• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคตาในวัยทำงาน

วัยทำงาน เป็นช่วงเวลาที่มีความจำเป็นต้องใช้สายตามากกว่าช่วงเวลาอื่น ดังนั้นการดูแลถนอมดวงตาให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

โรคตาที่พบได้บ่อยในวัยทำงานที่ควรรู้จัก ได้แก่ สายตาผิดปกติ ปัญหาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ต้อลมและต้อเนื้อ อุบัติเหตุกับดวงตา

สายตาผิดปกติ

สายตาผิดปกติ คือภาวะที่ทำให้ตามัว มีลักษณะคล้ายการถ่ายภาพไม่ชัดหรือภาพไม่โฟกัส อาจเป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง  การแก้ไขการเห็นภาพไม่ชัดจากภาวะสายตาผิดปกติมีดังนี้คือ

๑.การใช้แว่นตา เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย โดยทั่วไปอย่างน้อยในการวัดแว่นสายตาครั้งแรก ควรได้พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าไม่มีโรคทางตาอื่นที่รุนแรง
แว่นตาควรได้รับการเปลี่ยนเมื่อการมองเห็นภาพด้วยแว่นนั้นเริ่มไม่ชัด หรือทำให้ผู้ใช้แว่นตารู้สึกปวดตาหรือปวดศีรษะ

๒.การใช้คอนแทกเลนส์ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้มีปัญหาในการใช้แว่นตา
คอนแทกเลนส์มีทั้งชนิดใช้ชั่วคราวแล้วทิ้ง และชนิดถาวรใช้ได้ ๑-๒ ปี โดยทั่วไปคอนแทกเลนส์ทุกชนิดให้ใส่เฉพาะเวลาที่จำเป็น ห้ามใส่นอน และควรดูแลความสะอาดอย่างถูกต้อง เพราะการใช้คอนแทกเลนส์ผิดวิธีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้

๓.การใช้เลเซอร์แก้ไขสายตา เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  โดยทั่วไปมักทำในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป ที่ระดับสายตาผิดปกติเริ่มไม่เปลี่ยนแปลง และต้องไม่มีโรคประจำตัวชนิดที่เป็นข้อห้าม  

ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาสายตาผิดปกติที่สนใจจะทำเลเซอร์แก้ไขสายตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจสภาพตาก่อนรับคำแนะนำเพื่อการตัดสินใจต่อไป

ปัญหาจากการใช้คอมพิวเตอร์

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทกับคนวัยทำงานเป็นอย่างมาก บางคนอาจจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์นานถึง ๘-๑๐ ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาปวดตาจากการเพ่งสายตา เคืองตาจากภาวะตาแห้ง และตามัวจากการเพ่งค้างของเลนส์ตา ซึ่งมีข้อแนะนำสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์ดังนี้

๑.เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาปวดตาจากการเพ่งหรือตามัวจากการเพ่งสายตาค้าง ควรมีการหยุดพักสายตาทุก ๓๐ นาทีของการใช้คอมพิวเตอร์ โดยการมองไปบริเวณกว้างๆ เช่นนอกหน้าต่างอย่างน้อย ๓-๕ นาทีก่อนกลับมาทำงานกับคอมพิวเตอร์ใหม่ จะช่วยลดอาการปวดตาและตาพร่าได้

๒.เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเคืองตาจากตาแห้ง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการนั่งใช้คอมพิวเตอร์บริเวณที่มีลมพัด ทั้งจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ และแนะนำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์กะพริบตาบ่อยๆ เมื่อรู้สึกเคืองตา หากอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมจะทำให้อาการเคืองตาดีขึ้นได้

โรคต้อลมและต้อเนื้อ

เกิดจากเยื่อบุตาขาวสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่นหรือแสงแดดจ้าๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการหนาตัวและอักเสบของเยื่อบุตาขาว ซึ่งหากมีการหนาตัวเฉพาะบริเวณตาขาว จะเรียกว่าโรคต้อลม ต่อมาหากอาการของโรครุนแรงมากขึ้น อาจลุกลามเข้าบริเวณตาดำจะเรียกว่าโรคต้อเนื้อ ซึ่งอาการของโรคต้อลมและโรคต้อเนื้อ คือ จะทำให้รู้สึกเคืองตา แสบตา ตาแดงบริเวณต้อเมื่อสัมผัสกับฝุ่น ลม หรือแสงแดดจ้าๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบของต้อแล้ว ยังทำให้ต้อลมและต้อเนื้อลุกลามมากขึ้น

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคต้อลมและต้อเนื้อ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ลม และแสงจ้า  นอกจากนั้นต้องไม่ซื้อยาหยอดตาจากร้านขายยามาหยอดตาเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของสตีรอยด์ซึ่งอาจทำให้ตาบอดจากโรคต้อหินแทรกซ้อนได้

อุบัติเหตุกับดวงตา

ดวงตาเป็นอวัยวะที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพราะอุบัติเหตุอาจทำให้ต้องสูญเสียดวงตาไปตลอดชีวิต วิธีการป้องกันอุบัติเหตุต่อดวงตาที่พบได้บ่อยในวัยทำงานได้แก่

๑.สิ่งแปลกปลอมปลิวหรือกระเด็นเข้าตา กรณีเป็นฝุ่นปลิวเข้าตา ห้ามใช้มือขยี้ตา เพราะจะทำให้ฝุ่นฝังแน่นในกระจกตา

ดังนั้น เมื่อมีฝุ่นปลิวเข้าตา ให้หลับตากะพริบตา น้ำตาจะล้างฝุ่นออกจากตาได้ หรืออาจใช้การลืมตาในน้ำสะอาดก็มักทำให้ฝุ่นออกจากตาได้ 

สำหรับกรณีสิ่งแปลกปลอมที่รุนแรงเข้าตา เช่น การตอกเศษตะปูกระเด็นเข้าตา หรือการถูกสารเคมีกระเด็นเข้าตา โดยทั่วไปในการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตา ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐาน แต่หากเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตาแล้วควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที

๒.อุบัติเหตุจากกระจกรถยนต์ เป็นสาเหตุอุบัติเหตุต่อดวงตาที่พบได้บ่อย เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์หากผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะมีโอกาสสูงที่ใบหน้าหรือดวงตาจะพุ่งไปกระทบกับกระจกหน้ารถ ทำให้กระจกรถบาดดวงตาทำให้ตาบอดได้

ดังนั้น ทุกครั้งที่ขับขี่หรือนั่งโดยสารรถยนต์ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ เพื่อป้องกันการถูกเศษกระจกรถบาดดวงตา ทำให้ตาบอดได้
 
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ website : www.rcopt.org

 

ข้อมูลสื่อ

385-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 385
มกราคม 2554
รักษ์ “ดวงตา”
ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์