• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กริยาประเภทที่ ๖ บาสติ

กริยาประเภทที่ ๖ บาสติ


เราได้อธิบายเทคนิคของกริยา (การชำระล้าง) มาแล้ว ๕ ประเภท ได้แก่ ๑ ตาตระกะ (ท่อทางเดินน้ำตา) ๒ เนติ (โพรงจมูก) ๓ กะปาละภาติ (ระบบทางเดินอากาศ) ๔ เดาติ (ระบบย่อยอาหารส่วนบน) ๕ นาอุลิ (ช่องท้อง) คราวนี้เรามาดูเทคนิคสุดท้ายคือบาสติ ซึ่งเป็นการทำความสะอาดระบบย่อยอาหารส่วนล่าง คำว่า บาสติ แปลว่า ช่องท้องส่วนล่าง อันเป็นพื้นที่ที่กริยาชนิดนี้จะทำการชำระล้างอวัยวะสำคัญของเทคนิคนี้ ก็คือ ลำไส้ใหญ่ บาสติเป็นการทำความสะอาดทั้งเรื่องของอุจจาระและตัวลำไส้ใหญ่เอง

กริยามิใช่เทคนิค ที่มุ่งชำระล้างทำความสะอาดทางกายภาพ หรือมิใช่เทคนิคที่มีเป้าหมายเพื่อการบำบัดรักษา  แต่เป็นการเตรียมกาย-ใจของโยคี ให้พร้อมต่อการฝึกเทคนิคโยคะขั้นสูงในระดับที่เข้มข้น ซึ่งระบุว่า ควรมีร่างกายและจิตใจที่พร้อมจริงๆ

บาสติใช้น้ำเป็นสื่อในการทำความสะอาดลำไส้ ซึ่งทำได้ ๒ วิธี วิธีแรกทำอย่างไม่มีอุปกรณ์ช่วยใดๆ โยคีทำให้น้ำเข้าสู่ลำไส้โดยอาศัยสุญญากาศในลำไส้ วิธีทำก็คือ โยคีจะยืนแช่ครึ่งตัวในลำธารหรือแม่น้ำ เริ่มด้วยการทำนาอุลิ ซึ่งก่อให้เกิดสุญญากาศในช่องท้องและลำไส้ใหญ่ จากนั้นโยคีก็จะเปิดหูรูดทวารออก ทำให้น้ำในลำธารถูกสุญญากาศดูดเข้าไปเองโดยอัตโนมัติ น้ำเหล่านั้นก็จะไปทำความสะอาดลำไส้ เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่โยคีก็ขับถ่ายน้ำนั้นออกมา

จะเห็นได้ว่าบาสติวิธีแรกนี้ สำหรับคนที่มีสุขภาพดีหรือพูดได้ว่าสำหรับคนที่มีสุขภาพดีมากด้วยซ้ำ เพราะคนทำต้องสามารถทำนาอุลิได้ ซึ่งก็คือผู้ที่ฝึกโยคะมาเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งย้ำให้เราเห็นว่าเทคนิคโยคะเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อการรักษาโรคแต่อย่างใด แต่มีไว้เพื่อให้คนที่มีสุขภาพดีพัฒนาตนให้พร้อมไปสู่การฝึกปราณยามะไปสู่การฝึกจิตขั้นสูงต่อไป

บาสติช่วยพัฒนากล้ามเนื้อกะบังลม ทั้งที่บริเวณใต้ปอดและที่บริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้สามารถฝึกปราณยามะได้ดีขึ้น

ในคำอธิบายสรีรวิทยาตามแบบอินเดียโบราณนั้น ในตัวมนุษย์เต็มไปด้วยพลังงานเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ (เช่น มนุษย์สามารถย่อยอาหารได้โดยอาศัยพลังงานที่มีชื่อว่าสมานะ ซึ่งมีอยู่มากในบริเวณช่องท้อง เป็นต้น) และพลังงานเหล่านี้จะไหลเวียนไปมาตามช่องคลองที่เรียกว่านาดี บาสติ เป็นการทำความสะอาดนาดีนี่เอง  ทั้งบาสติยังเป็นการกดนวดบริเวณ perineum (จุดกึ่งกลางบริเวณทวารกับอวัยวะสืบพันธุ์) ทำให้ประสาทการรับรู้บริเวณนั้นดีขึ้น ทำให้เรามีความสามารถในการควบคุมระบบประสาท อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอวัยวะในบริเวณนั้นได้ดีขึ้น

การฝึกบาสติทำให้ขับถ่ายได้ดี ซึ่งมีผลมากต่อการมีสมองที่ปลอดโปร่ง (ลองสังเกตว่า วันที่เราท้องผูกจะรู้สึกหัวทึบหรือปวดหัว) การมีสมองที่โล่งสบาย เป็นส่วนสำคัญของการมีอารมณ์ที่แจ่มใส มีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งล้วนจำเป็นต่อการฝึกโยคะขั้นสูงอันได้แก่การฝึกจิต
ตำราโยคะดั้งเดิม หฐ ประทีปิกายังได้อธิบายวิธีฝึกบาสติอีกแบบหนึ่ง ซึ่งใช้อุปกรณ์ได้แก่ ถุงใส่น้ำและท่อ เพื่อช่วยนำน้ำเข้าสู่ลำไส้ ว่ากันว่าในอดีตมนุษย์ใช้กระเพาะสัตว์ เช่น กระเพาะกวาง กระเพาะแกะ หรือกระเพาะแพะ เป็นภาชนะใส่น้ำ และใช้ลำไม้ไผ่เป็นท่อนำน้ำเข้าสู่ลำไส้ การใช้อุปกรณ์นี้เองช่วยให้การปฏิบัติบาสติเป็นไปได้ง่ายขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป ดังที่เรารับทราบกันเทคนิคกริยากลับได้รับความนิยม นำไปใช้เพื่อการดูแลร่างกาย แก้ไขปัญหาทางกายมากขึ้น โดยเฉพาะเทคนิคบาสตินี่เอง

การถ่ายอุจจาระคือกลไกตามธรรมชาติในการขับของเสียออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม เมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์ห่างไกลจากธรรมชาติ อาหารที่เรากิน สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเต็มไปด้วยสารเคมี ส่งผลให้คนมีปัญหาในการขับถ่ายมากขึ้น คนจำนวนหนึ่งหันไปพึ่งยาถ่าย ซึ่งพอใช้ไประยะหนึ่ง ก็เกิดการติดยาถ่าย จนบางคนไม่สามารถถ่ายเองได้  บางคนใช้วิธีบาสติแบบที่มีอุปกรณ์ช่วย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อดีท็อกซ์ ซึ่งปัจจุบันก็ได้พัฒนาเป็นถุง เป็นสายยางที่สะดวกสบาย การทำดีท็อกซ์นั้นเป็นธรรมชาติกว่า มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยาถ่าย แต่ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะน้ำที่ใช้เป็นสื่อ เพราะตำราดั้งเดิมนั้น ระบุให้ใช้น้ำสะอาดเป็นสื่อ (การใช้น้ำกาแฟเป็นสื่อนั้น หมออายุรเวทที่อินเดียใช้เฉพาะกรณีคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งเท่านั้น ไม่ใช้กับคนทั่วไป)

สิ่งที่อยากจะฝากไว้กับผู้อ่าน คือ การมองเห็นความเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งเป็นหลักสำคัญของศาสตร์ภูมิปัญญาตะวันออกทั้งหลาย การใช้บาสติมารักษาโรค เช่น ใช้เพื่อแก้ปัญหาการขับถ่ายนั้น แม้จะดีกว่าการใช้ยาถ่าย แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แม้กระทั่งตำราโยคะก็ระบุว่าให้ทำบาสติหรือดีท็อกซ์ "เมื่อมีความ จำเป็น" เท่านั้น คือมิให้ทำพร่ำเพรื่อ ที่สำคัญคือการดูแลที่ต้นเหตุ อันได้แก่การกินที่เหมาะสม รวมทั้งการออกกำลังกาย ซึ่งถ้าเป็นโยคะก็คือการฝึกท่าอาสนะอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ที่ช่วยให้ระบบต่างๆของเราสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ อันเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพดี

แปลเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ Kriya Cleansing in Yoga โดย K.V. Selvarasu สำนักพิมพ์ Yoga Bharati, India.

ข้อมูลสื่อ

313-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์