• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ร่างกฎหมายคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ กับ การแก้ปัญหาวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม (ตอนที่ ๒)

      พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๖ ระบุว่า สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อน และมีอิทธิพลต่อสุขภาพของหญิงตลอดช่วงชีวิต
      ดังนั้น การแก้ปัญหาหญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยเพียงกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือ (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. .... นั้น คงไม่สามารถบรรลุผลอย่างแน่นอน เพราะหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมิได้พิจารณาสาเหตุของปัญหาอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น
๑.    ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ที่ไม่สามารถต้านกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของดารา นักร้อง นักแสดง  
๒.    ปัญหาสื่อบันเทิงทางโทรทัศน์ที่ขาดคุณภาพ ไม่มีจรรยาบรรณ ส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
๓.    ปัญหานโยบาย มาตรการป้องกันโรคเอดส์ของกระทรวงสาธารณสุข บางกรณีอาจกลายเป็นสิ่งสนับสนุนวัยรุ่น เยาวชนให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรโดยไม่รู้ตัว เช่น แนวคิดที่จะให้จำหน่ายถุงยางอนามัยอย่างแพร่หลายในโรงเรียน
๔.    แนวคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษในทางพุทธศาสนา วัดในศาสนาพุทธหลายแห่งมักจะรณรงค์ให้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณเด็กที่เสียชีวิตจากการทำแท้งของเด็กวัยรุ่น ทำให้ละเลยเรื่องการให้ข้อคิดทางธรรม ศีลธรรมในการดำรงชีวิตแก่วัยรุ่น เยาวชน
๕.    การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเด็ก เยาวชน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะอาจเป็นดาบสองคมได้ แต่ละเลยเรื่องวัฒนธรรมไทย การเคารพเพศตรงข้าม ความถูกต้องเหมาะสมทางจริยธรรม
     การสนับสนุนเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นเรื่องที่ดีในหลักการ แต่ไม่ควรรอให้มีกฎหมายใหม่ เพราะการมีกฎหมายใหม่หรือคณะกรรมการคงไม่ใช่ทางออก เพราะปัญหาสำคัญของเมืองไทยคือ หน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม มักจะขาดการประสานงานกัน ต่างคนต่างทำงานของตนเอง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนได้
 

ข้อมูลสื่อ

380-059
นิตยสารหมอชาวบ้าน 380
ธันวาคม 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์