ร่างกฎหมายคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ กับ การแก้ปัญหาวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม (ตอนที่ ๑)
ปัญหาวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม เป็นปัญหาสังคม ศีลธรรม และระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและผิดกฎหมาย
มีข้อมูลพบว่า เด็กที่คลอดก่อนกำหนดปีละ ๖.๔-๘ หมื่นราย หรือคิดเป็นร้อยละ ๘-๑๐ ของหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละปี จะมีทารกส่วนหนึ่งเสียชีวิต หรือถ้าหากรอดชีวิตก็จะมีภูมิต้านทานต่ำ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือน เสียค่าใช้จ่ายและงบประมาณของรัฐในการรักษาพยาบาลทารกกลุ่มนี้ปีละไม่ต่ำกว่า ๒ พันล้านบาท
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ....” เพื่อรับรองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิทางเพศ สิทธิเข้าถึงข้อมูลทางเพศศึกษา การรับปรึกษาและบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์จากสถานบริการสาธารณสุข การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ ร่างกฎหมายนี้มีเนื้อหาน่าสนใจบางประการ โดยอ้างถึงความสำคัญของปัญหาวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม สิ่งที่ควรพิจารณาคือร่างกฎหมายนี้มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
ร่างกฎหมายได้แนวคิดส่วนหนึ่งจาก “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women-CEDAW) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีด้วย คือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ เช่น ความเสมอภาคในการศึกษาของสตรี การลดอัตราการออกจากโรงเรียนของนักศึกษาหญิง นอกจากนี้มีคณะกรรมการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ (กพช.) เป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์
เนื้อหาส่วนใหญ่ของร่างกฎหมายนี้มีลักษณะการบัญญัติแบบหลวมๆ คือเน้นการส่งเสริมสิทธิต่างๆ การให้ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ สุขภาพทางเพศ แต่ยังไม่ให้ความสำคัญกับมิติทางวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น การเคารพเพศตรงข้าม การส่งเสริมด้านจรรยา หลักศีลธรรม รวมถึงประเด็นผลกระทบของบุคคลและสังคมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์
- อ่าน 5,135 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้