ประสบการณ์การดูแลคนไข้จิตเวช โดยทีมผู้ให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่สะท้อนความคิดที่มีคุณค่าทั้งของผู้ให้การรักษาและของคนไข้
สิทธิที่หายไป
คนไข้จิตเวชหญิงวัยกลางคน หายออกจากบ้าน ญาติต้องออกตามหาและมาพบเธอที่เมรุเผาศพ ญาติพาเธอมารักษาที่โรงพยาบาล และเล่าให้พยาบาลผู้รักษาฟังว่า เธอชอบหนีออกจากบ้านเป็นประจำ เธอให้ความคิดเห็นที่ทำให้พยาบาลผู้รักษาฉุกคิดและพูดไม่ออก เธอบอกว่าเมื่อคนดีๆ มีความเครียด บางครั้งเขาก็ออกจากบ้านไปเที่ยวเตร่ เดินไปตามท้องถนน ไปนั่งสงบจิตสงบใจที่ไหนสักแห่ง เขาทำได้โดยไม่เกิดเรื่องและไม่เป็นความผิด
คนไข้ทางจิตอย่างเธอ บางครั้งก็เกิดความเครียด พอออกไปจากบ้านเมื่อไร เป็นเกิดเรื่อง ทุกคนเห็นเป็นความผิด ต้องออกตามหาและจับตัวกลับบ้าน เธอไม่มีสิทธิที่จะไปไหนสักแห่งโดยอิสระ เพื่อคลายเครียด เพียงเพราะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไข้โรคจิต
ความเป็นแม่
เด็กหนุ่มเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทุบประตูโบสถ์จะทำร้ายร่างกายเณรน้อย ทีมจิตเวชจึงพร้อมใจกันไปเยี่ยมบ้าน วันนั้นวันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และเป็นวันพระพอดี แม่พาเด็กหนุ่มคนนั้นมาที่วัด พยาบาลหัวหน้าทีมซื้อพวงมาลัยราคา ๕ บาท ไปที่วัด มอบพวงมาลัยให้แม่ของเด็กหนุ่ม แม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกที่เป็นโรคจิต ด้วยความรักและอดทน แม่นับร้อยได้รับรางวัลแม่ดีเด่นในวันแม่แห่งชาติ
ส่วนใหญ่แม่เป็นคนมีชื่อเสียงหรือมิฉะนั้นลูกเป็นคนมีชื่อเสียง แต่แม่ลูกคู่นี้ขาดคุณสมบัติเหล่านั้น พวงมาลัยพวงนั้นสร้างกำลังใจให้แม่ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทำให้ทุกคนที่วัดเกิดความรู้สึกที่ดีต่อแม่ลูกคู่นี้ เด็กหนุ่มได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการดีขึ้นตามลำดับ ที่สำคัญเขารักแม่ของเขา “บางครั้งเราให้เงิน ๒๐ บาท เขาจะกำเงินจนแน่น กำจนมือเปียก และเอากลับไปให้แม่” ต่อมาเขาดีขึ้น อาการของโรคสงบด้วยยา เขาจึงไปรับจ้างตัดอ้อยที่ต่างจังหวัด
เหตุร้ายเกิดขึ้นเนื่องจากเขาดื่มสุรา ทำให้ขาดยา และอาการกำเริบขึ้นอีก เขาถูกส่งตัวกลับบ้าน กลับมาอยู่กับแม่อีกครั้ง ในสภาพที่ทรุดโทรมทั้งร่างกายและจิตใจ แม่พาเขาไปหาหมอที่คลินิกในจังหวัด หมอฉีดยาให้ ๒ เข็ม เมื่อมาถึงบ้านเขานอนหลับ และเป็นหลับที่ไม่มีโอกาสตื่นอีกแล้ว
ชะตาชีวิต
หญิงสาวคนหนึ่ง เมื่อสามีตาย จึงออกจากบ้านไปทำงานที่โรงงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นสาวสวยอยู่คนเดียว มีหนุ่มมาชอบ แต่เป็นหนุ่มที่มีครอบครัวแล้ว ต่อมาเธอถูกทำร้ายจนเสียจริต เพื่อนที่โรงงานจึงพาเธอกลับมาอยู่บ้าน แม้จะมีอาการทางจิต แต่เธอยังทำงานได้ ทุกวันเธอจะไปเก็บขยะเอากลับมาที่บ้านพ่อของเธอจะคัดแยกขยะ และเอาไปขาย เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว เดิมเธอพักอยู่ใต้ถุนบ้าน เมื่ออาการดีขึ้น พ่อแม่จึงให้ขึ้นมาอยู่บนบ้าน เธอได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสังคมอีกครั้ง
อาการทางจิตของเธอหายดี เธอไม่ใช่คนไข้จิตเวชอีกต่อไป แต่ชะตาชีวิตของเธอแสนเศร้า เธอติดเชื้อเอดส์จากการถูกข่มขืนในขณะที่เสียจริต เธอป่วยจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสียชีวิตอย่างสงบในคืนวันหนึ่งที่โรงพยาบาล
สังคมที่เอื้ออาทร
ชายวัยกลางคนมีอาการผิดปกติทางจิต อาศัยอยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พ่อเลี้ยงดูและปกป้องเขาด้วยความรัก ต่อมาพ่อตาย ญาติจึงให้ช่วยเลี้ยงวัว ๑ ตัว เขาเลี้ยงจนวัวตัวนั้นผอมโซ เพราะขาดอาหาร เขาจึงเอาวัวของตัวเองไปแลกกับวัวของชาวบ้านซึ่งอ้วนท้วนสมบูรณ์กว่า ชาวบ้านจึงช่วยกันเลี้ยงวัวของเขาโดยตัดหญ้าให้วัวกิน จนวัวตัวนั้นอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้นมา ชายคนนี้จึงเกิดการเรียนรู้ เขาตัดหญ้ามาเลี้ยงวัวจนอิ่มทุกวัน เขาไม่ใช่คนไข้ที่ไร้ประโยชน์ ทุกวันนี้เขาเลี้ยงวัวเป็นเขาโชคดีที่อยู่ในชุมชนคนเอื้ออาทร เขาได้รับโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อช่วยตัวเองและอยู่ในสังคมได้
บริการถึงบ้าน
คุณตาอายุกว่า ๗๐ ปี ปั่นจักรยานท่ามกลางแดดร้อนระอุ ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร มารับยาให้ลูกที่โรงพยาบาล ลูกของคุณตาเป็นคนไข้ทางจิต หมอให้มารับยาทุกเดือน แม้คุณตาจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้เป็นคนไข้ จึงไม่ได้สิทธิทางด่วนสำหรับผู้สูงอายุ คุณตาจึงต้องรอเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงคิว เมื่อได้รับยาแล้ว คุณตาปั่นจักรยานคันเก่า ย้อนทางถนนสายเก่า กลับไปหาลูก
พยาบาลคนหนึ่งเกิดจิตเวทนา จึงเสนอโครงการให้นำยาคนไข้จิตเวชไปเตรียมไว้ให้คนไข้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านคนไข้ที่เพียงมารับยาต่อเนื่อง สามารถไปรับยากับพยาบาลที่สถานพยาบาลปฐมภูมิใกล้บ้าน หากมีอาการผิดปกติ จึงโทรศัพท์ปรึกษาหรือส่งตัวมาหาหมอที่โรงพยาบาล แม้จะเตรียมยาให้ใกล้บ้าน แต่คนไข้บางคนยังไม่สามารถรับยาได้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ในพื้นที่จะอาสานำยาไปให้ถึงบ้าน
เมื่อคนไข้จิตเวชจะไปหาหมอ มักต้องมีญาติพาไป บางคนไปรถโดยสารไม่สะดวก ญาติต้องเหมารถ เสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน การให้บริการใกล้บ้านและบริการถึงบ้าน เป็นการให้บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
พลังจากชุมชน
ทีมงานของโรงพยาบาลใช้วิธีเข้าหาผู้นำชุมชน เพื่อสร้างแนวร่วมในการดูแลคนไข้จิตเวช พระสงฆ์ ครู และผู้นำชาวบ้านเป็นพลังสำคัญ การทำงานของทีมในพื้นที่ เข้าถึงตัวไข้และครอบครัว ประดุจญาติมิตร มีความสำคัญมากกว่าการให้การรักษาทางยาอย่างเดียว ครอบครัวและชุมชน คือพลังเยียวยาคนไข้จิตเวชที่ดีที่สุด
- อ่าน 5,072 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้