• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระเจี๊ยบมอญ

 รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ  สาขาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กระเจี๊ยบมอญ  เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
น้ำกระเจี๊ยบแดง ลดความดันเลือด

กระเจี๊ยบ...พืชมากคุณค่า
กระเจี๊ยบมอญ
ฝัก (ผล) อุดมด้วยเส้นใย
อาหาร เพ็กติน วิตามินเอ บี ซี กรดโฟลิก ธาตุแมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก แคลเซียม และแมงกานีส

ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench   วงศ์ Malvaceae
มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่โอคร่า (Okra) กอมโบ้  (Gombo) เบนดี (Bendee) และ Ladyžs finger ชื่อไทยคือมะเขือมอญ หรือกระเจี๊ยบเขียว
กระเจี๊ยบมอญเป็นพืชล้มลุก สูง ๐.๕-๒ เมตร ลำต้นมีขนแข็ง
ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๑๐-๓๐ เซนติเมตร ปลายหยักแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ เส้นใบออกจากโคนใบ ๓-๗ เส้น
ดอกใหญ่ ออกเดี่ยวตามง่ามใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียว ๘-๑๐ เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบสีเหลือง โคนกลีบสีม่วงแดง รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว ๒-๓ เซนติเมตร หุ้มเกสรเพศเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดรอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลมขนาดเล็กสีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก

ผลกระเจี๊ยบเป็นฝักห้าเหลี่ยมทรงกระบอก ยาว ๕-๓๐ เซนติเมตร ปลายเรียว ฝักมักโค้งมีขนปกคลุม ภายในฝักพบเมล็ดกลมหรือรูปถั่วแดงในช่องภายในผล ผลขนาด ๘ เซนติเมตร เหมาะสำหรับการกินที่สุด ผลแก่จะแข็งและเหนียว มีเมล็ดมาก เมล็ดรูปไต ขนาด ๓-๖ มิลลิเมตร

กระเจี๊ยบมอญเป็นพืชพื้นเมืองประเทศเอทิโอเปีย แถบศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา อียิปต์ หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และเอเชียใต้ ปัจจุบันปลูกมากทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ส่วนใหญ่เพื่อเก็บเกี่ยวฝักกระเจี๊ยบอ่อนที่มีเส้นใยสูงใช้กินเป็นผัก

กระเจี๊ยบมอญเป็นพืชที่ปลูกทั่วไปในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตรและเขตอบอุ่น ในต่างประเทศมีการกินใบกระเจี๊ยบสดเป็นผักสลัด หรือปรุงสุกเป็นผักชนิดหนึ่งก็ได้ เป็นส่วนประกอบของอาหารบราซิลที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยไก่กับใบกระเจี๊ยบกินกับข้าว
น้ำต้มรากใช้แก้ซิฟิลิส
น้ำคั้นรากใช้ในเนปาลเพื่อล้างแผลและแผลพุพอง
ใบอ่อนกินแทนผักขมได้
ใบตากแห้งป่นเป็นผงโรยอาหารได้และชูรสอาหาร แก้ปากนกกระจอก ขับเหงื่อ
ใบกระเจี๊ยบใช้เลี้ยงวัว ใช้ผสมสมุนไพรอื่นในการประคบลดการอักเสบปวดบวม ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้ง ตาดอกและดอกอ่อนรับประทานได้
เส้นใยเปลือกใช้ทำกระดาษ ลังกระดาษ ผลิตเชือก ผลิตเชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ และถักทอเป็นผ้าได้ รากก็กินได้แต่ค่อนข้างเหนียว
ฝักกระเจี๊ยบมอญ (ผล) ถูกกล่าวถึงโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวสเปนตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๕๙ โดยกล่าวว่าชาวอียิปต์กินผลกระเจี๊ยบกับเนื้อสัตว์เป็นอาหาร หรือนำไปดอง

ประชาชนในประเทศอียิปต์ เลบานอน อิสราเอล จอร์แดน อิรัก กรีซ ตุรกี และประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกอื่นๆ จะใช้ฝักกระเจี๊ยบมอญในการปรุงสตูว์ผักและสตูว์เนื้อน้ำข้น

ทางใต้ของสหรัฐอเมริกาใช้ผลอ่อนต้มสตูว์กับมะเขือเทศเรียกกัมโบ้
ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ชาวพื้นเมืองจะนำฝักกระเจี๊ยบมาผัดหรือใส่ในซ๊อสข้น
ชาวศรีลังกา ลวกฝักกระเจี๊ยบมอญกินเป็นผักสลัด
ชาวฟิลิปปินส์ กินฝักสด ย่างหรือใช้ประกอบอาหาร
ชาวญี่ปุ่นเริ่มปรุงอาหารด้วยฝักกระเจี๊ยบมอญในช่วงท้ายศตวรรษที่ ๒๐ โดยชุบแป้งเทมปุระทอดกินกับซีอิ้ว
ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกามีการปรุงอาหารที่เรียก "กัมโบ้" โดยใส่ฝักกระเจี๊ยบมอญให้น้ำข้น ฝักอ่อน ดองกินได้ หั่นเป็นแว่นตากแห้งเก็บได้ หรือบดเป็นแป้งก็ได้ คนไทยลวกฝักอ่อนจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงส้ม

สรุปโดยรวมกินฝักได้ทั้งผักสด หรือต้มทั้งฝักไม่เกิน ๑๐ นาที ลวกแล้วจุ่มน้ำเย็นจัดทันทีกินเป็นผักสลัด ไมโครเวฟผลที่ล้างแล้ว (ไม่ซับแห้ง) ๗ นาที หรือหั่นเป็นแว่นผัดกับกระเทียมและหอมใหญ่ เหยาะพริกไทยป่นกินได้ทันที หรือจะชุบแป้งทอดก็มีรสดี

ฝัก (ผล) อุดมด้วยเส้นใยอาหาร เพ็กติน วิตามินเอ บี ซี กรดโฟลิก ธาตุแมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก แคลเซียม และแมงกานีส มีจำหน่ายทั้งสดและแช่      แข็ง เมือกจากผลใช้เคลือบกระดาษให้มัน และใช้ในอุตสาหกรรมขนมหวาน
เมล็ดแก่เรียก grana moschata มีกลิ่นหอมอยู่ในเปลือกหุ้มเมล็ด ให้กลิ่นเมื่อได้รับความร้อนหรือถูกขยี้ เมล็ดคั่วแล้วบดใช้แทนกาแฟในกลุ่มคนดำทางใต้ของสหรัฐอเมริกาแถบมลรัฐเซาต์แคโรไลน่า เมื่อคั่วให้ร้อนเมล็ดจะมีกลิ่นหอม ใช้ในแถบประเทศตะวันออกกลางในการแต่งกลิ่นกาแฟ และใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม แป้งจากเมล็ดแก่บดใช้ทำขนมปังหรือเต้าหู้ได้ ในประเทศอินเดียใช้เมล็ดกระเจี๊ยบมอญไล่ผีเสื้อเจาะผ้า และบดผสมนมทาผิวหนังแก้คัน นอกจากนั้นแล้วเมล็ดยังให้น้ำมันที่บริโภคได้ร้อยละ ๒๒ อีกด้วย

การกินฝักกระเจี๊ยบมอญลดอาการแผลในกระเพาะอาหารดีเท่าๆ กับยา misoprotol
ฝักกระเจี๊ยบมอญกับโรคคนเมือง
เนื่องจากฝักกระเจี๊ยบมอญมีเส้นใยมาก การกินฝักกระเจี๊ยบมอญช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่โดยรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ จึงเป็นผักที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

นอกจากนี้การกินเส้นใยในฝักกระเจี๊ยบมอญยังช่วยลดคอเลสเตอรอลโดยการจับกับน้ำดีซึ่งมักจับสารพิษซึ่งร่างกายต้องการขับถ่ายที่ถูกส่งมาจากตับ สารเมือกในฝักมีส่วนช่วยการจับสารพิษนี้ การจับกับน้ำดีนี้เกิดในลำไส้และขับออกทางอุจจาระ จึงไม่เหลือสารพิษตกค้างในลำไส้

เส้นใยกระเจี๊ยบมอญกำจัดไขมันปริมาณสูงที่จับกับน้ำดี ได้ผลลดไขมันและคอเลสเตอรอล คล้ายกับการกินยาลดคอเลสเตอรอลและไขมันชื่อสแตติน
ฝักกระเจี๊ยบมอญต้มในน้ำเกลือกินแก้อาการกรดไหลย้อนกลับ

การกินฝักกระเจี๊ยบมอญลดอาการแผลในกระเพาะอาหารดีเท่าๆ กับยา misoprotol ความเป็นด่างอ่อนๆ ของฝักกระเจี๊ยบมอญและเมือกลื่นช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ทำได้โดยนำฝักกระเจี๊ยบมอญตากแห้ง บดให้ละเอียด กินครั้งละ ๑ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓-๔ เวลา หลังอาหารแล้วดื่มน้ำตาม

เส้นใยฝักกระเจี๊ยบมอญในลำไส้ใหญ่ช่วยสนับสนุนการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียที่มีคุณค่า (โพรไบโอติกแบคทีเรีย) การกินฝักกระเจี๊ยบมอญจึงช่วยระบบขับถ่าย ระบบดูดซึมสารอาหาร ลดความเสี่ยงโรคแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย  กินวันละ ๖ ฝักก็จะเห็นผล

ฝักกระเจี๊ยบมอญมีคุณสมบัติที่เป็นเมือกลื่น ในประเทศอินเดียใช้เป็นยาให้ดื่มน้ำต้มฝักกระเจี๊ยบมอญเพื่อขับปัสสาวะเมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ เมื่อติดเชื้อโกโนเรีย และเมื่อปัสสาวะขัด

กระเจี๊ยบแดง
มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล
กระเจี๊ยบแดง
น้ำกระเจี๊ยบแดง เป็นยากัดเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันเลือด ลดความหนืดของเลือด ป้องกันต่อมลูกหมากโต แก้อาการขัดเบา และสามารถลดไขมันในเลือด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L.  วงศ์ Malvaceae
ชื่อสามัญ Rosella, Red Sorrel, Jamaica Sorrel
ชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือเรียก ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง เงี้ยว แม่ฮ่องสอนเรียก ส้มปู จังหวัดตากเรียก ส้มตะแลงเครง ภาคกลางเรียก กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ทั่วไปเรียก กระเจี๊ยบแดง
ลักษณะทั่วไป กระเจี๊ยบแดง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑.๕-๓ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบสลับ มีหลายแบบด้วยกัน บ้างมีขอบใบเรียบ บ้างมีรอยหยักเว้า ๓ หยัก ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๑๐ เซนติเมตร ดอกมีสีครีม ตรงกลางดอกมีสีเข้มมากกว่าขอบนอกของกลีบ กลีบดอกร่วงโรยไป เหลือกลีบเลี้ยงอวบพองคงอยู่ ใบกระเจี๊ยบแดงมีรสเปรี้ยว กินได้ทั้งดิบและสุก ใส่ในแกงเผ็ดเพื่อแต่งรสได้ ใบอ่อนและยอด ใช้แต่งรสเปรี้ยว ใส่ต้มหรือแกง ชาวมอญใช้ใบกระเจี๊ยบแดงทำแกงกระเจี๊ยบ กลีบเลี้ยงสีแดงใช้ทำเครื่องดื่ม มีวิตามินเอสูง พบทั้งในประเทศไทยและแถบประเทศเม็กซิโก กลีบเลี้ยงมีเพ็กตินสูง ใช้ทำแยมและประกอบอาหารเบเกอรี่ได้ดี

สรรพคุณทางยา
การใช้งานในประเทศไทยกล่าวว่า น้ำกระเจี๊ยบเป็นยากัดเสมหะ รสเปรี้ยวของดอกกระเจี๊ยบทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันเลือด (อาจเนื่องมาจากฤทธิ์ขับปัสสาวะ) ลดความหนืดของเลือด ป้องกันต่อมลูกหมากโต แก้อาการขัดเบา และสามารถลดไขมันในเลือดได้อีกด้วย
ส่วนผลอ่อนต้มกินติดต่อกัน ๕-๘ วัน ช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด ผลแห้งป่นเป็นผง กินครั้งละ ๑ ช้อนโต๊ะ ดื่มน้ำตามวันละ ๓-๔ ครั้ง ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ  เมล็ดบดเพื่อเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และยาบำรุง น้ำต้มดอกแห้งมีกรดผลไม้และ AHA หลายชนิดในปริมาณสูง ปัจจุบันมีคนนำเข้าเนื้อครีมหน้าใสเป็นสินค้าโอท็อปชื่อดังไปแล้ว

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
ดอกกระเจี๊ยบมีสารต้านอนุมูลอิสระมากในปริมาณใกล้เคียงกับบลูเบอร์รี่ เชอร์รี่และแครนเบอร์รี่ จึงอวยประโยชน์ด้านป้องกันมะเร็ง ชะลอแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่ม
น้ำต้มดอกกระเจี๊ยบแห้งมีสารแอนโทไซยานินสูง สารกลุ่มนี้เองเป็นสารหลัก (เกินร้อยละ ๕๐) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อีกกลุ่มจะเป็นสารโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน สารโพลีฟีนอล ได้แก่ protocatechuic acid ไม่สลายไปเมื่อได้รับความร้อนนานๆ แต่สารแอนโทไซยานินในน้ำกระเจี๊ยบจะมีปริมาณลดลงเมื่อได้รับความร้อนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

น้ำกระเจี๊ยบจะมีใยอาหารละลายน้ำได้ประมาณ ๐.๖๖ กรัม/ลิตร มีสารโพลีฟีนอลถึงร้อยละ ๖๖ ของปริมาณที่มีในกลีบเลี้ยง สรุปว่ามีใยอาหารและโพลีฟีนอล ๑๖๖ และ ๑๖๕ มิลลิกรัม/แก้ว จึงนับว่าน้ำกระเจี๊ยบเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่า

กระเจี๊ยบมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล การทดลองในหนูเมื่อได้รับสารสกัดดอกกระเจี๊ยบ ๑,๐๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม นานหกสัปดาห์พบว่า คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และแอลดีแอลในซีรัมลดลงร้อยละ ๒๖, ๒๘ และ ๓๒ ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญ อย่าลืมว่าสารสกัดนี้ไม่ใส่น้ำตาล ผู้อ่านอย่าได้รีบดื่มน้ำกระเจี๊ยบหวานจ๋อยเพื่อลดไขมันในเลือดเป็นอันขาด

การทดลองในห้องทดลองพบว่า แอนโทไซยานิน จากกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ยับยั้งออกซิเดชั่นของแอลดีแอลและยับยั้งการตายของมาโครฟาจ สาร Delphinidin 3-sambubioside (Dp3-Sam), เป็นแอนโทไ:ยานินชนิดหนึ่งที่ได้จากดอกกระเจี๊ยบแห้ง Dp3-มีฤทธิ์กำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในห้องทดลองได้ จึงมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งและอาจใช้ชะลอการลุกลามของมะเร็งบางชนิดได้ได้

น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งช่วยลดความดันเลือด แต่สามารถคงเกลือแร่ไว้ในร่างกายได้ไม่ขับออกกับปัสสาวะหมด การศึกษาในมนุษย์เห็นได้ว่า     เมื่อดื่มน้ำกระเจี๊ยบปัสสาวะจะมีสารครีเอตินีน กรดยูริก เกลือซิเทรต เกลือทาร์เรต แคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสเฟต ต่ำกว่าเมื่อไม่ได้ดื่ม น้ำกระเจี๊ยบมีพิษต่ำ แต่ถ้าดื่มเข้มข้นมากติดต่อกันนานๆจะไม่เกิดผลดีต่อร่างกาย

ผลจากหนูทดลองพบว่า น้ำกระเจี๊ยบป้องกันตับจากการถูกทำลายเมื่อให้สารพิษแก่หนู โดยลดการเพิ่มเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ในพลาสมาหนูที่รับสารพิษ     ผู้วิจัยเชื่อว่าฤทธิ์นี้มาจากความสามารถในการต้านอนุมูล อิสระของน้ำกระเจี๊ยบ

สรุปว่า ผลจากการวิจัยค้นคว้าสรรพคุณทางยาของน้ำกระเจี๊ยบของไทยมีข้อมูลวิทยาศาสตร์สนับสนุนทั้งสิ้น จึงขอนำสูตรแก้ไอ (ทำได้เอง) น้ำกระเจี๊ยบ (ทำเองไม่หวาน ได้ประโยชน์มาก)

ลาก่อนบลูเบอร์รี่  สวัสดีกระเจี๊ยบแดง
น้ำกระเจี๊ยบ

ส่วนผสม
ดอกกระเจี๊ยบแห้ง น้ำตาลทราย (หรือใบหญ้าหวาน) เกลือ
วิธีทำ
นำดอกกระเจี๊ยบแห้งล้างน้ำทำความสะอาด ใส่หม้อต้มจนเดือด  เคี่ยวจนน้ำเป็นสีแดงข้น กรองเอาดอกกระเจี๊ยบออก ปล่อยให้เดือดสักครู่ ยกลงเติมน้ำตาลและเกลือลงไป แบ่งใส่แก้ว เติมน้ำแข็งดื่มได้ทันที หากทำมากก็กรอกใส่ขวด แช่ตู้เย็นเก็บไว้ได้นาน หรือนำดอกกระเจี๊ยบมาตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ปริมาณครั้งละ ๑ ช้อนชา ชงในน้ำเดือด ๑ ถ้วย ดื่มได้สะดวกเช่นกัน
แก้ไอขับเสมหะโดยกระเจี๊ยบแดง

วิธีที่ ๑.
ใช้กระเจี๊ยบสดหรือแห้งประมาณ ๑-๒ กำมือ ต้มกับน้ำ ๑ ขวดน้ำปลา
เติมน้ำตาล ๒ ช้อนแกง และเกลือครึ่งช้อนชาดื่มเคี่ยวให้เหลือแก้วครึ่ง
ใช้จิบบ่อยๆ ขณะน้ำยาอุ่น

วิธีที่ ๒.
ใช้ใบสด ๑-๒ กำมือ เติมเกลือพอเค็ม ใส่น้ำ ๓ แก้วเคี่ยวให้เหลือ ๑ แก้ว จิบบ่อยๆ

วิธีที่ ๓.
ใช้ใบสด ๓-๕ ใบ ตำให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อยคั้นเอาน้ำกินครั้งละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ จิบก่อนอาหารหรือทุกครั้งที่ไอ

 


 

 

 


 


 

ข้อมูลสื่อ

347-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 347
มีนาคม 2551
บทความพิเศษ
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ