• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สวนล้างลำไส้ใหญ่ดีไหม?

สวนล้างลำไส้ใหญ่ดีไหม?


สมัยเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัด เวลาเป็นไข้ไปหาหมอที่สถานพยาบาลใกล้บ้านจะถูกหมอจับสวนทวารด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งไป ตอนนั้นยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจในเหตุผลของการกระทำแบบนี้ จำได้แต่ว่ารู้สึกอึดอัด น่าทรมาน และจำภาพอึ่งอ่างและคำเตือนที่ติดอยู่ในห้องสวนทวารว่า "อย่าเบ่งท้องอย่างอึ่งอ่าง" (เดี๋ยวท้องแตก ดังในนิทานอีสป)

เมื่อมาเรียนแพทย์ จึงทราบว่าในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่ เป็นการระบายความร้อนช่วยลดไข้ ซึ่งวงการแพทย์เลิกปฏิบัติกันไปแล้ว มาในยุคนี้การสวนทวารได้กลับมาฮือฮากันอีกครั้ง เริ่มจากกลุ่มคนที่สนใจธรรมชาติบำบัดหรือการแพทย์ทางเลือก ได้หันมาใช้วิธีสวนกาแฟล้างพิษ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งและโรคเรื้อรังต่างๆ ลือกันว่าได้ผลดีนานัปการ ต่อมากลุ่มคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรจำนวนไม่น้อยก็นิยมทำการสวนกาแฟล้างพิษด้วยตนเอง โดยเชื่อว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรคได้สารพัด และเมื่อไม่นานมานี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้เปิดบริการสวนล้างลำไส้ใหญ่ด้วยน้ำสบู่ โดยโฆษณากล่าวอ้างว่าสามารถใช้บำบัดโรคได้มากมายรวมทั้งการลดความอ้วน ซึ่งก็มีผู้สนใจยอมเสียเงินไปใช้บริการกันคึกคัก จนดูเหมือนว่าใครที่สนใจดูแลสุขภาพตนเอง หากไม่ลองวิธีนี้ดูบ้างก็จะเชยเต็มที

เวลาผมไปบรรยายเรื่องการดูแลสุขภาพให้ประชาชนฟังก็มักจะมีคำถามเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการสวนล้างลำไส้ใหญ่อยู่เสมอ เชื่อว่าผู้อ่านจำนวนไม่น้อย ก็รู้สึกสับสนว่า คำโฆษณากล่าวถึงสรรพคุณต่างๆ ของการสวนล้างลำไส้ ใหญ่นั้นเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ในการไขข้อสงสัยดังกล่าว ผมขออนุญาตนำคำชี้แจงของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้จากหลักวิชาทางการแพทย์ มาลงพิมพ์ไว้ท้ายบทความนี้ เพื่อผู้สนใจนำไปพิจารณา ให้เห็นข้อเท็จจริงของเรื่องนี้

สรุปสาระสำคัญคำชี้แจงของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการสวนล้างลำไส้ใหญ่

๑. ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันการสวนล้างลำไส้ใหญ่มีข้อบ่งชี้ในโรคหรือสภาวะต่อไปนี้ คือ

ก) การเตรียมลำไส้ใหญ่เพื่อการตรวจวินิจฉัยและ รักษา เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) การเอกซเรย์ดูสำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้ง (barium    enema) การเตรียมลำไส้ใหญ่เพื่อการผ่าตัดลำไส้ (preparation for GI surgery)
ข) การบรรเทาอาการท้องผูกที่ไม่ตอบสนองต่อยาระบายหรือยาถ่ายตามที่แพทย์สั่ง (constipation)
ค) การรักษาภาวะตับวายเรื้อรังหรือเฉียบพลัน (acute or chronic hepatic encephalopathy)

๒. ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่หนักแน่นหรือเชื่อถือได้เพียงพอที่จะยืนยันว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่สามารถรักษาโรคหรือสภาวะต่อไปนี้ เช่น โรคอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ (fatigue, debility), โรคปวดศีรษะ (headache), โรคพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism), โรคภูมิแพ้ (allergies), โรคไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia), โรคความดันเลือดสูง (hypertension), โรคมะเร็ง (cancer),โรคปวดข้อ (arthritis), โรครูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis), โรคหอบหืด (asthma),โรคปวดหลัง (back-ache),โรคมีกลิ่นในปากหรือในลมหายใจ (bad breath), โรคท้องอืด (gas, dyspepsia), อาหารไม่ย่อย (indigestion), เรอบ่อย (bloating), โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome), โรคลิ้นเป็นฝ้า (coated tongue), โรคพยาธิลำไส้ (parasitic infestation), โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis), โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (ulcerative Colitis) โรคตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ (nonalcoholic steatohepatitis), โรคไข้เรื้อรัง (chronic pyrexia), โรคสารพิษจาก nicotine (nicotine toxicity), นอนไม่หลับ (Insomnia), โรคทางจิต (mental disorders) ขาดความตั้งใจ (loss of concentration), โรคผิวหนัง (skin problems) เป็นต้น

๓. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันแต่ละครั้งจะใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือประมาณ ๑-๒ ลิตรเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้น้ำหรือน้ำเกลือปริมาณมากๆ เพราะการใช้ปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตราย เช่น ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะน้ำท่วมปอดได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคไตบางราย

๔. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ทางการแพทย์จะกระทำ เป็นครั้งคราว เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นไม่มีการแนะนำให้ทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหรือหลายปี

๕. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ทางการแพทย์ที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนและกระทำอย่างถูกต้องและระมัดระวังเป็นวิธีที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนล้างลำไส้ใหญ่ได้ เช่น ท้องเดิน (diarrhea), ลำไส้ใหญ่ทะลุ (colonic perforation), ระดับเกลือแร่ในร่างกายสูงหรือต่ำผิดปกติ (electrolyte imbalance eg.hyponatremia, hypocalcemia), ภาวะน้ำเกินในร่างกาย (water intoxication), ภาวะซึม (mental disorders), หัวใจล้มเหลว (heart failure), หรือน้ำท่วมปอด (pulmonary edema) นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตหลายรายจากการสวนลำไส้ด้วย

๖. การใช้สารเคมีหรือสารอื่นๆ เช่น น้ำร้อน น้ำผึ้ง น้ำยา เหล้า เบียร์ กาแฟ บุหรี่ เป็นต้น ในการสวนล้างลำไส้ใหญ่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือลำไส้ใหญ่อักเสบได้ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่ด้วยสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ดีกว่าการสวนด้วยน้ำยาหรือน้ำเกลือ และยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่ด้วยกาแฟในคนมีประโยชน์ในการทำลายสารพิษ

๗. สวนล้างลำไส้ใหญ่อาจทำให้เกิดความรู้สึกสบายขึ้นได้ (sense of well being) เป็นเวลาเพียงสั้นๆ ชั่วคราว แต่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดๆ ว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่จะสามารถรักษาโรคให้หายได้

๘. สวนล้างลำไส้ใหญ่ควรทำภายใต้การกำกับของแพทย์ และ/หรือ พยาบาลเท่านั้น ไม่ควรทำเองหรือให้คนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ทำให้

ข้อมูลสื่อ

318-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ