• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุยกับผู้อ่าน

สังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน
หมอชาวบ้าน ฉบับ ๓๘๔ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ นี้เป็นฉบับครบรอบ ๓๒ ปี
อย่างน้อยเราได้เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้คนไทยเข้ามาเกื้อกูลกันเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโลกที่พัฒนาบนเส้นทางวัตถุนิยม เงินนิยม ทำให้มีปัญหาการอยู่ร่วมกันไปหมด ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นที่น่าดีใจว่ากระแสแห่ง “สังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน” แรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ

ที่ข้างล่าง หรือฐานพระเจดีย์ของสังคม คือชุมชนท้องถิ่น ผู้คนตื่นตัวขึ้นมาจัดการตัวเองและเกื้อกูลกัน อาสาสมัคร หมออนามัย พยาบาล ผู้นำชุมชนท้องถิ่น กำลังทำเรื่องดีๆ

ที่ตำบลปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาสำรวจว่ามีคนพิการกี่คนในตำบล และจัดให้มีอาสาสมัครดูแลหมดทุกคน

นายก อบจ. จังหวัดหนองบัวลำพู สำรวจคนทั้งจังหวัด พบคนพิการ ๘,๐๐๐ กว่าคน พยายามจัดให้ได้รับการดูแลหมดทุกคน
ที่ภาคอีสานตอนบน มี นสค. (นักสุขภาพครอบครัว) คนหนึ่งดูแลคนประมาณ ๑,๒๐๐ คน เขารู้ข้อมูลของทุกคนว่าน้ำหนักเท่าไร เส้นรอบเอวเท่าไร ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าใด ความดันโลหิตเท่าใด ฯลฯ ดูแลทุกคนโดยใกล้ชิดถึงบ้าน คนในกรุงเทพฯ หรือในนิวยอร์กก็ไม่มีบริการดีถึงเพียงนี้ เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา ผู้ตรวจราชการเขตอีสานตอนบน ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ริเริ่มทำเรื่องนี้

ในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๔-๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ก็จะมีมติในเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “สังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน”
ขอให้กระบวนการสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกันเติบโตแผ่ไพศาล สร้างศานติสังคมบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ให้จงได้
 

ข้อมูลสื่อ

384-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 384
มกราคม 2554
นพ.ประเวศ วะสี