• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปิบพิสดารระวังตายพิสดาร

เปิบพิสดารระวังตายพิสดาร


เห็ดมีมากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหาร บางชนิดมีสารเคมีที่มีสรรพคุณเป็นยา เช่น เห็ดหอม เห็ดหลินจือบางชนิด โดยเฉพาะเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติหรือเห็ดป่ามีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายคนเรา ส่วนใหญ่เป็นพิษอ่อน ทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ดังที่เรียกว่า "อาหารเป็นพิษ" หากอาเจียนหรือถ่ายท้องรุนแรงก็อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เป็นอันตรายแบบโรคท้องร่วงรุนแรงได้ ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ ก็มักจะรอดปลอดภัย แต่บางชนิดมีพิษทำลายตับ ไต ระบบประสาทจน ถึงตายได้ ที่อันตรายมากๆ ก็คือ เห็ดระโงก (หรือเห็ดระโงก หิน และมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ) ซึ่งมีพิษต่อตับอย่าง ร้ายแรง ทำให้เซลล์ตับตาย ตับทำหน้าที่ไม่ได้ (ตับวาย) แบบคนที่ดื่มเหล้าจัดๆ จนเป็นโรคตับแข็ง ผิดกันที่ตับแข็งจากเหล้าจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างสะสมช้าๆ แต่พิษของเห็ดชนิดนี้ ทำลายตับทั้งอันอย่างฉับพลันภายใน ๒-๓ วัน หรือไม่เกินสัปดาห์ และทำให้ผู้ที่กินเห็ดพิษชนิดนี้ ตายได้ในเวลารวดเร็ว ซึ่งมักปรากฏเป็นข่าวดังทุกปี โดยเฉพาะทางภาคอีสานและภาคเหนือที่ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามาบริโภคกัน เห็ดชนิดนี้ทำให้สุกก็ยังเป็นพิษได้ เพราะพิษทนต่อความร้อนที่มีข่าวในทางสื่อมวลชนอยู่เนืองๆ ปีละหลายๆ ครั้ง ยังมีเรื่องที่ชาวบ้านตายฉับพลันจากการกินปลาปักเป้า พิษไข่แมงดาทะเล และคางคก

ปลาปักเป้า มีทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเลซึ่งล้วนมีพิษแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกินแบบดิบหรือสุกหรือปรุงด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาทอย่างร้ายแรง เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจนหายใจไม่ได้ หยุดหายใจ ตายได้ ฉับพลัน อาจรวดเร็วภายใน ๒๐-๓๐ นาที หรือหลังกินปลาปักเป้าก็ได้ หรือเกิดขึ้นภายใน ๒๔ ชั่วโมง ชาวประมง ชาวบ้านแถบชายทะเล ชาวบ้านในภาคอีสานหรือภาคเหนือที่จับปลาจากห้วยหนองคลองบึง อาจบริโภคปลาปักเป้าทะเลหรือปลาปักเป้าน้ำจืด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มักจะรับพิษพร้อมกันทั้งหลายคนในครอบครัวหรือในหมู่เพื่อนฝูง ที่น่าแปลกใจ ก็คือ ปัจจุบันคนญี่ปุ่นยังนิยมกินปลาปักเป้าทะเล ซึ่งเขาเรียกว่า "ฟูหงุ" เป็นอาหารจานเด็ดราคาแพง ซึ่งต้องมีพ่อครัวที่ชำนาญในการเตรียมปลาปักเป้าโดยเฉพาะ และต้องบริโภคเฉพาะในฤดูกาลที่ปลามีพิษน้อย สมัยก่อน ซึ่งยังขาดความชำนาญ คนญี่ปุ่นป่วยและตายจากพิษปลาปักเป้าจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่แนะนำให้เสี่ยงต่อการกินอาหาร จานเด็ดชนิดนี้ โอกาสเกิดความผิดพลาดย่อมมีอยู่เสมอ พิษแบบเดียวกับปลาปักเป้ายังพออยู่ในแมงดาถ้วย (บางคนเรียกว่า แมงดาไฟ แมงดาหางกลม หรือ เห-รา) ซึ่งอยู่ตามป่าชายเลนเป็นคนละชนิดกับแมงดาจาน (แมงดาหางเหลี่ยม) ซึ่งไม่มีพิษ และอยู่ในทะเลลึก พิษมีมากในไข่แมงดาด้วย นิยมนำมายำหรือแกงกิน แล้วเห็ดพิษฉับพลันถึงตายได้แบบเดียวกับการกินปลาปักเป้า

ส่วนคางคก มีพิษร้ายแรงคนละอย่างกับปลาปักเป้าและแมงดาด้วย คางคกทุกชนิดที่มีอยู่ในบ้านเราล้วนสามารถผลิตพิษ (ชาวบ้านเรียกว่า "ยางคางคก") ออกมาอยู่ที่หนัง ไข่ เครื่องใน และเลือด มีพิษต่อหัวใจอย่างร้ายแรงแบบเดียวกับการรับพิษดิจิทาลิส (ซึ่งเป็นยารักษาโรคหัวใจ แต่ถ้าใช้ขนาดมากเกินก็กลับกลายเป็นพิษทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และหยุดเต้น ตาย) พิษคางคกทนต่อความร้อน ปรุงให้สุกก็ไม่ปลอดภัยในการบริโภค ดังนั้นจึงห้ามกินคางคกอย่างเด็ดขาด

แพทย์จีนโบราณนำคางคกมาตากแห้งบดเป็นยาบำรุง และรักษาโรคหลายชนิด ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีคนที่กินยาจีนปลุกเซ็กส์ (ตามที่โฆษณาหรือเชื่อกัน) ๓ เม็ด แล้วเกิดพิษแบบเดียวกับพิษคางคก ภายหลังพบว่ายานั้นมีส่วนผสมของหนังคางคกจึงเป็นอุทาหรณ์ ว่าจะใช้ยาอะไรก็ต้องศึกษาให้รู้ว่ามีส่วนผสมอะไร อาจมีพิษไหม
ก็ขอฝากเตือนว่าให้หลีกเลี่ยงการเปิบพิสดาร โดยเฉพาะห้ามไปเสี่ยงบริโภคเห็ดและสัตว์พิษเหล่านี้โดยเด็ดขาด 

ข้อมูลสื่อ

327-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ