• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ออกกำลังอย่างไรในคนทำงานคอมพิวเตอร์

ออกกำลังอย่างไรในคนทำงานคอมพิวเตอร์


คอมพิวเตอร์ช่วยให้คนทำงานได้เร็วและมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงใช้พลังงานเพียงน้อยนิดแต่ได้ผลงานออกมามาก การเคลื่อนนิ้วไปมาระหว่างแป้นพิมพ์หรือการใช้เมาส์ การเคลื่อนของศีรษะ ไปมาขณะทำงานใช้พลังงานน้อยมาก แต่ในแง่ของระบบร่างกายนั้น มนุษย์ต้องมีการเคลื่อนไหวไม่ใช่อยู่นิ่งเหมือนขณะใช้คอมพิวเตอร์ ยิ่งถ้ามีความเครียดมาประกอบกับงานที่ทำแล้ว อาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องอยู่นิ่งเกือบตลอดทั้งวันจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

อาการปวดที่พบบ่อย
อาการที่พบบ่อยในคนทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ คืออาการปวดต้นคอ บ่า ศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ บางคนอาจมีปวดหลังร่วมด้วย สาเหตุที่เกิดขึ้นคือคนทำงานจะพยายามให้ศีรษะอยู่นิ่ง เพื่อช่วยในการมองเห็นจอ แป้นพิมพ์ และต้นฉบับ การทำเช่นนี้แม้จะไม่ใช่งานที่หนักของกล้ามเนื้อบริเวณคอและเอ็นของข้อกระดูกสันหลัง แต่เป็นการหดตัวของกล้ามเนื้อแบบคงที่ มีผลทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อที่คอและบ่าลดลง ส่วนของเอ็นที่อยู่ด้านหลังของคอจะถูกยืดทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นน้อยลง ดังนั้นการก้มคออยู่เป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนมุมหรือเปลี่ยนน้อยมากย่อมทำให้เกิดอาการปวดของกล้ามเนื้อบ่า และด้านหลังคอ บางท่านอาจมีอาการปวดศีรษะ ยิ่งถ้าเครียดอาการเหล่านี้จะมากขึ้น

การป้องกันอาการปวดด้วยการจัดสภาพงาน
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก ด้วยการจัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น ความสูงของขอบจอด้านบนควรอยู่ในระดับสายตา การวางต้นฉบับอยู่ตรงหน้าไม่วางอยู่ด้านข้าง เพื่อลดการเอียงหรือก้มคอที่มากเกินไป การพักการทำงานทุก ๑ ชั่วโมง เหล่านี้เป็นการจัดการทางกายศาสตร์ หรือการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับตัวคนทำงาน เมื่อจัดสภาพงานให้เหมาะสมแล้ว การออกกำลังกายที่นำเสนอนี้จะมีส่วนส่งเสริมป้องกันไม่ให้มีอาการปวดที่ได้ อย่าลืมว่าการออกกำลังกายมีส่วนช่วยแต่เพียงบางส่วน ถ้าคอของท่านยังก้มมากเกินไป เอียงคอตลอดการทำงานและไม่หยุดพักเมื่อปวด ไม่ว่าจะออกกำลังกายอย่างไร ท่านมีโอกาสปวดคอ บ่า ศอก นิ้ว ได้มากกว่าคนทำงานที่จัดสภาพงานที่เหมาะสมกับตัวเอง

การพักและการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
ควรพักเมื่อเริ่มรู้สึกปวดหรือเมื่อยบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย หรือถ้าไม่มีอาการปวดเลยควรพักทุก ๑ ชั่วโมง ขณะพักควรทำการออกกำลัง ในท่าที่นำเสนอมานี้ ไม่จำเป็นต้องทำครบทุกท่าในแต่ละช่วงการพัก เพียงแต่ทำให้ครบทุกท่าใน ๑ วัน บางท่านที่มีอาการปวดเมื่อย คอ บ่า ให้เน้นทำในท่าที่ ๑-๓ ข้อมือและศอก ใช้ท่าที่ ๔ นิ้วมือให้ใช้ท่าที่ ๕-๗ เป็นต้น สำหรับท่านที่มีอาการปวดเมื่อยหลัง ลองเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการยืนแอ่นหลัง ๕ วินาที ๒-๓ ครั้ง


คนทำงานคอมพิวเตอร์นั่งนาน มีกิจกรรมทางกายน้อยมีอัตราเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง เบาหวานและมะเร็งสูง ต้องพยายามเพิ่มกิจกรรมทางกายให้มากขึ้นในการทำงาน เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ จอดรถห่างที่ทำงานและเดินเร็วไปทำงาน การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง ถึงหนักอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย ๒๐ นาที ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นสิ่งที่จำเป็นในคนทำงานคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าท่านอายุเกิน ๔๐ ปี ไม่เคยออกกำลังแบบแอโรบิกมาก่อน หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่าน

อย่าลืมว่าคนทำงานคอมพิวเตอร์ต้องปรับสภาพการทำงานให้เหมาะกับตัว ออกกำลังกาย เมื่อยหรือเครียดนักพักเสียหน่อย เท่านี้ท่านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากอาการปวดเมื่อยจากงานคอมพิวเตอร์
 

ข้อมูลสื่อ

315-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ