• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคลมจากความร้อน

โรคลมจากความร้อน
ที่ผ่านมาเคยมีข่าวการตายของเด็กเล็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ที่  ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดอยู่กลางแดดเปรี้ยง เพราะความเผอเรอของผู้ใหญ่ บางครั้งก็มีข่าวนักวิ่งมาราธอนหรือทหารใหม่เป็นลมหมดสติ ถูกหามเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากวิ่งอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ เกิดคลื่นความร้อนที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้มีคนตายไปถึง ๑๔,๘๐๐ คน การเจ็บป่วยและการตายเนื่องจากอากาศร้อน   ดังกล่าวนี้ เรียกว่า โรคลมจากความร้อน ในช่วงฤดูร้อน ทุกคนจึงต้องระมัดระวังป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโรคนี้
      
 ชื่อภาษาไทย  โรคลมจากความร้อน  โรคลมแดด
 ชื่อภาษาอังกฤษ  Heat stroke 
 สาเหตุ
ปกติคนเรามีกลไกในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย ให้อยู่ประมาณ ๓๗ องศาเซลเซียส (๙๘.๖ องศาฟาเรนไฮต์) อยู่ตลอดเวลา ถ้าร่างกายมีการสะสมความ ร้อนมาก เช่น การเผาผลาญอาหาร การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อร่างกายก็จะกำจัดความร้อนออกจากร่างกายโดยการแผ่รังสีคือ การกระจายความร้อนออกจากร่างกายไปยังอากาศที่อยู่รอบๆ ร่างกายซึ่งเย็นกว่า แต่ถ้าอากาศภายนอกร้อนเกิน ๓๕ องศาเซลเซียส หรือร้อนกว่าอุณหภูมิของร่างกาย ร่างกายก็ไม่สามารถแผ่รังสีความร้อนออกไปข้างนอก

นอกจากนี้ ร่างกายยังสามารถระบายความร้อนออกทางเหงื่อ ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเมื่ออากาศภายนอก ร้อนกว่าภายในร่างกาย หรือขณะออกกำลังกาย แต่ถ้าอากาศภายนอกมีความชื้นสูง ก็จะทำให้ความสามารถในการระบายความร้อนออกทางเหงื่อนั้นด้อยลงไป ดังนั้น การกำจัดความร้อนของร่างกายจะเป็นไปได้ยาก เมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนและชื้น

โรคลมจากความร้อน อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังนี้
๑. เกิดจากการเผชิญกับอากาศร้อน เช่น การเกิดคลื่นความร้อนมากกว่า ๓๙.๒ องศาเซลเซียส (๑๐๒.๕ องศาฟาเรนไฮต์) ติดต่อกันตั้งแต่ ๓ วันขึ้นไป ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมจากความร้อน ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๕ ปี คนอ้วน จากสาเหตุนี้ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคคอพอกเป็นพิษ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น) รวมทั้งผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย (เช่น ยารักษาโรคจิต ยาแก้แพ้ ยา ที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิ-เนอร์จิก) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาโคเคน หรือแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ถ้ากลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศหรือการถ่ายเทอากาศไม่สะดวก

๒. เกิดจากการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนัก ท่ามกลางอากาศที่ร้อนและชื้น หรือในห้องที่ร้อนและปิดมิดชิด ทำให้ร่างกายสร้างความร้อนมากเกินกว่าที่สามารถกำจัดออกไปได้ สาเหตุที่มักพบในคนหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรง เช่น นักกีฬา นัก-วิ่งไกล คนงาน ทหาร เป็นต้น

สาเหตุดังกล่าวทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อน เป็นเหตุให้มีอุณหภูมิแกนของร่างกาย (โดยการ วัดทางทวารหนัก) ขึ้นสูงเกิน ๔๑ องศาเซลเซียส (๑๐๖ องศาฟาเรนไฮต์) ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นได้
       
 อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงจัด ร่วมกับอาการทางสมอง เช่น เดินเซ สับสน มีพฤติกรรมแปลกๆ ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ ผู้ป่วยมักมีประวัติเผชิญคลื่นความร้อน ออกกำลัง กายหรือทำงานใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถยนต์ที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดอยู่กลางแดดนานๆ

บางคนก่อนมีอาการทางสมองนับเป็นนาทีๆ ถึงชั่วโมงๆ อาจมีอาการอื่นๆ นำมาก่อน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว กระสับกระส่าย เป็นต้น

ผู้ป่วยมักมีไข้สูง อุณหภูมิวัดทางทวารหนักมากกว่า ๔๑ องศาเซลเซียส (ยกเว้นในรายที่ได้รับการปฐมพยาบาลด้วยการลดอุณหภูมิมาก่อน ก็อาจตรวจไม่พบไข้ หรือไข้ไม่สูงมาก) ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบลึก ผิวหนังออกร้อนและมักมีเหงื่อออก (อาจพบผิวหนังแห้งไม่มีเหงื่อออกในระยะท้ายของโรค ซึ่งมักพบในกลุ่มที่เกิดจากคลื่นความร้อน มากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายมาก)

 การแยกโรค
อาการไข้สูงร่วมกับอาการทางสมอง (เช่น เดินเซ สับสน เพ้อคลั่ง ชัก หมดสติ) อาจเกิดจากโรคติดเชื้อของ สมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า มาลาเรียขึ้นสมอง เป็นต้น ซึ่งมักจะแยกออกจากโรคลมจากความร้อนได้จากการซักถามประวัติอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นภาวะรุนแรงที่ต้องพาผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน

 การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ จากอาการไข้สูงร่วมกับอาการทางสมอง และมีประวัติการเผชิญคลื่นความร้อน หรือออกกำลังในที่ที่อากาศร้อน หรือติดอยู่ในรถยนต์ที่อยู่กลางแดด และอาจต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อการวินิจฉัยโรคและภาวะแทรกซ้อน
       
 การดูแลตนเอง
เมื่อพบผู้ป่วยมีไข้สูงร่วมกับอาการทางสมอง และมีประวัติถูกคลื่นความร้อน ออกกำลังในที่ที่อากาศร้อน ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ก่อนนำส่งโรงพยาบาล ควรให้การปฐมพยาบาลดังนี้
๑. พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถหรือห้องที่มีความเย็น
๒. ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
๓. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ
๔. นำส่งโรงพยาบาลโดยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
       
การรักษา
แพทย์ที่โรงพยาบาลจะรีบทำการแก้ไขภาวะฉุกเฉิน (เช่น ให้ออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ เป็น- ต้น) และรีบหาวิธีลดอุณหภูมิร่างกาย (เช่น ถอดเสื้อผ้าออก ใช้น้ำก๊อกธรรมดาพ่นตามตัว ใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่า วางน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ จนกว่าอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส) รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
แพทย์จะหลีกเลี่ยงการให้ยาลดไข้ นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังอาจก่อผลข้างเคียง เช่น แอสไพรินอาจ ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น พาราเซตามอล อาจมีพิษต่อตับ

ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงอยู่นาน อาจมีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วน เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกง่าย อัมพาตครึ่งซีก ชัก ความจำเสื่อม ตับวาย เป็นต้น
       
 การดำเนินโรค
ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาได้เร็วและถูกต้องก็มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ ๙๐ แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนานเกิน ๒ ชั่วโมง ค่อยเข้ารับการรักษา ก็มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ ๗๘ บางรายเมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว บางรายอาการทางสมองอาจหายได้ไม่สนิท อาจมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่าม หรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี
 
 การป้องกัน
การป้องกันอันตรายจากความร้อน (อากาศร้อน) ควรปฏิบัติดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อนและชื้น
๒. ในการออกกำลังกาย ก่อนออกกำลังควรดื่มน้ำ ๔๐๐-๕๐๐ มิลลิลิตร (ประมาณ ๒ แก้ว) และระหว่างออกกำลังควรดื่มน้ำ ๒๐๐-๓๐๐ มิลลิลิตร (ประมาณ ๑ แก้ว) เป็นระยะๆ ควรสวมเสื้อผ้าบางๆ หลวม และสีอ่อน
๓. ในช่วงที่มีคลื่นความร้อน (อากาศร้อน) ควรอยู่ในห้องปรับอากาศ หรือมีพัดลมเป่า อากาศถ่ายเทสะดวก ควรอาบน้ำบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ สวมเสื้อผ้าบางๆ หลวมๆ สีอ่อนและเท่าที่จำเป็น
๔. สำหรับเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถยนต์ตามลำพังแม้เพียงประเดี๋ยวเดียว เมื่อไม่ใช้รถควรปิดกุญแจประตูรถทุกครั้ง ควรเก็บกุญแจรถไว้ในที่มิดชิดหรือที่เด็กเอื้อมไม่ถึง      
 
ความชุก
โรคนี้พบได้เป็นครั้งคราว ขณะที่มีคลื่นความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน ซึ่งมักพบบ่อยในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ นอกจากนี้ ยังอาจพบในคนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็ง-แรง ขณะออกกำลัง หรือทำงานอยู่ในที่ที่อากาศร้อน  
      
 

ข้อมูลสื่อ

337-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ