• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การป้องกันโรคมะเร็ง

 นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

การป้องกันโรคมะเร็ง

หมอชาวบ้านฉบับนี้ว่าด้วย "โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่"  ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีส่วนช่วยให้สามารถค้นพบมะเร็งในระยะแรก และมีวิธีบำบัดรักษาให้มีชีวิตยืนยาวและ/หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตาม หากสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโรคมะเร็งก็ย่อมจะดีกว่าเป็นแน่ เนื่องเพราะการรักษาโรคกลุ่มนี้มีความสิ้นเปลืองสูง มีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากวิธีบำบัดรักษาและจากตัวโรคเอง สร้างความทุกข์ใจแก่ผู้ป่วยและครอบครัว อย่างมากมาย และมีโอกาสรักษาให้หายขาดไม่มากนัก ยกเว้นมะเร็งบางชนิดที่สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก และตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ก็อาจมีทางดูแลให้หายขาดได้
                
เนื่องจากมะเร็งเป็นกลุ่มโรคที่มีหลากหลายชนิด สามารถเกิดกับเนื้อเยื่อและอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ บางส่วนก็เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (พบว่ามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบได้บ่อยใน  ผู้ที่มีพ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคมะเร็งแบบเดียวกัน) ความเสื่อมของร่างกายตามอายุ (พบว่าผู้ที่สูงอายุมีโอกาสเป็น มะเร็งมากขึ้น เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เสื่อมหรืออ่อนแอลง) เป็นต้น การป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งอย่างเด็ดขาดไปเลยนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย
                
แม้กระนั้นก็ตาม ก็มีมะเร็งหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและหลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังต่อไปนี้
 ๑. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้เกินหรือเป็นโรคอ้วน ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร พบว่าคน  อ้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
 ๒. หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความ เครียด เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น วันละ ๓๐ นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน
 ๓. ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่มีสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่
 ๔. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์อาจ ทำให้เกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม
 ๕. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ได้แก่ เนื้อสัตว์ปิ้ง ย่าง รมควัน หมักดอง เนื้อเค็ม อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราอะฟลาท็อกซิน (เช่น ถั่วลิสงป่น พริกป่น เมล็ดธัญพืชที่ขึ้นรา)
 ๖. ลดอาหารจำพวกไขมัน ควรกินน้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดที่ร่างกายได้รับ
 ๗. กินผัก ผลไม้ วันละ ๔๐๐-๘๐๐ กรัม โดยกินให้หลากชนิดและหลากสี และกินเมล็ดธัญพืชให้มากๆ ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูก-หมาก มะเร็งปอด เป็นต้น
 ๘. ลดหรืองดการกินเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์ใหญ่ (ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู) ควรกินอาหารโปรตีนจากปลา   ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เต้าหู้) แทน
 ๙. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด ถ้าจำเป็นต้องออก กลางแดด ควรทายากันแดด  รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
 ๑๐. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งรู้จักใช้ถุงยางอนามัยป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์ กับกลุ่มเสี่ยง (เช่น กับบุคคลที่ไม่ใช่คู่สามีหรือภรรยา หญิงบริการ) เนื่องเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก
 ๑๑. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมาก พลู จุกยาฉุน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งช่องปาก
 ๑๒. หลีกเลี่ยงการกินปลาน้ำจืดแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ อาจทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี (มะเร็งตับ)
 ๑๓. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ (นิยมฉีด ๓ เข็ม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๖ เดือน)
 ๑๔. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก (นิยมฉีด ๓ เข็มในเด็กหญิงอายุ ๑๑-๑๒ ปี หรือในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์
 ๑๕. หากมีอาการปวดท้องโรคกระเพาะอาหารที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จากการติดเชื้อเอชไพโลไร ควรให้แพทย์รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อชนิดนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะปฏิบัติตัวดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดจากมะเร็งได้เด็ดขาด เนื่องเพราะมะเร็งยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบ หรือจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ถึงแม้การสูบบุหรี่จะสามารถป้องกันมะเร็งปอดได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจพบว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่กลายเป็นมะเร็งปอดก็ได้ (ซึ่งมักเป็นชนิดที่ไม่มีความสัมพันธ์กับบุหรี่)
                
ดังนั้น จึงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งระยะแรก เช่น การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง และให้แพทย์ตรวจเต้านม (รวมทั้งการถ่ายภาพรังสีเต้านม) เมื่อมีอายุมากกว่า ๔๐ ปี การตรวจมะเร็งปากมดลูก (pap smear) การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ การเจาะเลือดตรวจกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว ก็ควรจะหมั่นปรึกษาแพทย์ในการป้องกันมะเร็งและตรวจกรองโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

338-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ