับการดำเนินชีวิตของเราได้ ลมหนาวของไทยก็มาจากลมหนาวของจีนที่พัดลงมาปกคลุมประเทศไทยนั่นเอง

ฤดูกาลในประเทศจีน
ฤดูใบไม้ผลิ พลังหยางเริ่มก่อเกิด อากาศเริ่มอบอุ่น ต้นไม้เริ่มผลิใบ เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เป็นช่วงเริ่มต้นปีใหม่ของคนจีน
ลักษณะธรรมชาติ คือการก่อเกิด (生发) หลังจากผ่านพ้นการเก็บสะสม (闭藏) ของพลังยินและฟักตัวของพลังหยางในฤดูหนาว
ฤดูร้อน พลังหยางพัฒนาเติบใหญ่ อากาศร้อนจัด ต้นไม้เติบโตเต็มที่ เหมือนกับวัยหนุ่มสาวที่กำลังเติบใหญ่ เข้าสู่วัยที่สมบูรณ์ด้วยพลังสูงสุดของชีวิต
ลักษณะของธรรมชาติคือการพัฒนาเติบใหญ่ของพลังหยาง (增长)
ฤดูใบไม้ร่วง ภายหลังจากที่พลังหยางเริ่มสูงสุด ได้ก่อกำเนิดหน่ออ่อนของพลังยิน ที่ค่อยๆ เติบโต ในฤดูกาลนี้ถือเป็นช่วงที่พลังหยางเริ่มเก็บ (收) พลังยินฟักตัวเริ่มเกิด ภายหลังจากพลังหยางพัฒนา (การออกดอกออกผล) อย่างเต็มที่แล้ว
ฤดูหนาว เป็นช่วงที่พลังหยางหดตัวมากสุด พลังยินเก็บสะสม (闭藏) อากาศหนาวเย็น น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ธรรมชาติของน้ำคือการไหลไม่หยุดนิ่ง ลงสู่เบื้องล่าง คุณลักษณะของน้ำถูกเปลี่ยนไปสู่การหยุดนิ่ง รวมตัวกันเป็นก้อนเมื่อเข้าฤดูหนาว ถ้าเกิดมีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ในช่วงนี้เรียกว่ามีพลังหยางจากภายนอกมารบกวนการหดของหยางและการสะสมของพลังยินตามธรรมชาติ ก็จะเกิดเภทภัย เช่นโรคระบาด
การเข้าใจกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและเข้าใจทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จะทำให้เราสามารถนำเอาความรู้ทางแพทย์แผนจีนมาอธิบายและชี้นำการปฏิบัติ เพื่อผ่านพ้นหน้าหนาวไปอย่างราบรื่น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ฤดูหนาวจึงต้องบำรุงด้วยการเก็บสะสม
(冬天要养藏)
 ฤดูหนาวเป็นช่วงที่อากาศภายนอกหนาวเย็น เลือดและพลังไปเลี้ยงส่วนผิวหนังภายนอกร่างกายน้อย ส่วนมากจะกลับเข้าสู่ร่างกาย เพื่อเพิ่มความอบอุ่นภายใน จึงต้องรักษาพลังหยางไว้ภายในมากที่สุด
การดำเนินวิถีชีวิตที่ต้องถนอมพลังหยางไว้ ไม่ให้สูญเสีย เก็บสะสมสารจิงและยิน เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการดูแลสุขภาพฤดูหนาว
ฤดูหนาวเกี่ยวข้องกับอวัยวะคือ ไต การเก็บสะสมสารจิงเป็นหน้าที่ของไต การป้องกันความหนาว การบำรุงไต จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันในหน้าหนาว

เคล็ดลับ ๑o ประการของการดูแลสุขภาพในฤดูหนาว (十个冬季养生的小诀窍)
๑. ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น (多点水)
    แม้ว่าฤดูหนาวจะมีการขับถ่ายปัสสาวะน้อยกว่าปกติ แต่อย่าลืมว่าสมองและอวัยวะภายในยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำในการทำงาน การดื่มน้ำอุ่นมากพอจะช่วยทำให้อุ่นภายในร่างกาย และทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำหล่อเลี้ยง ป้องกันความแห้งจากอากาศ ปริมาณน้ำต่อวันควรอยู่ที่ ๒-๓ ลิตร
๒. ให้เหงื่อออกเล็กน้อย (出点汗)
    การเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อทั่วร่างกายในฤดูหนาวมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้เลือดและพลังไหลเวียนทั้งร่างกาย ควรประสานการหยุดนิ่งกับการเคลื่อนไหวอย่างพอเหมาะ การเคลื่อนไหวควรให้อยู่ในระดับที่เรียกเหงื่อก็พอ ให้พอออกเหงื่อเพราะการออกกำลังกายที่รุนแรงเกินไป จะเสียเหงื่อเสียพลังที่สะสมอยู่ ทำให้ขัดหลักการถนอมพลังหยางและทำให้รูขุมขนเปิด เสียชี่(ปัจจัยก่อโรค) เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
๓. สนใจป้องกันโรค (防点病)
    อากาศหนาวเย็น คนที่เป็นโรคเรื้อรังมีโอกาสทรุด ควรป้องกันและรักษาความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ ระวังหลีกเลี่ยงลมแรง และการแปรปรวนของอุณหภูมิที่รวดเร็ว ต้องออกกำลังกายบ้าง แต่อย่าหักโหม
    ห้องนอนต้องระบายอากาศเป็นช่วงๆ ป้องกันการก่อตัวของเชื้อโรค ในห้องที่อับ และความชื้นในธรรมชาติน้อย คอและจมูกจะแห้ง ง่ายแก่การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ
  ในช่วงนี้ปัจจัยก่อโรคได้แก่ลม ความเย็น และความแห้ง ต้องป้องกันเสียชี่เหล่านี้ให้ดี (ทางแผนปัจจุบันจะพูดถึงเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด หัด หัดเยอรมัน ฯลฯ )
     ควรเตรียมยาฉุกเฉินประจำตัว โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจไว้ให้พร้อม
๔. ปรับอารมณ์และจิตใจ (调点神)
    เนื่องจากฤดูกาลนี้คนมักจะเฉื่อยชา เพราะพลังธรรมชาติหดตัวเก็บสะสมตัว กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายก็น้อยลง สภาพทางจิตใจก็จะหดหู่ เก็บกด ทำให้หงุดหงิดง่าย มีแรงกดดันภายในมาก คนโบราณเรียกว่าอาการเก็บกดทางอารมณ์ที่แสดงออกในฤดูหนาวว่า “โรคทางจิต อารมณ์ที่ระบาดในฤดูหนาว” (冬季心理流感)
    ดังนั้น ควรเตรียมจิตใจให้พร้อม ออกไปเดินเล่นพักผ่อน เปิดอารมณ์ ร้องเพลง หรือท่องเที่ยว เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ตามความเหมาะสมและเงื่อนไขแต่ละคน ป้องกันการเก็บกดของอารมณ์
๕. เข้านอนเร็วขึ้น (早点睡)
    ฤดูหนาว “ต้องนอนเร็วขึ้นสักนิด ตื่นสายสักหน่อย” (早卧晚起) เนื่องจากฤดูหนาวช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน พระอาทิตย์จะขึ้นสายกว่าปกติ
    การนอนเร็วขึ้นหรือเข้านอนหัวค่ำก็เพื่อป้องกันการเสียพลังงาน เพราะถ้านอนดึกเราจะเสียพลังหยางจากกิจกรรมต่างๆ ในช่วงกลางคืนที่มีพลังหยางน้อยอยู่แล้ว
การนอนเร็วสักนิด คือการบำรุงถนอมพลังหยาง (早睡以养阳气)
การตื่นสายสักหน่อย เพื่อเป็นการเก็บยินและสารจิงให้มากที่สุด (迟起以固阴精)
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจึงควรรีบตื่นนอน เพื่อรับพลังหยางได้มากที่สุด
การนอนมากกว่าปกติอีกหน่อย เพื่อสะสมสารยินและสารจิงให้มากที่สุดเช่นกัน
นี่คือหลักการบำรุงไต ซึ่งเป็นการควบคุมสมดุลยินหยางของร่างกายที่เป็นธรรมชาติที่สุด
การนอนดึกตื่นสายๆ จะทำลายพลังหยาง เก็บพลังหยางไม่พอ ยังเป็นการทำลายยินและสะสมยินไม่พออีกด้วย
๖. ต้องบำรุงร่างกาย (进点补)
    การบำรุงร่างกายต้องสอดคล้องกับบุคคลแต่ละคน ถือหลัก “หนึ่งคน หนึ่งวิธี” (一人一法...)
    คนที่หยางพร่อง (พลังความร้อนในตัวน้อย) เลือกอาหารพวกเนื้อแพะ เนื้อวัว เนื้อไก่ ฯลฯ
    คนที่เลือด พลังและยินพร่อง เลือกเนื้อเป็ด เนื้อห่าน
     คนที่กินอาหารฤทธิ์ร้อนไปหรือฤทธิ์เย็นไปไม่ได้ ให้เลือกสมุนไพร เก๋ากี้ (枸杞) พุทราจีนสีดำ (黑枣) เห็ดหูหนู (木耳 ) งาดำ (黑芝麻) เนื้อเห้อเถา (核桃肉) ถั่วลิสง (花生) ฯลฯ
๗. ต้องดูแล “เท้า” (护点脚)
    แพทย์แผนจีนกล่าวว่า “ความเย็นเริ่มต้นจากใต้ฝ่าเท้า” (寒从脚底生)
    เท้าเป็นอวัยวะส่วนล่างสุด มีไขมันน้อย ความอบอุ่นน้อยกว่าส่วนอื่น เท้ายังเป็นบริเวณที่มีจุดฝังเข็มมากกว่า ๖o จุด เป็นทางเดินของเส้นลม (ประมาณ ๖ เส้น) มาบรรจบกัน การทำให้เท้าอุ่นจึงเป็นการทำให้ร่างกายอุ่น การดูแลเท้าที่ดีเป็นการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายที่ดี
    กลางฝ่าเท้ามีจุดฝังเข็มชื่อ หย่งเฉวียน (涌泉) เป็นจุดเส้นลมปราณไต ถ้ากระตุ้นนวด และแช่น้ำอุ่นบริเวณเท้าทุกวัน เช้า-เย็น ประมาณครั้งละ ครึ่ง ถึง ๑ ชั่วโมง จะทำให้เกิดความอบอุ่นและแข็งแรงแก่ไต เพิ่มภูมิคุ้มกันโรคหน้าหนาว
    ควรใส่ถุงเท้านอน และหลีกเลี่ยงไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นปูนที่เย็น
๘. ดื่มน้ำชาแดง (饮点茶)
    ชามีสรรพคุณในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย ช่วยการย่อย แก้ปากเหม็น ลดไขมัน มีสารต้านมะเร็ง และวิตามินเกลือแร่มากมาย การดื่มชาร้อนจะช่วยกระตุ้นร่างกาย และให้สารอาหารแก่ร่างกาย
    ข้อสำคัญคนที่หยางพร่อง ร่างกายมีความเย็นมาก ควรเลือกชาแดงเกรดดีๆ หน่อย เพราะชาแดงจะมีฤทธิ์อุ่น รสหวาน สามารถเพิ่มหยาง ให้น้ำตาลและโปรตีน ทำให้ภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายดีขึ้น (อย่าลืมต้องเป็นชาแดง ชาอุ่นๆ ไม่ใช่ชาเขียวใส่น้ำแข็ง หรือแช่เย็นอย่างในบ้านเรา)
๙. กินโจ๊กเพิ่มพลังความร้อน (喝点粥)
    เนื่องจากฤดูหนาวอากาศแห้ง หนาว การกินโจ๊กหรือน้ำข้าวต้มร้อนๆ ตอนเช้า นอกจากจะให้พลังความร้อนแล้ว ยังให้ความชุ่มชื่นแก่คอ (ไม่ฝืด) ป้องกันอาการคอแห้ง เจ็บคอ เนื่องจากขาดน้ำหล่อเลี้ยง
๑o. ระบายอากาศบ้าง (通点风)
    อากาศหนาว มักจะปิดประตูหน้าต่าง ป้องกันลมเข้า ทำให้อากาศไม่ไหลเวียน ก๊าซออกซิเจนในห้องลดน้อยลง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก
    นอกจากนี้ เชื้อโรคยังก่อตัวได้ง่าย ในอากาศที่แห้ง เป็นปัจจัยให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
    ควรเปิดให้มีการระบายอากาศ โดยเฉพาะช่วงเช้า และช่วงบ่ายถึงค่ำ ในช่วงที่อากาศยังไม่หนาวเย็น ถ้าอากาศเย็นจัดควรเปิดระบายลมเป็นช่วงๆ

เริ่มบำรุงฤดูหนาว สามารถขึ้นภูเขาจับเสือ
การบำรุงร่างกายที่ดีควรเริ่มบำรุงฤดูหนาว เพราะฤดูหนาวเกี่ยวข้องกับไต คนที่อ่อนแอมักเกี่ยวข้องกับยินหยางเสียสมดุล ไตเป็นอวัยวะที่ควบคุมยินหยาง เป็นที่เก็บพลังสำรองสะสมของร่างกาย การสะสมพลังด้วยการบำรุงในฤดูหนาว เพื่อปีใหม่ที่มาถึง จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังปีนขึ้นภูเขาไปจับเสือได้ (冬天进补,上山打虎)
ฤดูหนาวจึงเป็นฤดูกาลที่เหมาะสมกับการบำรุงร่างกายอย่างยิ่ง

ก่อนบำรุงต้องแยกแยะสภาพร่างกาย
ฤดูหนาวต้องบำรุงไต แต่ต้องรู้ว่าจะบำรุงไตยินหรือไตหยาง
ไตยินมีหน้าที่ให้ความชุ่มชื่นแก่เซลล์ ให้อาหารของเหลว สารน้ำ ทำให้เซลล์ไม่แห้ง ไม่เกิดความร้อน ไตยินพร่องจะทำให้เซลล์หดตัวและเสื่อมสภาพเร็ว
ไตหยาง มีหน้าที่ให้ความร้อน ความอบอุ่น ทำให้เซลล์สามารถมีพลังภายใน ขับเคลื่อนการทำงานของเซลล์ให้เป็นปกติ
ถ้ายินหยางของไตสมดุล จะทำให้หูตาสว่าง สมองว่องไว สติมั่นคง ร่างกายยืดตรงมั่นคง เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ผิวหนังมีประกาย ใบหน้ามีราศี อายุยืนยาว

อาการแสดงออกของคนที่ยินพร่อง –หยางพร่อง
ประเภทยินพร่อง–หงุดหงิด นอนไม่หลับ กลัวร้อน ชอบเย็น ผิวหนังแห้ง ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน ริมฝีปาก แก้มแดง ใบหน้าแดง ตาแห้ง อุจจาระแห้ง ปัสสาวะเหลือง ลิ้นเล็กแดง ฝ้าบนลื้นน้อย ชีพจรเต้นเร็ว
ประเภทหยางพร่อง–ใบหน้าซีดหมอง ริมฝีปากซีด แขนขาเย็น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ กลัวหนาว ทนร้อนไม่ทนหนาว ดื่มของอุ่นๆ แล้วสบาย เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน อุจจาระเหลว ลิ้นซีดค่อนข้างบวมฉุ ชีพจรจมเล็ก
-    คนที่ยินพร่อง : ควรบำรุงด้วยอาหารยินเป็นหลัก หลีกเลี่ยงอาหารหยาง หรือกินแต่น้อย
-    คนที่หยางพร่อง
: ควรบำรุงด้วยอาหารหยางเป็นหลัก หลีกเลี่ยงอาหารยินหรือกินแต่น้อย
-    คนที่ร่างกายปกติ : เลือกอาหารยิน และอาหารหยางปรับตามสภาพ
อาหารยินหยาง ได้แก่อาหารอะไรบ้าง
อาหารบำรุงยิน : องุ่น แตงโม สาลี่ ลูกแพร์ มะเขือเทศ รากบัว ขึ้นช่าย ผักปวยเล้ง บวบ มะเขือ เนื้อเป็ด เนื้อห่าน ปลิงทะเล เนื้อตะพาบน้ำ เนื้อเต่า หอยนางรม เห็ดหูหนูดำ งาดำ หัวไช้เท้า ส้มโอ ลูกพลับ
สมุนไพรเสริมยิน : ซานเย่า โสมอเมริกัน ตงฉงเช่า (ราแมลง) เซิงตี้
อาหารบำรุงหยาง : ลิ้นจี่ ลำไย เกาลัด กุยช่าย ข้าวเหนียว หูเถาเหริน (เมล็ดถั่ววอลนัต) เห็ดหอม แครอต ผักหอม กระเทียม ต้นหอม หัวหอม พริกไทย กุ้งทะเล เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อกวาง ไก่ดำ เหอเสาอู พุทราดำ ขิง กระชาย ผลต้นหม่อน
สมุนไพรเสริมหยาง : เขากวางอ่อน ตังกุย โสมคน ขิงแห้ง ปาจี้เทียน
ฤดูหนาวต้องเลือกการปรับอาหาร ยิน-หยาง ให้เหมาะสมตามปัจเจกบุคคล จึงจะถูกต้องกว่าการกำหนดเป็นลักษณะทั่วไป ในการยึดถือปฏิบัติเหมือนกันทุกคน
หลักการสำคัญคือ พร่อง (ขาด) ก็บำรุง แกร่ง (เกิน) ก็ขับระบาย (虚则补之,实则泄之)

สรุปแนวทางสำคัญวิถีการดำเนินชีวิต
ที่สอดคล้องกับธรรมชาติฤดูหนาว (顺应自然炽规律之道)
๑. ต้องเก็บสะสมพลัง–ถนอมพลังหยาง ต้องเก็บสะสมยินให้พอ
    “ฟ้าหลับฉันก็หลับ ฟ้าตื่นฉันก็ตื่น” (天睡我睡, 天醒我醒)
    “นอนเร็วสักนิด ตื่นสายสักหน่อย” (早睡晚起)
๒. อบอุ่น ๓ ส่วน (保三暖)
อากาศที่เย็นจะทำให้พลังหยางออกสู่กล้ามเนื้อผิวหนังภายนอกเพื่อต่อต้านเสียชี่ ทำให้สูญเสียพลังหยาง ต้องรักษาความอุ่น  ๓ ตำแหน่ง คือ
-    บริเวณศีรษะ เพราะเป็นที่รวมของเส้นลมปราณหยางทั้ง ๖
-    บริเวณแผ่นหลัง เพราะเป็นพื้นที่ครอบคลุมเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะและลำไส้เล็ก
-    บริเวณเท้า เป็นที่ความเย็นเข้าสู่ร่างกายไต
การให้ความร้อนที่เท้า จะเป็นการอุ่นไต อุ่นตันเถียน (丹田) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสะสมพลังและปรับสมดุลยินหยางของร่างกาย
๓. อย่าเปิดรูขุมขนบนผิวหนัง (无泄皮肤)
    ห้ามออกกำลังกายหักโหม จนเหงื่อออกมาก เพราะจะสูญเสียพลังหยาง สารน้ำ และเป็นการเปิดช่องว่างให้เสียชี่ คือลมและความเย็นเข้าสู่ร่างกาย
๔. การมีเพศสัมพันธ์ในฤดูหนาว ผู้ชายต้องพยายามถนอมสารจิง ไม่สูญเสียน้ำอสุจิ   (精水) เพราะเป็นการทำลายพลังไตได้ง่าย (藏而不泄)

แพทย์แผนจีนมองว่าธรรมชาติฤดูกาลมีวัฏจักรของการเกิดและดับของพลังยินหยางอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ทุกวัฏจักรคือ ๑ รอบปี เช่นเดียวกับชีวิตของคนเรา มีวัฏจักร มีการเปลี่ยนแปลงของพลังยินหยางเฉกเช่นฤดูกาล การดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับจังหวะ การเปลี่ยนแปลงของพลังธรรมชาติ คือวิถีสุขภาพที่แท้จริง การฝ่าฝืนหรือต่อสู้ขัดแย้งกับธรรมชาติ คือการบั่นทอนทำลายสุขภาพระยะยาว คือการเสื่อมถอยก่อนเวลาอันควร คือวิถีของการเกิดโรคที่เกิดจากการกระทำของตัวเราเอง
 

ข้อมูลสื่อ

380-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 380
ธันวาคม 2553
นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล