ปัญจขันธ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ
ปัญจขันธ์ พืชล้มลุกชนิดเถาเลื้อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมีในประเทศไทย อยู่ในวงศ์แตง แต่คนไทยเพิ่งจะเริ่มปลูกและให้ความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่คนจีนในภาคใต้ของประเทศนำปัญจขันธ์มาบำรุงร่างกายกันนานแล้ว โดยคนจีนรู้จักกันในชื่อ เจียวกู่หลาน หรือเซียนเฉ่า (สมุนไพรอมตะ) และเริ่มแพร่หลายเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีชื่อญี่ปุ่นว่า อะมาซาซูรู แปลว่า ชาหวานจากเถา
มีงานวิจัยสมุนไพรนี้จากประเทศจีนและญี่ปุ่นจำนวนมาก พบว่ามีสารสำคัญที่เรียกว่าสารกลุ่มจิปพีโนไซด์ ซึ่งเป็นสารประเภทไตรเทอร์พีนซาโพนินที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายสารกลุ่มจินเซนโนไซด์ที่พบในโสม ทั้งๆที่พืชทั้ง ๒ ชนิด ไม่มีความสัมพันธ์กัน โดยสารจิปพีโนไซด์ที่พบในปัญจขันธ์มีมากกว่า ๘๐ ชนิด โดยมี ๔ ชนิดที่เหมือนกับที่มีในโสม และอีก ๑๑ ชนิด มีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกับจินเซนโนไซด์ มีรายงานการวิจัยในห้องปฏิบัติการในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง
ฤทธิ์ของสารจิปพีโนไซด์ในปัญจขันธ์หรือสารสกัดปัญจขันธ์
- ต้านอนุมูลอิสระ
- ลดระดับไขมันในเลือด
- เสริมภูมิคุ้มกัน
- ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิด
- ยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด
- ต้านอักเสบ
- ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยมีการพบสารซาโพนิน ชื่อฟาโนไซด์ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน
- ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในหนูที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยการให้แอลกอฮอล์ร่วมกับกรดเกลือ หรือจากยาต้านอักเสบอินโดเมทาซิน หรือจากการกระตุ้น ให้หนูเกิดความเครียด
- กระตุ้นการหลั่งไนตริกออกไซด์จากเซลล์ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดขยายตัว
- ป้องกันการเกิดพิษต่อตับของสารที่เป็นพิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล คาร์บอนเตตราคลอไรด์
สำหรับการวิจัยทางคลินิกนั้น จีนจึงได้ศึกษาวิจัยประสิทธิผลของปัญจขันธ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัดและได้รับเคมีบำบัดรวมทั้งฉายแสง พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้มปัญจขันธ์ ขนาด ๓๐ กรัม/วัน นาน ๓ สัปดาห์ มีการแบ่งตัวของลิมโฟไซต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับสมุนไพร กระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกชนิดหนึ่ง คือ ราก Radix Astragali seu Hedysari (Huangqi)
นอกจากนี้ จากการวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีและเคมีบำบัด พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับปัญจขันธ์มีการพยากรณ์โรคดีกว่า คือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งช้ากว่า และมีอายุยืนกว่าในประเทศญี่ปุ่นและจีนได้จดสิทธิบัตรของสารสกัดปัญจขันธ์เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ เครื่องสำอางบำรุงผิว ผม หนังศีรษะ ผลิตภัณฑ์กระตุ้นการเจริญของผม เครื่องดื่มหรือชาสมุนไพร อาหารสุขภาพ ยาทาลดความอ้วน อาหารช่วย ลดไขมันในเลือด สารสกัดช่วยกระตุ้นการเจริญของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ และสารจิปพีโนไซด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งบางชนิด เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ในส่วนของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีโครงการความร่วมมือกับประเทศจีน ในการนำสมุนไพรจีนมาทดลองปลูกในประเทศ ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ปัญจขันธ์สายพันธุ์ของจีนมีสารสำคัญสูงกว่าสายพันธุ์ของไทย ซึ่งตรงกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่พบว่าพันธุ์จากจีนมีสารสำคัญมากกว่าพันธุ์โครงการหลวงอ่างข่าง ซึ่งจะได้มีการขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิจัยสมุนไพรปัญจขันธ์พันธุ์ของไทยทางพฤกษเคมีเพื่อพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และศึกษาพบว่าปัญจขันธ์มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 protease และได้ศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดด้วยน้ำของปัญจขันธ์ในขนาด ๖, ๓๐, ๑๕๐ และ ๗๕๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ในหนูขาวนาน ๖ เดือนแล้ว พบว่ามีความปลอดภัย ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในผู้ติดเชื้อ HIV
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยสมุนไพรได้ร่วมมือกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่ ในการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกปัญจขันธ์แบบอินทรีย์ในพื้นที่สวนป่าสันกำแพง และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งศึกษาวิจัยร่วมกันถึงวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยวและการขยายพันธุ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้รับงบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ (งบยากจน) จำนวน ๑.๔ ล้านบาท ซึ่งได้นำไปใช้ในการส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายปลูกปัญจขันธ์ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตชาสมุนไพรปัญจขันธ์ต่อไป
- อ่าน 43,518 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้