• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรคเบาหวาน (๒)

ฉลาดใช้.. “ยารักษาโรคเบาหวาน” ตอนที่ ๒

          ฉบับที่แล้ว (หมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๓๘๑ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๔) ฉลาดใช้.. “ยารักษาโรคเบาหวาน” ตอนที่ ๑ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า โรคเบาหวานมีสาเหตุจากความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งน้ำตาลในเลือดนี้ได้จากอาหารพวกแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป รวมถึงปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะส่งผลต่อตา ไต หลอดเลือด และชาปลายมือปลายเท้า
          การสังเกตอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน และการตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ต่อจากนั้นก็เน้นย้ำว่า หัวใจของการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ประกอบด้วย ๓ เสาหลักที่สำคัญ ได้แก่ อาหารพวกแป้งและน้ำตาล ยารักษาโรคเบาหวาน และการออกกำลังกาย
          ได้เกริ่นถึงการใช้ยารักษาเบาหวานอย่างชาญฉลาดไปเพียง ๒ ข้อแรก ได้แก่
๑. ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเรื่องการใช้ยาให้สัมพันธ์สอดคล้องกับการกินอาหาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมๆ กับมีความปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย
๒. ควรใช้ยารักษาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อให้รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ไม่สูงหรือต่ำเกินไป จะได้ชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
ต่อไปเรามาคุยกันต่อ ถึง ฉลาดใช้... ยารักษาเบาหวาน ข้อ ๓-๖ ดังนี้

๓. ควรไปรับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
          เนื่องจากวัตถุประสงค์สำคัญของการรักษาโรคเบาหวาน คือ ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับเหมาะสมตลอดไป เพื่อช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวของโรคเบาหวาน
          ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว หรือไม่มีอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวานแล้วก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาทผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์ตามนัดตลอดไป เพราะแพทย์จะช่วยติดตามดูแลปรับเพิ่มหรือลดยาให้เหมาะสมกับระดับน้ำตาลในเลือดตลอดไป
          ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่มีอาการของโรคเบาหวานแล้ว หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว ก็ขาดการติดต่อกับแพทย์ไปเลย ถึงแม้ว่าจะควบคุมได้ดีแล้วก็ตาม ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
๔. ไม่ควรเพิ่ม ลด หรือหยุดยาด้วยตนเอง
          อีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานบางคน ได้แก่ การปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดยาโดยพลการด้วยตนเอง อาจจะด้วยความเบื่อหน่ายที่ต้องกินยาอยู่ทุกวัน (จึงหยุดยาเสียเลย) หรือรู้สึกทุกครั้งที่กินยาว่า ตนเองเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่คนปกติ (ก็เลยไม่อยากกินยา) หรือคิดว่าไม่มีอาการของโรคเบาหวานแล้ว และอาจคิดว่าหายดีแล้ว (ก็หยุดยาเสียเลย) หรือบางคนมีความเชื่อว่า ยาเป็นสิ่งที่ดีอยากหายเร็วๆ จึงกินยาเพิ่มเป็น ๒ เท่า
          ทั้งนี้ การเพิ่มยาด้วยตนเองเสี่ยงต่อการได้รับยามากเกินขนาด ซึ่งจะไปออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย ใจสั่น และบางคนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
          ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยลดขนาดของยาหรือหยุดยาด้วยตนเองโดยพลการ (ไม่ได้ปรึกษาแพทย์) ก็อาจจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อยาลดลง ระดับน้ำตาลก็จะเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้เช่นกัน ทั้งระยะสั้นที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากลดหรือหยุดยา หรือระยะยาวที่ส่งผลเสียต่อตา ไต หลอดเลือด และชาปลายมือปลายเท้า หลายคนเกิดแผลที่เท้าและรักษาให้หายได้ยาก จนต้องตัดขาจากแผลเบาหวาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก
          ดังนั้น จึงไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดยาด้วยตนเองเป็นอันขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้
๕. ไม่ควรหลอกแพทย์ ด้วยการลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ๒-๓ วันก่อนไปตรวจเลือด
          ผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจเคยถูกแพทย์ดุหรือตำหนิเมื่อไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะได้ และอาจมีความรู้หรือประสบการณ์เพิ่มเติมอีกว่า ถ้าควบคุมอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลประมาณ ๒-๓ วัน ก่อนการไปตรวจเลือด ก็จะช่วยให้ผลการตรวจเลือดอยู่ในระดับปกติได้
          ดังนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ถูกแพทย์ดุหรือตำหนิอีก (กลัวแพทย์เสียใจ) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงทำการควบคุมลดอาหารพวกแป้งและน้ำตาลเฉพาะช่วงก่อนการไปเจาะเลือดประมาณ ๒-๓ วัน เพื่อให้ผลตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ และไม่ถูกแพทย์ตำหนิในเรื่องนี้
          อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ส่วนวันอื่นๆ ที่เหลือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติได้ ก็จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นานๆ ซึ่งจะไปเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม เป็นต้อหิน ต้อกระจก หรือส่งผลต่อไต ทำให้การทำงานของไตลดลง เสื่อมสภาพ และอาจเป็นไตวายได้ หรือส่งผลต่อหลอดเลือดและระบบประสาทอื่นๆ ได้
          ดังนั้น จึงไม่ควรหลอกแพทย์ ด้วยการลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ๒-๓ วันก่อนไปตรวจเลือด เพราะแพทย์จะเข้าใจผิดคิดว่า ควบคุมน้ำตาลได้ (ซึ่งจริงๆ ควบคุมได้เพียง ๒-๓ วัน ส่วนวันที่เหลือควบคุมไม่ได้) ทำให้แพทย์ไม่ได้ปรับยาให้เหมาะสมกับสภาวะของโรค ผลเสียก็จะตกแก่ผู้ป่วย เกิดการลุกลามของโรคเบาหวานมากยิ่งขึ้น
๖. ถ้าใช้ยาอื่นๆ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
          ยาหลายชนิดอาจส่งผลต่อกันที่เรียกว่า ยาตีกัน (drug interaction) ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยได้ใช้ยาเพิ่มเติมนอกเหนือจากยารักษาโรคเบาหวาน จึงควรแจ้งแพทย์ผู้ให้การรักษาได้รับรู้ถึงยาอื่นๆ ที่ผู้ป่วยได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคอื่นๆ ยารักษาโรคเบาหวาน สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาที่ได้จากแพทย์สาขาอื่นๆ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นยาผู้ป่วยได้ใช้ด้วย เพราะพบว่ายิ่งผู้ป่วยได้ใช้ยามากชนิดขึ้นไปเท่าใด จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดยาตีกันมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“นายสมชายเป็นโรคเบาหวานมา ๕ ปี ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดที่กินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ซึ่งนายสมชายก็ได้ใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และพยายามกินอาหารพวกแป้งและน้ำตาลอย่างพอเหมาะ ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในสภาวะปกติได้
          ต่อมาเมื่อนายสมชายอายุมากขึ้น ได้รับการตรวจร่างกายประจำปี พบว่าเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูง และแพทย์คนที่ ๒ จ่ายยาลดความดันโลหิตสูงเพิ่มให้
          เมื่อนายสมชายใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะยาลดความดันโลหิตสูงชนิดที่เป็นยาขับปัสสาวะ จะไปส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น
         จะเห็นได้ว่า ยาลดความดันโลหิตสูงไปตีกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเหมือนแต่ก่อน”

          ตัวอย่างนี้ เกิดจากยาตีกัน ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น ถ้าผู้ป่วยใช้ยาหลายชนิดมากยิ่งขึ้น “ผู้ป่วยควรจดรายชื่อยาที่ผู้ป่วยใช้ประจำและพกติดตัวไว้” เมื่อไปรักษาหรือซื้อยา ก็ควรนำรายชื่อยาเหล่านี้ที่ผู้ป่วยใช้อยู่ประจำไปแจ้งให้กับแพทย์ หรือเภสัชกรที่รับรู้และช่วยหลีกเลี่ยงหรือป้องกันปัญหาของยาตีกัน ดังตัวอย่างที่เล่าให้ฟัง
          การใช้ยาโรคเบาหวานอย่างฉลาด ด้วยการกินยาให้สอดคล้องกับการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ควรลด เพิ่ม หรือหยุดยาด้วยตนเอง และควรไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรหลอกแพทย์ ด้วยการอดอาหารก่อนไปพบแพทย์ตามนัดก่อน ๒-๓ วัน และถ้ามีการใช้ยาชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่งจ่ายให้แจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
          ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ใช้ยาโรคเบาหวานอย่างฉลาด สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ จะได้ไม่มีปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ที่มักมีผลต่อตา ไต หลอดเลือด ระบบประสาท และชาตามปลายมือปลายเท้าได้ ผู้ป่วยจะได้มีความสุขทั้งกายและใจตลอดไป
----------------------------------------------------
โปรย
การเพิ่มยาด้วยตนเองเสี่ยงต่อการได้รับยามากเกินขนาด
ไม่ควรหลอกแพทย์ ด้วยการลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ๒-๓ วันก่อนไปตรวจเลือด
ยาลดความดันโลหิตสูงชนิดที่เป็นยาขับปัสสาวะ จะไปส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เคล็ดลับสุขภาพ
การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน
•    ตรวจดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดแผล เพราะผู้ป่วยเบาหวานบางคนที่มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า อาจเกิดแผลโดยไม่รู้สึกเจ็บเลยก็เป็นได้
•    พกน้ำตาลหรือลูกกวาดไว้ติดตัว เพราะการรักษาโรคเบาหวานอาจเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งมีอาการอ่อนเพลีย หวิวๆ ใจสั่น ให้นำน้ำตาลหรือลูกกวาดมากินก็จะแก้ปัญหานี้ได้
•    ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ ๕ ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้สามารถควบคุมได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายได้อย่างดีอีกด้วย



 

ข้อมูลสื่อ

382-040
นิตยสารหมอชาวบ้าน 382
กุมภาพันธ์ 2554
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด