• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาต หืด ถุงลมปอดโป่งพอง ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง โรคเลือด โรคความจำเสื่อม โรคจิต ควรปฏิบัติดังนี้

  • ผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางเลือดหรือทางช่องท้อง ต้องให้เลือดหรือฉีดยารักษา (เช่น เคมีบำบัด) บ่อย หรือต้องไปพบแพทย์บ่อย (ทุก ๑-๒ สัปดาห์) ควรย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่พักอาศัยที่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้สะดวก
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เช่นเดียวกับในภาวะปกติก่อนน้ำท่วม
  • ควรเก็บรักษายาที่ใช้ให้ปลอดภัยและใส่ในถุงพลาสติกหรือกระเป๋าที่กันน้ำได้ และพร้อมที่จะนำติดตัวเมื่อต้องย้ายที่อยู่
  • จดบันทึกชื่อยา ขนาดและวิธีใช้ หรือเก็บซองยาเปล่า (ที่มีการเขียนระบุชื่อยาและวิธีใช้) ไว้ ถ้ายาหายหรือเปียกน้ำหรือใกล้หมด ควรให้ญาตินำบันทึกหรือซองยาเปล่านั้นไปขอยาที่โรงพยาบาลหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์ติดต่อกับโรงพยาบาลหรือหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน (โทร.๑๖๖๙) เพื่อขอความช่วยเหลือ
  • ถ้ามีอาการกำเริบหรือมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอกมาก แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็ง ปวดศีรษะมาก สับสน เป็นลม ซึมหรือไม่ค่อยรู้ตัว หายใจหอบ เหนื่อยง่าย กินไม่ได้ ท้องเดินมาก อาเจียนมาก มีไข้สูง ปัสสาวะออกน้อย หรือมีอาการโรคจิตกำเริบ (เช่น คลุ้มคลั่ง หวาดระแวง ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น) ควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  • ควรหลีกเลี่ยงการลงย่ำน้ำ เพราะอาจเกิดบาดแผลหรือน้ำกัดเท้า เป็นอันตรายได้
  • ควรมีน้ำตาลหรือน้ำหวานติดตัวไว้กินแก้ไขเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ (มีอาการใจหวิว ใจสั่น จะเป็นลม หรือสับสน มักพบในกรณีใช้ยาฉีดหรือกินยาเบาหวานขนาดมาก หรือกินข้าวได้น้อย)
  • ควรพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ ถ้า (๑) มีอาการหมดสติ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชักหรือสับสน หรือ (๒) มีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะมากกว่าที่เคย (เนื่องจากภาวะน้ำตาลสูงรุนแรง มักเกิดกับกรณีขาดยาหรือไม่ยอมใช้ยา) หรือ (๓) มีภาวะน้ำตาลต่ำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือ (๔) มีแผลที่เท้า มีไข้สูง หนาวสั่น กินไม่ได้ ท้องเดินมาก หรืออาเจียนมาก

สำหรับผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องอยู่ที่บ้าน

  • ควรพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ ถ้ามีการติดเชื้อที่แผล (บวม แดง ร้อน กดเจ็บบริเวณผิวหนังรอบๆ ช่องทางออกของสายล้างไต) เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (ปวดท้อง) น้ำยาล้างไตที่ออกมาจากช่องท้องขุ่น (อาจมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย) น้ำยาไม่ไหลหรือไหลช้า น้ำยามีวุ้น น้ำยามีสีแดงคล้ายมีเลือดปน หรือสายล้างไตรั่ว ขาดหรือแตกชำรุด

สำหรับผู้ป่วยโรคหืดหรือถุงลมปอดโป่งพอง
ควรพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยกำเริบ หายใจมีเสียงดังวี้ด มีไข้สูง ไอมาก หรือเจ็บหน้าอกมาก

การให้วัคซีนในเด็ก
เด็กที่ไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามนัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • การให้วัคซีนล่าช้าเกินกำหนดไปบ้าง จะเกิดผลเสียต่อเด็กไม่มากนัก โดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับว่า วัคซีนแต่ละชนิดอาจให้ล่าช้าไปได้ประมาณ ๑-๒ เดือน
  • เด็กบางคนอาจได้รับวัคซีนบางชนิดไปบ้างแล้ว และมีนัดไปรับวัคซีนเพิ่มเติมหรือกระตุ้นซ้ำเพื่อให้ภูมิคุ้มกันมีระดับสูงขึ้นและคงอยู่ได้นาน เด็กกลุ่มนี้จึงมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคบางโรคอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว
  • กรณีจำเป็นต้องได้รับวัคซีนล่าช้าออกไป เด็กสามารถรับวัคซีนครั้งต่อไปได้เลยในทันทีที่พร้อม โดยไม่มีความจำเป็นต้องเริ่มต้นรับวัคซีนใหม่ทั้งหมด
  • วัคซีนบางชนิดอาจมีประโยชน์ในการลดการเจ็บป่วย และลดการแพร่ระบาดของโรคบางโรคภายในครอบครัวหรือภายในสถานพักพิงชั่วคราว ภาครัฐอาจนำมาให้บริการเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากการบริการวัคซีนทั่วไปได้ เช่น วัคซีนหัด วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนตับอักเสบเอสำหรับเด็ก วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับคนทุกกลุ่มอายุ วัคซีนบาดทะยักสำหรับคนที่มีแผล
  • การรับวัคซีนไม่มีความจำเป็นต้องพาไปรับที่สถานพยาบาลเดิม อาจขอรับบริการที่สถานพยาบาลอื่นที่มีการให้บริการวัคซีนก็ได้ เช่น สถานพยาบาลใกล้บ้าน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แต่ด้องนำสมุดวัคซีนไปด้วย กรณีสมุดวัคซีนสูญหาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อสืบค้นหรือซักประวัติว่าเด็กเคยได้รับวัคซีนอะไรมาก่อนบ้างแล้ว

การคลอดฉุกเฉิน
การคลอดฉุกเฉิน คือการคลอดที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่บ้าน ในยานพาหนะ หรือที่อื่นๆ
๑. ปลอบขวัญ ให้กำลังใจ และอย่าตื่นเต้น
๒. ให้หายใจเข้า-ออกยาวๆ และอย่ากลั้นหายใจแล้วเบ่ง ถ้ายังพอจะระงับได้
๓. ให้นอนหงายชันเข่าทั้งสองข้างขึ้น หรือนอนตะแคงข้าง
๔. ให้ผ้าสะอาดรองก้นแม่เด็กไว้ (ถ้ามี)
๕. ใช้ผ้าสะอาดอีกผืนหนึ่ง (ถ้ามี) เช็ดและประคองหัวเด็กที่กำลังโผล่ออกมา ถ้าไม่มีผ้าให้ใช้มือเปล่าไปก่อน
๖.  ปล่อยให้หัวเด็กหมุนตัว จนกระทั่งหัวเด็กพ้นออกมา อย่าไปดึง ดัน หรือไปหมุนกลับสู่ที่เดิม
๗. ใช้ผ้าสะอาดเช็ดใบหน้า จมูก และปากเด็ก เมื่อหัวเด็กโผล่พ้นช่องคลอดออกมา
๘. ถ้าสายสะดือพันคอเด็ก ช่วยปัดให้พ้นหัวเด็ก
๙. โน้มหัวเด็กลงเบาๆ แล้วไหล่บนจะโผล่ออกมาจนพ้นช่องคลอด
๑๐. ยกหัวเด็กขึ้น แล้วไหล่ล่างจะโผล่ออกมาจนพ้นช่องคลอด
๑๑. ประคองและดึงหัวเด็กออกมาเบาๆ ตัวเด็กก็จะพ้นจากช่องคลอด โดยยังมีสายสะดือติดอยู่
๑๒. วางตัวเด็กลงบนผ้าสะอาดระหว่างขาแม่
๑๓. ใช้ผ้าสะอาดเช็ดหน้า ปาก และจมูกเด็กอีกครั้ง ถ้ามีลูกยางแดง ให้ดูดน้ำมูก น้ำเลือดออกจากจมูกและปากเด็ก
๑๔. ใช้มือข้างหนึ่งจับข้อเท้าของเด็กทั้งสองข้าง แล้วยกขึ้น ให้หัวเด็กห้อยต่ำลง แล้วตบก้นหรือหลังเบาๆ ให้เด็กร้องเสียงดัง เพื่อให้เด็กหายใจเข้า-ออกเต็มที่
๑๕. เมื่อเด็กหยุดร้องแล้ว วางเด็กลงบนผ้าสะอาด ใช้ด้ายเส้นใหญ่หรือเชือกสะอาดผูกสายสะดือเด็ก ห่างจากตัวเด็กประมาณ ๒ ฝ่ามือ ให้แน่นพอสมควร ควรผูก ๒ ปม ห่างกันประมาณ ๒ นิ้วมือ (ที่ผูกห่างจากตัวเด็กมาก เผื่อว่าเมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วเจ้าหน้าที่อาจตัดแต่งสายสะดือให้ใหม่)
๑๖. ใช้กรรไกรหรือมีดที่สะอาด เช็ดกรรไกรหรือมีดด้วยแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และเช็ดสายสะดือด้วยแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ตรงระหว่างปมเชือกทั้งสอง แล้วตัดสายสะดือระหว่างปมเชือกทั้งสอง
๑๗. ใช้ผ้าสะอาดห่อเด็กให้อบอุ่น แล้ววางบนอกแม่ ให้แม่กอดเด็กไว้
๑๘. รอให้รกคลอดแล้วเก็บรกใส่ถุงพลาสติก ไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจว่ารกคลอดครบหรือไม่
๑๙. ใช้มือคลึงมดลูกที่หน้าท้องให้มดลูกหด รัดตัว จะได้ไม่ตกเลือดหลังคลอด
๒๐. ถ้าเลือดออกมากผิดปกติหลังคลอด หรือรกไม่คลอดใน ๓๐ นาทีหลังเด็กคลอด หรือช่องคลอดฉีกขาดมาก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

หมายเหตุ : ถ้าเด็กเอาก้น หรือแขน ขาโผล่ออกมาก่อน ต้องรีบนำแม่ส่งโรงพยาบาลทันที อย่ารอช้า เพราะอาจจะทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้

แหล่งติดต่อช่วยเหลือ
หน่วยงาน/หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน
•    หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินนเรนทร    หมายเลข ๑๖๖๙
•    หน่วยแพทย์กู้ชีพ กทม.    หมายเลข ๑๕๕๔
•    แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย    หมายเลข ๑๙๑
•    สถานีวิทยุ จส. ๑๐๐     หมายเลข ๑๑๓๗
•    สถานีวิทยุ สวพ. ๙๑    หมายเลข ๑๖๔๔
•    ศูนย์วิทยุปอเต็กตึ๊ง ๒๔ ชม.    หมายเลข ๐-๒๒๖๖-๔๔๔๔–๘
•    ศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน ๒๔ ชม.    หมายเลข ๐-๒๒๖๗-๔๔๔๔
•    สถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน    หมายเลข ๑๖๗๗
•    โรงพยาบาลทุกแห่ง สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง    สอบถามหมายเลข ๑๑๓๓
•    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
•    สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
•    ศูนย์บริการสาธารณสุข
•    โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/สถานีอนามัย
•    หน่วยแพทย์ช่วยเหลือในพื้นที่

แหล่งความรู้ด้านสุขภาพเพิ่มเติม
หนังสือ “คู่มือหมอชาวบ้าน” ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
เว็บไซต์ : www.doctor.or.th
เว็บไซต์ : www.doctordiag.com
แอปพลิเคชั่น DoctorMe : โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่าน Apple App Store ทาง iPhone หรือ iPod Touch หรือ iPad หรือ http://doctorme.in.th
 

ข้อมูลสื่อ

392-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 392
ธันวาคม 2554
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ