ยาแก้ปวดหัว
ปวดหัว
ปวดหัวเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดและเป็นปัญหาสุขภาพที่ทุกคนเคยประสบมาไม่มากก็น้อย บางคนโชคดี ปวดหัวบ้างนานๆ ครั้ง แต่ในบางคนอาจเป็นโรคปวดหัวเป็นประจำ และจะยิ่งแย่ลงไปอีก ถ้าเป็นโรคปวดหัวชนิดรุนแรงจนรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตตามปกติสุข เพราะในบางคนอาจปวดหัวจนนอนไม่หลับ หรือไม่สามารถทำงานตามปกติได้
สาเหตุของการปวดหัว
สาเหตุของโรคปวดหัวมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยๆ และเป็นกันมาก คือ
๑. ปวดหัวที่เกิดจากความเครียด พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาที่แก้ไม่ตก ต้องครุ่นคิด หรือตรากตรำทำงานใช้สมองติดต่อกันนานๆ ปวดหัวชนิดนี้มักมีอาการปวดบริเวณขมับ พร้อมกับมึนๆ งงๆ เวียนศีรษะ นอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิด โมโหง่าย เหนื่อย ใจสั่น
๒. ปวดหัวจากไมเกรน เป็นการปวดหัวจากการผิดปกติของหลอดเลือด มีอาการปวดที่บริเวณขมับ ปวดตุ๊บๆ ในบางรายอาจมีอาการตาลายร่วมด้วย
๓. ปวดหัวจากความดันเลือดสูง พบได้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะในวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งมักปวดบริเวณท้ายทอย โดยเฉพาะตอนเช้าๆ หลังตื่นนอน ในรายเช่นนี้ควรไปรับการตรวจระดับความดันเลือดร่วมด้วย
๔. ปวดหัวจากโรคไซนัสอักเสบ เป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการปวดหัว แต่การปวดหัวจากไซนัสอักเสบจะแตกต่างจากปวดหัวอื่นๆ เพราะจะมีอาการผิดปกติทางจมูกร่วมด้วย เช่น โพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง มีน้ำมูกบ่อยๆ น้ำมูกสีเขียว คัดจมูก เป็นไข้ เป็นต้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ปวดขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไซนัสที่เกิดการอักเสบ
๕. ปวดหัวจากความผิดปกติของสายตา ในบางครั้งในคนสายตาสั้น สายตายาว หรือความผิดปกติอื่นๆ ของสายตา ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหัวได้
นอกจากนี้ โรคปวดหัวอาจเกิดจากโรคอื่นๆได้อีกมาก ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้ เนื่องจากปวดหัวมีสาเหตุและมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน การดูแลรักษาจึงขึ้นอยู่ว่ามีอาการหรือยัง ถ้ายังไม่มีอาการปวดหัวก็ควรป้องกันด้วยการกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุไม่ให้เกิดอาการปวดหัว เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการใช้สมองและเคร่งเครียดเกินไป การรักษาระดับความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ การใส่แว่นสายตาในรายที่สายตาสั้น เป็นต้น แต่ถ้ามีอาการปวดหัวแล้วก็ควรบรรเทาอาการ รักษาให้ทุเลาหรือหายจากปวดหัวด้วยการใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นปวดหัวเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจหายามารักษาด้วยตนเองได้ แต่ถ้าใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงมากหรือมีอาการแปลกๆ เช่น มีแสงแวบๆ ในตา เห็นสีรุ้ง เป็นต้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาต่อไป
ยาแก้ปวดหัว
เนื่องจากอาการปวดหัวมีหลายระดับ ตั้งแต่ปวดเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปวดมากขึ้นๆ จนถึงขนาดปวดรุนแรง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะยาแก้ปวดหัวระดับเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปานกลางเท่านั้น จะไม่ขอกล่าวถึงยาแก้ปวดหัวชนิดรุนแรง ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ยาแก้ปวดหัวที่รู้จักกันดีได้แก่ ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยากรดเมเฟนามิก เป็นต้น
พาราเซตามอล
คำว่า "พาราเซตามอล" (paracetamol) เป็นชื่อที่พวกเรารู้จักกันดี โดยเรียกตามชาวยุโรป แต่ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันจะไม่เรียกยานี้ว่าพาราเซตามอล แต่รู้จักกันในชื่อ "อะเซตามิโนเฟน" (acetaminophen) ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหนก็ตามล้วนเป็นตัวยาเดียวกันทั้งสิ้น ใช้แก้ปวด ลดไข้ และแก้ ตัวร้อน ได้ผลดีและค่อนข้างปลอดภัยเหมือนๆ กัน เพราะเป็นตัวยาเดียวกัน แต่มี ๒ ชื่อ แล้วแต่ว่าจะเรียกตามชาวยุโรป หรือตามชาวอเมริกัน ยานี้เป็นยาที่ปลอดภัยถ้ามีการใช้ในขนาดปกติและในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ใช้ครั้งละ ๑-๒ เม็ด (๕๐๐ มิลลิกรัม) ทุก ๔-๖ ชั่วโมง และใช้ติดต่อกันไม่เกิน ๕-๗ วัน ถือว่าเป็นขนาดปกติและปลอดภัยในการใช้ พบอาการอันไม่พึงประสงค์ได้บ้าง แต่พบได้น้อย เช่น ผื่น คัน เป็นต้น แต่ถ้ามีการใช้ในขนาดที่สูงกว่านี้ เช่น ในขนาด ๑๐ กรัม หรือ ๒๐ เม็ดของขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัมครั้งเดียว จะเกิดพิษต่อตับได้ ทำให้ตับอักเสบ ดีซ่าน และตับวายได้ เพราะยานี้ในขนาดสูงจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีพิษปริมาณมาก แล้วสารพิษเหล่านี้จะมาทำลายตับ ซึ่งในการใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดปกติ ร่างกายของเราจะสร้างสารพิษนี้ด้วยเช่นกัน แต่มีปริมาณน้อยมากจนไม่มีผลในการทำลายตับ หรือการใช้ในขนาดปกติ ถือว่าปลอดภัย
นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดพิษในระยะยาวว่า การใช้ยาพาราเซตามอล วันละ ๓ กรัม หรือ ๖ เม็ดของขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม ติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลา ๑ ปี มีอาการผิดปกติของตับเกิดขึ้น แต่เมื่อหยุดยาได้ ๕ สัปดาห์ ตับก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ ดังนั้น การกินยานี้ จึงควรใช้ในขนาดปกติ เมื่อมีความจำเป็น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ ในบางครั้งอาการปวดอาจเป็นรุนแรงมากขึ้น การใช้ยาพาราเซตามอลอาจได้ผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ผลเลย ซึ่งแสดงว่า ระดับการปวดหัวมีระดับรุนแรงมากขึ้น ซึ่งควรเปลี่ยนตัวยาจากพาราเซตามอลไปเป็นชนิดอื่นที่ระงับอาการปวดได้ดีกว่า เช่น แอสไพริน กรดมีเฟนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์แก้ปวดได้ในระดับปานกลาง มีการนำไปใช้บรรเทาอาการปวดในโรคต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งรวมถึงการปวดหัวด้วย นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ลดไข้ แก้ตัวร้อนได้ผลดีอีกด้วย
แอสไพริน
ในผู้ใหญ่ควรเลือกใช้ยาแอสไพรินชนิดเม็ดละ ๓๒๕ หรือ ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น
ไอบูโพรเฟน
ยาไอบูโพรเฟน ควรใช้ชนิดเม็ด ๔๐๐ มิลลิกรัม (หรือชนิดเม็ดขนาด ๒๐๐ มิลลิกรัม จำนวน ๒ เม็ด) วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น
กรดมีเฟนามิก
ส่วนยาแก้ปวดกรดมีเฟนามิก ควรใช้ชนิดเม็ด ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑ เม็ด (หรือชนิดเม็ดขนาด ๒๕๐ มิลลิกรัม จำนวน ๒ เม็ด) วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น เนื่องจากยาแก้ปวดทั้งสามชนิดหลังนี้มีฤทธิ์เป็นกรด ในการใช้จึงควรกินหลังอาหารทันที เพื่อช่วยลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้เกิดเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ เมื่ออาการหายดีแล้ว ก็ควรหยุดยาได้เลย อนึ่ง เนื่องจากในปัจจุบันมีความนิยมในการใช้ยาไอบูโพรเฟนกันมากขึ้น และมีรายงานเกิดการแพ้ยาไอบูโพรเฟนมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นในการเลือกใช้ยานี้จึงควรซักถามให้แน่นอนก่อนว่าไม่เคยใช้ยานี้ เพราะอาจเกิดอันตรายรุนแรงขึ้นได้ อีกประการหนึ่งที่พบบ่อย คือผู้ป่วยจำนวนมาก นิยมใช้ยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงในการรักษาอาการปวดหัว ซึ่งก็สะดวกและพอใช้ได้ เพราะหาซื้อได้ง่าย และประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอลที่มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ได้ผลดี แต่ยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงนี้นอกจาก มียาพาราเซตามอลแล้ว ยังประกอบไปด้วยตัวยาอื่นๆ อีก ๒-๓ ชนิด เช่น คลอร์เฟนิรามีน (ยาแก้แพ้) เฟนีลเอฟรีน (ยาลดอาการคัดจมูก) วิตามิน ซี เป็นต้น ซึ่งยาทั้งสามชนิดหลังนี้ไม่มีประโยชน์ต่ออาการปวดหัวเลย จึงเป็นการได้ยาโดยไม่จำเป็น ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่สามารถเลือกได้ ก็ควรใช้ยาเดียวที่แก้ปวดหัวโดยตรงแทนยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงจะได้ผลเท่าเทียมกัน แต่ปลอดภัยและประหยัดกว่า
นอกจากยาแก้ปวดที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีแก้ปวดอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่นซึ่งออกฤทธิ์แก้ปวดหัวชนิดรุนแรงหรือปวดมากๆ ยิ่งขึ้น แต่ยากลุ่มนี้ ไม่มีฤทธิ์ลดไข้แก้ตัวร้อนเหมือนยากลุ่มแรก แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น จึงมีฤทธิ์เสพติด ถ้ามีการใช้ติดต่อกันนานในทางปฏิบัติจึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์หรือทันตแพทย์ในการสั่งจ่ายยากลุ่มนี้
- อ่าน 28,411 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้