• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง

เมื่อต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง


"เมื่อ ๔ เดือนก่อนหมอที่โรงพยาบาลตรวจพบว่าดิฉันมีก้อนที่เต้านมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ซม. ดูลักษณะไม่ค่อยดี หมอแนะนำให้ผ่าตัดออก แต่ดิฉันกลัวผ่าตัด มีคนแนะนำให้รักษาแบบธรรมชาติบำบัด คือกินอาหารมังสวิรัติ ทำสมาธิ และทำการล้างพิษ ตอนนี้พบว่าก้อนนั้นโตเป็น ๒.๕ ซม. คุณหมอคิดว่าดิฉันควรจะทำอย่างไรดี..."
 
คนไข้หญิงวัย ๕๐ ปีเศษได้นำผลการตรวจเต้านมทั้ง ๒ ครั้ง มาปรึกษาผม ทั้งๆ ที่คนไข้ได้ปรึกษาหมอเฉพาะทางโรคมะเร็งเต้านมมา ๒ ท่านแล้ว ซึ่งต่างก็ยืนยันว่าควรรีบผ่าตัดรักษา แต่คนไข้ก็ยังมีความสับสนลังเลและดิ้นรนหาทางเลือกต่างๆ

เมื่อดูจากประวัติอาการของโรค และผลการตรวจต่างๆ ก้อนที่เต้านมนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง ซึ่งควรจะได้รับการรักษาอย่างจริงจังและเร่งด่วน จึงได้แนะนำว่าควรกลับไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลเดิม และได้อธิบายขั้นตอนการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาของการแพทย์แผนปัจจุบันให้เขาเข้าใจ ผมบอกกับคนไข้ว่า

" ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้คือ ควรได้รับการวินิจฉัยให้แน่ชัดก่อนว่าเป็นอะไรแน่ โดยการผ่าตัดเอาก้อนออกและนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ เมื่อทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไร มากน้อยแค่ไหน หมอจะได้แนะนำวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตามความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ถึงตอนนั้นหมอจะได้อธิบายขั้นตอนการเยียวยารักษาให้ทราบ ส่วนการตัดสินใจจะเลือกรักษาอย่างไรย่อมอยู่ที่ตัวคนไข้เป็นสำคัญ..........."

กรณีนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในบ้านเรา เนื่องเพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งและวิธีการดูแลรักษาโรคนี้ พอพูดถึงมะเร็ง ก็มักจะคิดว่าเป็นโรคที่สิ้นหวัง (ตายลูกเดียว)  จริงๆ แล้ว มะเร็งเป็นกลุ่มโรคกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิด บางชนิดก็ร้ายแรงมาก (ลุกลามเร็ว อยู่ได้ไม่นาน เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด) บางชนิดร้ายแรงไม่มาก (ลุกลามช้าๆ สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน เช่น มะเร็งต่อมไทรอยด์)

นอกจากนี้ ยังขึ้นกับระยะของโรคที่เป็น ถ้าเป็นมะเร็งระยะแรกเริ่ม (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ระยะแรกเริ่ม) ก็สามารถรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้
ดังนั้น เมื่อเป็นมะเร็งควรจะให้หมอทำการตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน และเป็นระยะใด หมอจึงจะวางแผนให้การรักษาได้ถูกต้องและให้การพยากรณ์ได้ว่าผลการรักษาดีหรือไม่

เมื่อมองภาพผิดๆ ว่ามะเร็ง (ไม่ว่าชนิดไหน ระยะไหน) เป็นแล้วตายแน่ ก็พลอยมองวิธีการรักษา (เช่น ผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด) อย่างผิดๆ คิดว่าวิธีการรักษาเหล่านี้มีแต่ผลร้าย ซ้ำเติมให้ร่างกายทรุดโทรม จริงๆ แล้ววงการแพทย์มีการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งมาอย่างต่อเนื่อง จนให้ผลดีมากกว่าร้าย และสามารถบำบัดให้มะเร็งหลายชนิดหายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้ (ข้อเสียที่สำคัญคือ ราคาแพง จนคนไม่มีเงินไม่กล้ารักษา)

วิธีการบางอย่าง เช่น การฉายแสง เคมีบำบัด อาจให้ผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว ข้อสำคัญคือมีผลดีในการบำบัดโรคมะเร็งให้หายหรือยับยั้งไม่ให้ลุกลามได้ แต่คนทั่วไปมักจะขยายภาพของอาการข้างเคียงให้เป็นสิ่งที่น่ากลัว จนหลายคนปฏิเสธการรักษา บางคนก็หันไปรักษาแบบการแพทย์ทางเลือก หรือธรรมชาติบำบัด ซึ่งมักจะเล่าลือว่าเป็นวิธีธรรมชาติและไม่มีผลข้างเคียง จริงๆ แล้วยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการแพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดมีประสิทธิผลในการรักษาโรคมะเร็ง นอกจากการเสริมสร้างกำลังใจและคุณภาพชีวิตของคนไข้

เมื่อหลายปีก่อนมีหญิงสาวรายหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งกระดูกขา แพทย์จะต้องรักษาด้วยการตัดขาและให้เคมีบำบัด แต่คนไข้ปฏิเสธการตัดขา ยอมรับเคมีบำบัดอยู่ระยะหนึ่ง บังเอิญเกิดผลข้างเคียงจึงหันไปรักษาทางธรรมชาติบำบัด บังเอิญก้อนมะเร็งยุบไปก็เข้าใจว่าหายจากโรค มีการออกข่าวทางโทรทัศน์เกรียวกราว จนเกิดความเชื่อว่าธรรมชาติบำบัดรักษามะเร็งได้ ข้อเท็จจริงก็คือหลังจากนั้นเพียง ๑ ปี คนไข้ก็เสียชีวิตเนื่องเพราะมะเร็งที่ยังแฝงอยู่ได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายจนสุดจะเยียวยาได้ แต่การตายของคนไข้ไม่ปรากฏเป็นข่าว จวบจนทุกวันนี้หลายคนยังคิดว่าคนไข้รายนี้ หายขาดจากโรคมะเร็งแล้ว (สำหรับมะเร็งกระดูกระยะแรกเริ่มการผ่าตัดและเคมีบำบัดสามารถช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้)

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง ก็คือ ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทำการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ระยะใด และร่วมรับรู้ถึงแผนการรักษา วิธีการรักษา ผลดีผลเสียของวิธีการรักษาต่างๆ (ถ้าไม่แน่ใจควรศึกษาหรือสอบถามจากแพทย์หลายๆ ฝ่ายหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ) แล้วเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามขั้นตอนที่เหมาะสม

ถ้าหากจะเลือกใช้การแพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดควรเป็นวิธีเสริมเพิ่มเติมจากการแพทย์แผนปัจจุบัน (ไม่ควรใช้แทนหรือชะลอการแพทย์แผนปัจจุบันออกไป) ข้อสำคัญต้องศึกษาถึงผลดี ผลเสียของวิธีการต่างๆ และต้องระวังอย่าให้สิ้นเปลืองเงินทอง (แพง) เกินเหตุ นอกจากนี้ควรส่งเสริมพลังใจและคุณภาพชีวิตด้วยการออกกำลังกาย ฝึกโยคะ การทำสมาธิ การเข้ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง (โรงพยาบาลหลายแห่งมีการจัดกลุ่มให้ผู้ป่วยมะเร็งได้ดูแลและให้กำลังใจกันเอง) การทำกุศลกรรม (เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น) และฝึกอยู่กับปัจจุบันให้มีความสุข

ข้อมูลสื่อ

314-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 314
มิถุนายน 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ