• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลั่นทม : ความหอมและความงามจากบทเพลง

ลั่นทม : ความหอมและความงามจากบทเพลง

ลั่นทมในบทเพลงสำหรับคนเมืองใหญ่
เพลงไทยปัจจุบันมีหลากหลายกว่าแต่ก่อนมาก ในอดีตเพลงไทยแบ่ง เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่ง เพลงแต่ละกลุ่มมีลักษณะเด่นๆ เฉพาะตัว และแยกกลุ่มผู้ฟังชัดเจน โดยเพลงลูกกรุงมีกลุ่มผู้ฟังเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเป็นหลัก และเพลงลูกทุ่งมีกลุ่มผู้ฟังเป็นชาวชนบท ทั้งที่อาศัยอยู่ตามเรือกสวนไร่นา หรือที่อพยพเข้ามาทำงานอยู่ในเมืองก็ตาม

มีเพลงสำหรับคนในเมืองหรือเพลงลูกกรุงหลายเพลง กล่าวถึงลั่นทมตามความรู้สึกกลุ่มตนเอง ผู้เขียนเลือกเพลงลูกกรุงที่ตัวเองชื่นชอบมานำเสนอ ๒ เพลง คือเพลง ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ และบังเอิญเป็นเสียงขับร้องของรวงทอง ทองลั่นทม ทั้ง ๒ เพลง

เพลงแรกชื่อเพลง "ระทมในลั่นทม" แต่งคำร้องโดยชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียง คำร้องของเพลงนี้ใช้ถ้อยคำไพเราะ และแสดงความรู้สึกนึกคิดของชาวกรุง ที่มีต่อลั่นทมไว้อย่างชัดเจน เป็นเพลงที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดเพลงหนึ่ง เพราะมีความไพเราะทั้งเนื้อร้อง ภาษา ความหมาย ทำนอง และเสียงขับร้องที่ชัดเจน เสียงใสหวานของ รวงทอง ทองลั่นทม ทำให้เพลงนี้อยู่ในดวงใจของผู้เขียนตลอดมา

เพลง "ระทมในลั่นทม"  ขึ้นต้นด้วย การบรรยายความหอมของดอกลั่นทมว่ามีความพิเศษยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ความรู้สึกทางกายเท่านั้น แต่ลงลึกถึงระดับวิญญาณเลยทีเดียว

"หอมเอยลั่นทมฉมไกล กลิ่นซึ้งตรงใจดอกไม้อื่นใดไม่ปาน หวนอวลใจ ซึ้งอยู่ในฤทัยวิญญาณ หอมจะคงตลอดกาล สิ้นปราณยังฝันใฝ่"

นี่คือท่อนแรกเป็นตัวแทนความประทับใจต่อกลิ่นดอกลั่นทมของชาวกรุง และเมื่อบรรยายไปถึงบทเพลงท่อนสุดท้าย ชื่อของลั่นทมก็จะกลายเป็นผู้มีบทบาทแทนกลิ่นหอม

"รักอยู่เคียงชู้แต่เพียงวิญญาณ ด้วยกรรมบั่นรานสวาทมิหวานดังหมาย ลั่นทมสมชื่อจริงหรือไร ฉันนี้เศร้าใจกลิ่นของลั่นทมให้ระทม"

สรุปรวบยอดความคิดความเห็น ความรู้สึกของชาวกรุงที่แสดงออกมาในเพลงนี้ก็คือ ลั่นทมมีความหมายถึงความระทม ดังคำว่า "ลั่นทมสมชื่อ" นั่นเอง คำสุดท้ายของเพลงนี้จึงเป็นคำว่า "ระทม"

เพลงที่สองในกลุ่มลูกกรุง ชื่อเพลง ไบนลานลั่นทม" แต่งเนื้อร้องโดยธาตรี ซึ่งเป็นนามปากกาของนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง  ขับร้องโดยรวงทอง ทองลั่นทม เช่นเดียวกัน เพลงนี้บรรยายถึงความงามของลานดินที่มีต้นลั่นทมขึ้นอยู่ (น่าจะหลายต้น) เป็นช่วงที่ลั่นทมกำลังออกดอก ความงดงามของลานลั่นทมเกิดจากดอกลั่นทมที่ร่วงหล่นอยู่บนพื้นดินนั่นเอง ดังคำบรรยายในเนื้อเพลงว่า

"แดนดินใดไม่แม้นแดนลานลั่นทม ดุจดั่งสวรรค์แดนพรหม สวยสุดสมคำชมได้..."

ความงามดังกล่าวได้รับการขยายความว่า เกิดจากดอกลั่นทมนั้น กล่าวคือ

"ทิ้งขั้วร่อนปลิว ลั่นทมพลิ้วโรยร่วงพรู แม้ดั่งพรมลาดปู ดุจทางสู่สุดสวรรค์เทวัญ"

ผู้อ่านที่ได้อ่านหรือฟังเพลง "บนลานลั่นทม" นี้แล้วลองจินตนาการดูว่าจะงดงามมากเพียงใด เพราะดูเหมือนผืนพรมที่ปูลาดไปสู่สวรรค์เลยทีเดียว
มีตำนานเล่าขานกันมาว่า จิตรกรใหญ่ของไทยท่านหนึ่ง เดินผ่านลานดินที่มีดอกไม้ร่วงหล่นปกคลุมอยู่อย่างงดงามยิ่ง จิตรกรท่านนั้นตะลึงมองด้วยดวงตาและจิตวิญญาณของศิลปินที่ละเอียดอ่อนกว่าคนธรรมดา สิ่งที่ตำนานเล่าขานกันสืบมาก็คือ จิตรกรท่านนั้นได้ทรุดตัวลงคุกเข่าแล้วกราบลงไปยังผืนดินอันปกคลุมด้วยดอกไม้นั้นอย่างแสดงความเคารพสูงสุด เมื่อได้ฟังเพลง ไบนลานลั่นทม" แล้ว ผู้เขียนก็ค่อนข้างเชื่อว่าตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องจริง

ลั่นทมสำหรับคนชนบท
เพลงลูกทุ่งเกี่ยวกับลั่นทมที่ผู้เขียนชอบมาก ชื่อเพลง  ไลานรักลั่นทม" ยังค้นชื่อผู้แต่งเนื้อร้องไม่ได้ หากให้เดาก็จะนึกถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นท่านแรก เพราะสำนวนคล้าย "มนต์รักลูกทุ่ง" อยู่มาก เพลงนี้บรรยายความประทับใจเกี่ยวกับทั้งกลิ่นดอกและลานดินใต้ต้นลั่นทมที่เกี่ยวกับคนรักในชนบทเป็นเพลงที่มีภาษางดงามได้บรรยากาศ และทำนองก็ไพเราะมากด้วย ลองฟังท่อนแรกของเพลงนี้ดูก่อน

"หอมเอยหอมดอกลั่นทม กลิ่นลอยตามลมเคล้ากลิ่นเส้นผมของนาง กลิ่นหอมลั่นทม เหมือนดังกลิ่นกรุ่นสองปราง..."

ท่อนกลางของเพลงก็กล่าวถึงกลิ่นลั่นทมกับสาวคนรักชัดยิ่งขึ้น

"ดอกหอมลั่นทม น้องแซมเสียบผมวิไล น้องปลดให้มอบแทนหัวใจว่าเราเคยได้รักกัน..."

ตอนสุดท้ายของเพลงบ่งบอกความพลัดพราก และกลิ่นของลั่นทมเตือนให้ระลึกถึงช่วงของความสุขที่บรรยายในช่วงต้นของเพลง

"ลั่นทมหอมมาเหมือนเจอหน้าตาโฉมตรู คิดถึงน้องแก้มสีชมพู ณ ลานแนบชู้ ลั่นทม"

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจสังเกตเห็นคำว่า "ชู้" ใช้เรียกแทน คนรักทั้งในเพลงลูกกรุงและลูกทุ่ง อาจสงสัยว่า ผู้แต่งหมายถึง การ "เป็นชู้" หรือนอกใจสามีภรรยาหรือไม่ ความจริงในพจนานุกรมระบุความหมายของ "ชู้" เพลงเกี่ยวกับลั่นทมจากต่างแดนที่ผู้เขียนชอบมากไม่แพ้เพลงไทย ก็คือ เพลง "ดวงจำปา"  ซึ่งเป็นภาษา ลาว หมายถึง ดอกลั่นทม นั่นเอง

เพลงดวงจำปาอาจเปรียบได้กับเพลง "บัวขาว" ของไทย เพราะดอกลั่นทมเปรียบเสมือนดอกไม้ประจำชาติของลาว เช่นเดียวกับ ดอกบัวขาวเปรียบเสมือนดอกไม้ประจำชาติของคนไทย เพลงดวงจำปาคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี เพราะมีนักร้องชาวไทยนำมาขับร้องกันแพร่หลายนานมาแล้ว เพลงนี้ผู้เขียนไม่ทราบชื่อผู้แต่งเนื้อร้อง แต่ต้องยอมรับว่าแต่งเนื้อร้องได้ไพเราะกินใจ กระทบอารมณ์ความรู้สึก และให้ความ ประทับใจสูงมาก จึงเป็นอีกเพลงหนึ่ง ในดวงใจของผู้เขียนที่ผู้เขียนขออนุญาตนำมาปิดท้ายบทความตอนนี้

"กลิ่นเจ้าสำคัญ ติดพันหัวใจ เป็นตาฮักใคร่ แพงไว้เซยซม ยามเหงาเฮาดมเอ๋ยจำปาหอม...
...เมื่อดมกลิ่นเจ้า ปานพบเพื่อนเก่าที่ได้พรากจากไป เจ้าเป็นดอกไม้ที่งามวิไล ตั้งแต่ใดมา โอ้ดวงจำปา มาลาขวัญฮัก ของเรียมนี้เอย"

ข้อมูลสื่อ

313-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร