• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สตีรอยด์... อันตรายจริงๆ

สตีรอยด์คืออะไร
สตีรอยด์เป็นการเรียกชื่อกลุ่มสารอินทรีย์ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายๆ สารกลุ่มคอเลสเตอรอล ซึ่งพบได้หลายชนิดในร่างกาย
กลุ่มที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือกลุ่มฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างมาจากต่อมหมวกไตชั้นนอก เพื่อควบคุมการใช้พลังงานในร่างกาย ปรับสภาวะของร่างกายจากความเครียด จากการเจ็บป่วย หรือติดเชื้อบาดเจ็บ เรียกสารกลุ่มนี้ว่าคอร์ติโคสตีรอยด์ ซึ่งร่างกายต้องการในปริมาณไม่มากนัก หากมีน้อยหรือมากไปจะเกิดโรคชนิดต่างๆ แต่สตีรอยด์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนในร่างกาย และปรับให้ได้หลายอนุพันธ์เพื่อเพิ่มความแรงตามวัตถุประสงค์ที่ใช้ หรือลดอาการไม่พึงประสงค์
ตัวอย่างสารกลุ่มสตีรอยด์ ได้แก่ ไฮโดรคอร์ติโซน เพร็ดนิโซโลน บีตาเมทาโซน เด๊กซ่าเมทาโซน ไตรแอมซิโนโลน เป็นต้น

ประโยชน์ของสตีรอยด์ในทางการแพทย์
ทางการแพทย์ใช้สตีรอยด์ในการเป็นยารักษาหรือบรรเทาอาการของหลายโรคหรืออาการผิดปกติ เช่น ทดแทนภาวะการขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ใช้รักษาโรคบางโรคที่ใช้ยาตามมาตรฐานไม่ได้ผล หรือโรคนั้นไม่อาจควบคุมด้วยยาอื่น กดภูมิคุ้มกัน รวมทั้งใช้ในการต้านการอักเสบ
ยากลุ่มสตีรอยด์ใช้ได้หลายทางตามวัตถุประสงค์ โดยทำเป็นยาในรูปแบบต่างๆ เช่น
๑. ยาทาภายนอกตัวอย่างยาสำหรับอาการผื่นแดง แพ้ที่ไม้รู้สาเหตุคัน ควรใช้ในรูปยาเดี่ยว
๒. ยาหยอดตาสำหรับการอักเสบของดวงตาที่ไม่ได้ติดเชื้อแพ้สารบางชนิด ประสาทตาอักเสบ
๓. ยาฉีดเฉพาะที่ ยาฉีดเข้าข้อ สำหรับข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
๔. ยาพ่น สำหรับผู้ป่วยหอบหืด
๕. ยากิน สำหรับโรคหลายชนิด
๖. ยาฉีดเข้าหลอดเลือด สำหรับโรคหลายชนิด
สำหรับยากลุ่มหลังๆ คือยากิน จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จ่ายได้โดยเภสัชกรจากร้านยาแผนปัจจุบัน ขย 1 เท่านั้น แต่จะจ่ายโดยพลการไม่ได้ ต้องมีใบสั่งยามาจากแพทย์เท่านั้น ส่วนยาฉีดมักใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้นเพราะอันตรายมาก และใช้ในระยะเวลาสั้นๆ

อันตรายจากการใช้สตีรอยด์ไม่ถูกต้อง
เนื่องจากประสิทธิผลในการบำบัดบรรเทาอาการ ทำให้อาการต่างๆ ทุเลามากขึ้น ทำให้มีการใช้ยาสตีรอยด์กันอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งใช้โดยไม่จำเป็น ใช้นานเกินจำเป็น ใช้มากเกินจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันอาจมีการใช้สตีรอยด์น้อยกว่าที่ควร เช่น การใช้ยาพ่นสตีรอยด์สำหรับอาการหอบหืด
หากร่างกายได้รับสตีรอยด์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน (เกิดจากการกิน หรือฉีด) ทำให้เกิดอาการที่สังเกตได้ชัดเจน รวมเรียกว่า Cushing Syndrome สรุปเป็นคำกลอนได้ ดังนี้
หน้าจันทร์แรม (คือหน้ากลมเป็นพระจันทร์-moon face)   
แถมอ้อยเชื่อม (น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง)
เอื้อมไม่ไหว (กล้ามเนื้ออ่อนแรง)
ยายกี๋หนวด (มีขนขึ้นตามใบหน้า ผิวหนัง)
ปวดกระดูก (ปวดเมื่อย และกระดูกบาง ผุ พรุน และอาจหักได้)
ลูกทะเล (เกลือในร่างกายเพิ่ม ความดันโลหิตเพิ่ม)
เท่เหมือนควาย (เกิดก้อนไขมันที่บริเวณต้นคอด้านหลัง เรียกว่า “หนอกควาย” หรือ “ buffalo hump”)  
ลายหน้าท้อง (หน้าท้องลาย พุงป่อง)
หมองสกิน (ผิวหนังบาง เป็นลาย รอยแตกมีสิวเม็ดเล็กๆ ขึ้นทั่วไป)
ภาวะอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ ร่างกายบวมฉุ (central obesity) ทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และอาจทะลุไปจนถึงเสียชีวิตได้เกิดเลนส์ตาขุ่น และเป็นต้อกระจก เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน (กระดูกเปราะบาง หักง่าย) อาการทางจิต ตับอ่อนอักเสบ ภูมิต้านทานลดลง (ง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โดยเฉพาะเชื้อรา เช่น ที่ปาก ทางเดินอาหาร ช่องคลอด และผิวหนัง)
สตีรอยด์ยังปิดบังอาการแสดงของโรคติดเชื้อ ทำให้รักษาได้ไม่ทันการ กว่าจะพบโรคก็ลุกลามรุนแรงมากแล้ว
สตีรอยด์ยังยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็กด้วย  

นอกจากนี้ หากได้รับสตีรอยด์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะเกิดการกดต่อมหมวกไต ทำให้ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมน หากต้องการหยุดยา จะหยุดทันทีไม่ได้ เพราะจะเกิดอาการขาดฮอร์โมนอย่างเฉียบพลัน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก บางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดภาวะช็อก ซึม สับสน กระสับกระส่าย ตัวเย็น เป็นลม หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาทันกาลจะเสียชีวิตได้ หากต้องหยุดยาสตีรอยด์ แพทย์จะปรับขนาดยาสตีรอยด์ลงอย่างช้าๆ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต่อมหมวกไตฟื้นตัวกลับมาผลิตฮอร์โมนได้เป็นปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเป็นแรมปี

นอกจากนี้ การใช้ในรูปของยาทาภายนอกมีผลทำให้ผิวหนังบางเป็นรอยแตก และมีลักษณะเป็นมัน อาจมีผื่นแดงมีสิวเกิดขึ้น และหากทาบริเวณกว้าง บ่อย หรือทาบริเวณแผลเปิดก็อาจซึมเข้าร่างกายได้

การใช้ยาหยอดตาทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นโรคต้อหิน ถ้ารักษาไม่ทันอาจตาบอดได้

มีการลักลอบผสมสตีรอยด์ในยาอะไรบ้าง
เนื่องจากประสิทธิผลของยาที่ครอบจักรวาล จึงมีการลักลอบผสมสตีรอยด์ลงในยาชนิดต่างๆ เช่น ยาชุด ยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน ยาพระ ยาต้ม ยาหม้อและล่าสุดพบผสมในอาหารเสริมหลายชนิด
เหล่านี้ถือเป็นการลักลอบผสมอย่างผิดกฎหมาย สตีรอยด์ที่มีการนำมาผสมที่พบได้บ่อย คือเพร็ดนิโซโลน และเด๊กซ่าเมทาโซน

การร่วมมือป้องกันและเฝ้าระวังสตีรอยด์
๑.ไม่ใช้ยาที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ซื้อยาจากแหล่งที่ไว้ใจได้หรือรู้แหล่งผลิตที่แน่นอน
๒.ใช้ยาทุกครั้งต้องรู้จักชื่อสามัญทางยา ถามหาจากแพทย์ เภสัชกร ทุกครั้ง
๓. บอกต่อคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน อสม. ในการร่วมมือกันเฝ้าระวังปัญหา    
๔. หากสงสัยผลิตภัณฑ์ที่ใช้ว่ามีสตีรอยด์หรือไม่ ตรวจโดยใช้ชุดตรวจเบื้องต้น ส่งต่อ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

จะตรวจสอบว่ามีสตีรอยด์ได้อย่างไร
จะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่กินมีสตีรอยด์ผสมหรือไม่ ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจสตีรอยด์ที่สะดวกสำหรับผู้บริโภค สามารถทดสอบได้ด้วยตนเอง เป็นการทดสอบเบื้องต้นสำหรับตรวจหาเด๊กซ่าเมธาโซน และเพร็ดนิโซโลน ซึ่งเป็นสารสตีรอยด์ที่ใช้ปนปลอมในยาแผนโบราณรูปแบบต่างๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาน้ำ ยาเม็ด และแคปซูล เป็นต้น

วิธีการทดสอบ
๑. บดเม็ดยาให้แตกละเอียดหรือใช้กรรไกรสะอาดตัดเป็นชิ้นเล็กๆ
๒. ตักตัวอย่างด้วยหลอดพลาสติกสำหรับตักตัวอย่างของแข็ง หรือ หลอดหยดตัวอย่าง (ของเหลว) ลงในหลอดทดสอบพลาสติกปริมาณเท่าขีดสีน้ำเงินข้างหลอดทดสอบ (ขีดล่าง)
๓. หยดน้ำยาจากขวดบรรจุน้ำยาละลาายตัวอย่าง ลงในหลอดทดสอบที่ใส่ตัวอย่างจนถึงขีดสีแดงที่ข้างหลอดทดสอบ (ขีดบน)
๔. ปิดด้วยจุกพลาสติก เขย่าให้เข้ากันประมาณ ๓ นาที
๕. ตั้งทิ้งไว้จนเกิดการแยกชั้น
๖. นำชุดทดสอบออกจากซองบรรจุ วางชุดทดสอบบนพื้นราบที่สะอาด ใช้หลอดหยดตัวอย่างดูดน้ำยาส่วนใสโดยระวังไม่ให้มีฟองอากาศและหยดลงในหลุมทดสอบใน
๗. อ่านผลการทดสอบภายใน ๑๐-๑๕ นาที

วิธีการแปลผลทดสอบ
ผลลบ : ปรากฏแถบสีม่วงแดง ๒ แถบ บริเวณตำแหน่ง C และ T ที่หน้าต่างแสดงผล โดยความเข้มข้นของสีที่ตำแหน่ง T อาจจะเข้มหรือจางกว่าตำแหน่ง C ก็ได้
ผลบวก : ปรากฏแถบสีม่วงแดงเพียงแถบเดียว บริเวณตำแหน่ง C ที่หน้าต่างแสดงผลแสดงว่ามีสตีรอยด์ชนิดเด๊กซ่าเมทาโซน และ/หรือเพร็ดนิโซโลนปนปลอมในตัวอย่างที่ทดสอบ
แปลผลไม่ได้ : ไม่ปรากฏแถบสีม่วงแดงที่ตำแหน่ง C และ T หรือปรากฏแถบสีม่วงแดงที่ตำแหน่ง T
 

ข้อมูลสื่อ

399-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 399
กรกฎาคม 2555
ภกญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี