• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแก้ปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีนของไทย (ตอนที่ ๑)

สารไอโอดีนเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก เพราะมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กในครรภ์ หากหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนอาจทำให้แท้งลูก หรือเด็กทารกพิการแต่กำเนิด เด็กมักจะปัญญาอ่อน เป็นใบ้ มีปัญหาไอคิวต่ำ เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยตัวเองไม่ได้ ที่เรียกว่าโรคเอ๋อ และทำให้เป็นโรคคอหอยพอก  
     สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สำรวจข้อมูลพบว่า โรคขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder-IDD) ของไทยมีแนวโน้มเป็นปัญหามากขึ้น จากการสำรวจไอโอดีนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าร้อยละ ๕๙ มีปัญหาการขาดสารไอโอดีน และจากการสำรวจระดับไอคิวของกลุ่มเด็ก ๖,๐๐๐ คน จาก ๒๑ จังหวัดปี พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่ามีไอคิวเฉลี่ย ๙๑ จุด ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานไอคิวเฉลี่ยของสากลคือ ๙๐-๑๑๐ จุด
     องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนในหลายประเทศ รณรงค์ให้ประชาชนในประเทศต่างๆ บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างทั่วถึง (UNIVERSAL SALT IODIZATION) มีเป้าหมายคือ ประชากรที่บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนของแต่ละประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ภายในปี พ.ศ.๒๕๔๘
     สถานการณ์ปัจจุบัน หลายประเทศประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน เช่น ประชากรของประเทศจีน มีอัตราการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓๕ เป็นร้อยละ ๙๕ ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการบริโภคเกลือไอโอดีนค่อนข้างสูง เช่น เวียดนาม (ร้อยละ ๙๓) จีน (ร้อยละ ๙๐) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ ๘๙) ลาว (มากกว่าร้อยละ ๙๐) พม่า (ร้อยละ ๘๔) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จคือ การให้ความสำคัญของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้เติมสารไอโอดีนในกระบวนการผลิตเกลือหรืออาหารที่คนส่วนใหญ่บริโภค และทำงานกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด
     ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๔๙ พบว่า มีครัวเรือนไทยร้อยละ ๕๘  เท่านั้นที่บริโภคเกลือที่มีสารไอโอดีนซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมิได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ บังคับให้ใส่ไอโอดีนในเกลือบริโภค แต่กลับยกเว้นเกลือบริโภคที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเชาวน์ปัญญาของเด็ก เยาวชนและคนไทย 
 

ข้อมูลสื่อ

383-059
นิตยสารหมอชาวบ้าน 383
มีนาคม 2554
ไพศาล ลิ้มสถิตย์