• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจสุขภาพ ทำอะไรบ้าง

 นพ.พินิจ กุลละวณิชย์์
การตรวจสุขภาพทำอะไรบ้าง

การดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก เพราะโรคต่างๆ ไม่คอยใคร บิดามารดา ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ต้องสอนลูกหลาน ลูกศิษย์ เกี่ยวกับการมีพฤติกรรมในทางที่ดี ใน การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่างๆ เพราะตั้งแต่มนุษย์เกิดมาหลอดเลือดทั่วร่างกาย เราจะเริ่มต้นตีบทีละเล็กละน้อย จนตีบร้อยละ ๗๐ จึงจะมีอาการ ซึ่งจะสายไปเสียแล้ว

คนไทย ๑๐ ล้านคนที่เป็นโรคความดันเลือดอาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย ฉะนั้นแพทย์ บิดามารดา สังคม จึงต้องแนะนำเยาวชนให้กินอาหารเพิ่มสุขภาพ (ผัก ปลา ผลไม้ เป็นหลัก) ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ครั้งละ ๓๐ นาที อย่างน้อย ๓ ครั้ง/สัปดาห์) ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด เมื่อถึงเวลาต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ปลอดภัย เดินสายกลางในชีวิต ไม่เล่นการพนัน

ทั้งนี้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ควรดูแลให้ดัชนีมวลกาย (body mass index - BMI) อยู่ต่ำกว่า ๒๓ (BMI คือน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) และพุงชายเล็กกว่า ๙๐ เซนติเมตร พุงหญิงเล็กกว่า ๘๐ เซนติเมตร

ถ้าปฏิบัติได้ก็จะลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย โดยไม่เสียงบประมาณอะไรมากมาย ถึงแม้ทำทุกอย่างแล้วตามนี้แล้วก็น่าจะไปพบแพทย์เมื่ออายุ ๓๐ ปี หรือเร็วกว่านี้ ถ้ามีกำลังทรัพย์ (หรือถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคต่างๆ เช่น ตับ มะเร็ง ฯลฯ) ถึงแม้จะสบายดี เพื่อคุยกับแพทย์ แพทย์จะได้มีประวัติข้อมูลเบื้องต้นไว้ เช่น ความสูง ความดันเลือด ชีพจร น้ำหนักตัว เป็นพื้นฐานไว้ เพราะคนไทย ๑๐ ล้านคนที่เป็นโรคความดันเลือดอาจไม่มีอาการปวดหัวอะไรเลย แต่ถ้าไม่ไปตรวจอาจอยู่ดีๆ เป็นอัมพาตไปเลย จากหลอดเลือดในสมองแตก ถ้าสบายดี เมื่อไรจึงควรไปตรวจ แล้วแต่เศรษฐ-ฐานะ ความอ้วน ญาติพี่น้อง ว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่
การตรวจร่างกายอาจพิจารณาเลือกตรวจดังนี้

๑. ปัสสาวะ
การตรวจปัสสาวะจะบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น การมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ อาจนึกถึงการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ การมีนิ่ว หรือการที่มีไข่ขาว (อัลบูมิน) อาจต้องคิดถึงโรคไต
๒. อุจจาระ
ดูลักษณะของอุจจาระ สี มูก ดูว่ามีเลือดสดหรือไม่ อุจจาระมีไขมันหรือไม่ ดูเม็ดเลือดแดง ขาว เชื้อโรค จากกล้องจุลทรรศน์ จะช่วยบอกว่ามีเลือดออกจากระบบทางเดินอาหารหรือไม่ ดูไข่พยาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบ    กินปลาร้าดิบ ถึงแม้นานมาแล้ว เพราะอาจพบไข่ของพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งถ้าไม่รักษา อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับได้
๓. เลือด
การตรวจดูเม็ดเลือดแดง ขาว เกล็ดเลือด (Complete blood count, CBC ดูว่าเลือดจางหรือไม่ เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำ มีการติดเชื้อโรคหรือไม่ เช่น ถ้ามีการติดเชื้อโรคเม็ดเลือดขาวอาจสูง สำหรับผู้ที่มีเชื้อไวรัส เม็ดเลือดขาวอาจอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ ถ้ามีเกล็ดเลือดน้อยไป อาจเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออก

น้ำตาลกลูโคสเพื่อดูโรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ ปกติค่าน้ำตาลระหว่างที่อดอาหารควรจะอยู่   ต่ำกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  ถ้าน้ำตาลอยู่ระหว่าง ๑๐๑-๑๒๖ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็น "ว่าที่"     เบาหวาน การตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลในเลือดควรทำหลังอดอาหารมาแล้ว ๑๒ ชั่วโมง เช่น กินอาหารค่ำ ๑๙.๐๐ น. แล้วไม่กินอะไรเลย ยกเว้นน้ำเปล่าและควรตรวจเลือดอย่างน้อย ๑๒ ชั่วโมงหลังจากนั้น คือ ๐๗.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น

ไขมันในเลือด แพทย์มักตรวจคอเลสเตอรอลไตรกลีเซอไรด์ และหาค่าเอชดีแอล (HDL - high density lipoprotein เป็นไขมันที่ดีช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) แอลดีแอล (LDL - low density lipoprotein ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีถ้ามีมากไป และต้องควรควบคุมให้ต่ำกว่า ๑๓๐ มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์สำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนธรรมดา แต่ในผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ต้องควบคุมให้ต่ำกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ดูโรคเกาต์ (กรดยูริก) ดูการทำงานของไต ตับ การแข็งตัวของเลือด

อาจตรวจหาเชื้อไวรัสตับเอ บี และซี ถ้าไม่มีเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และบี ถ้ามีเชื้อบีและซีแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อได้ จากการกินอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอยต่างๆ ที่ดิบ หรือดิบๆ สุกๆ ส่วนไวรัสตับอักเสบบี ซี ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และจากการใช้ยาเสพติด โดยการใช้เข็มฉีด ที่สกปรกร่วมกัน

สำหรับการตรวจต่างๆ ถึงแม้ท่านไม่มีอาการท่านอาจมีความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีตับอักเสบหรือ มีเชื้อไวรัสบี ซี ของตับได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งของตับได้

การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ร่วมกับการไปพบ แพทย์เป็นระยะๆ ถึงแม้จะสบายดีเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง 


 

ข้อมูลสื่อ

347-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 347
มีนาคม 2551
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์