• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โครงการปาท่องโก๋

โครงการนี้เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสร้างโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเอดส์กับผู้ที่ไม่ติดเชื้อร่วมกันประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และทำให้ผู้ติดเชื้อเอดส์อยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ

จุดเริ่มต้น

โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวคิดในการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์อย่างเป็นองค์รวม โดยใช้กลยุทธ์การมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอดส์เป็นที่พึ่งของตนเอง  และเป็นที่ยอมรับของสังคม

เป้าหมายการดำเนินงาน ต้องการให้มีการทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้พื้นที่ว่างด้านหลังโรงพยาบาลจำนวน ๕ ไร่เป็นพื้นที่ดำเนินการ (โรงพยาบาลมีพื้นที่ทั้งหมด ๑๐๑ ไร่) และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจำนวน  ๕๐,๐๐๐ บาท
เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีเพื่อนคู่คิด  จึงเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้อเอดส์จับคู่กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ตั้งเป็นกลุ่มสมาชิกของโครงการ

ปรับพื้นที่ด้วยน้ำพักน้ำแรง

กลุ่มสมาชิกได้รับการอนุเคราะห์รถจากองค์อุปถัมภ์โรงพยาบาล ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาส ให้ยืมรถแม็คโครมาใช้ในการปรับพื้นที่บริเวณรอบๆ สระน้ำ พื้นที่บางส่วนเป็นดินโคลน  ไม่สามารถใช้รถแม็คโครได้ สมาชิกช่วยกันใช้จอบและเสียมปรับแต่ง สมาชิกบางคนมาทั้งครอบครัวพ่อแม่และลูก

วัสดุอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ไปจนถึงหญ้าคา สมาชิกต่างไปหากันมาโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ รวมทั้งทุกคนยังห่อข้าวและกับข้าวมาจากบ้าน แล้วนำมาแบ่งกินร่วมกัน แม้ว่าทางโครงการจะตั้งงบประมาณค่าเดินทางและค่าอาหารไว้คนละ ๑๒๕ บาทแล้วก็ตาม

กลุ่มสมาชิกปรับพื้นที่เพื่อทำนา ๓ ไร่  ขุดบ่อเลี้ยงปลา ๑ ไร่ เริ่มต้นการเลี้ยงปลาดุก  ปลานิล ปลูกผักสวนครัว ๑ ไร่ เช่น กล้วย แคบ้าน ผักหวานบ้าน เป็นต้น และปลูกพืชยืนต้น เช่น มะม่วง มะยม มะพร้าว ไผ่รวก

วันปักดำต้นกล้าถึงวันเก็บเกี่ยว

สมาชิกใช้เงินซื้อต้นกล้าพันธุ์ข้าวหอมมะลิจากชาวนา เพื่อนำมาปักดำเป็นเงิน ๕๐๐ บาท โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู้ท ถุงมือ หน้ากาก จากโรงพยาบาล

ส่วนสมาชิกที่มีรถไถเดินตาม ได้นำรถไถมาใช้งาน สมาชิกที่มีเครื่องสูบน้ำ นำเครื่องสูบน้ำมาใช้งาน 

พอถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ข้าวในนาเริ่มตั้งท้องแล้วออกรวง ซึ่งเป็นผลผลิตปีแรกของการดำเนินโครงการ

แล้ววันเก็บเกี่ยวก็มาถึง ความรู้สึกของสมาชิกคือความปีติสุข ต่างเห็นศักยภาพของกลุ่ม บรรยากาศการเก็บเกี่ยวเป็นไปอย่างสนุกสนาน และไม่มีร่องรอยของความเหน็ดเหนื่อยปรากฏบนใบหน้าของทุกคน

ความสำเร็จเกิดจากพลังชุมชน

โครงการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนชุมพวง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ติดเชื้อเอดส์ เจ้าหน้าที่ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มอาสาสมัคร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

กลุ่มเพื่อนชุมพวง มีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ติดเชื้อเอดส์เพื่อให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่เพื่อนสมาชิกที่มีปัญหา มีการรณรงค์เชิงรุกเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อหน้าใหม่

ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือ แรงยึดเหนี่ยวที่เหนียวแน่นของกลุ่มสมาชิก มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และความเป็นกัลยาณมิตรของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยมิได้แสดงอาการรังเกียจ

ก้าวต่อไป

สมาชิกเก็บเกี่ยวข้าว พืชผัก จับปลา ส่งขายให้โรงอาหารของโรงพยาบาล ทำให้สมาชิกมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว โรงพยาบาลได้อาหารปลอดสารพิษราคาถูกกว่าท้องตลาด ผู้รับบริการได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

มีโครงการที่จะสร้างโรงสีข้าว มีรถไถนาเป็นของกลุ่มสมาชิก เป็นศูนย์รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แก่ชุมชน

ความรู้สึกภูมิใจในความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ผู้ติดเชื้อเอดส์ก็เช่นเดียวกัน

โครงการปาท่องโก๋เป็นต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์และจิตใจที่เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อแสดงให้สังคมเห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ติดเชื้อเอดส์
 

ข้อมูลสื่อ

385-046
นิตยสารหมอชาวบ้าน 385
มกราคม 2554
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์