• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เห็ดคุณค่าทางอาหาร

เห็ดคุณค่าทางอาหาร


อาหารที่ปรุงจากเห็ดหลายๆ ชนิดเป็นอาหารที่หลายคนคุ้นเคยและชื่นชอบ เนื่องจากเห็ดมีรสชาติดี บางชนิดมีสรรพคุณทางยา และบางชนิดเป็นพิษกลายเป็นรายการเห็ดมรณะคร่าชีวิตคนได้ ดังนั้น จึงควรทำความรู้จักกับเห็ดในแง่มุมต่างๆ กัน เพื่อประโยชน์ทางด้านโภชนาการ และการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพ

ลักษณะโดยทั่วไป
เห็ดเป็นพืชชั้นต่ำจำพวกเชื้อรา มีการเจริญเติบโตเป็นสายใย ดอกเห็ดที่พบโดยทั่วไปนั้นเป็นเส้นใยที่อัดรวมตัวกันแน่น มีรูปร่างสวยงามแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของเชื้อรา เช่น เหมือนร่มกาง เหมือนต้นปะการัง เหมือนแผ่นหยุ่นๆ เป็นวุ้น สีของดอกเห็ดมีทั้งสวยสะดุดตา และสีกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีกลิ่นหอม บางชนิดมีกลิ่นฉุนแรงมาก เห็ดมีหลายชนิดบางชนิดกินได้ บางชนิดเป็นเห็ดมีพิษ ถ้ากินเข้าไปอาจจะทำให้มึนเมา อาเจียน หรือมีอาการรุนแรง ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเขตชนบทช่วงหน้าฝน เห็ดประกอบด้วยส่วนต่างๆ เช่น หมวกเห็ด (cap) ครีบ (gills) ก้านดอก (stalk) กลุ่มเส้นใย (mycelium) สำหรับวงแหวน (ring) และเปลือกหุ้ม (volva) มักจะพบในเห็ดที่เป็นพิษ (ภาพที่ ๑)

คุณประโยชน์ของเห็ด

๑. คุณค่าทางอาหารและโภชนาการ
เห็ดแต่ละชนิดจะมีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับผัก ดังแสดงในตารางที่ ๑ นั่นคือ มีวิตามิน เกลือแร่ โดยโปรตีนในเห็ดจะมีคุณภาพดีกว่าในผัก แต่ก็จัดเป็นโปรตีนพวกที่ไม่สมบูรณ์บางส่วน เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ดังนั้น การปรุงอาหารจากเห็ดให้เกิดประโยชน์ ต่อสุขภาพก็ควรมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผักชนิดอื่นเข้าไปด้วย

๒. ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
สภาพอากาศของบ้านเรานั้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด การเพาะเห็ดจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งระดับครัวเรือนจนถึงระดับประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งทำให้มีเศษวัสดุเหลือใช้จากพืชต่างๆ มากมาย สามารถนำมาดัดแปลงใช้ในการเพาะเห็ดได้ เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย เป็นต้น

๓. คุณสมบัติทางยา
เห็ดที่คุ้นเคยกันว่ามีสรรพคุณทางยา ได้แก่ เห็ดหอมและเห็ดหลินจือ มีการศึกษาวิจัยพบว่า เห็ดหอมมีสารหลายชนิดที่ช่วยลดไขมันในเลือดได้ เช่น เลนทินาซิน (lentinacine) เลนทิไซน์ (lentisine) และเออริทาดินิน (eritadenin) โดยต้องกินเห็ดหอมสดวันละ ๙๐ กรัม ลดโคเลสเตอรอลลงได้ร้อยละ ๑.๒ ต่อสัปดาห์



จากการศึกษาการทดสอบการย่อยของโปรตีนในเห็ดระหว่างเห็ดหอมสดกับเห็ดหอมต้มสุกกับอบแห้ง พบว่าเห็ดหอมสดย่อยได้มากกว่า เนื่องจากเหตุผลคือ ความร้อนอ่อนๆ จากการต้มจะทำให้โปรตีนในเห็ดเปลี่ยนแปลงสภาพไป และช่วยในการย่อยด้วยเอนไซม์ดีขึ้น หรือในเห็ดสดอาจมีสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในการย่อยโปรตีน เพราะฉะนั้นไม่ควรกินเห็ดสด สำหรับเห็ดหลินจือ ซึ่งชาวจีนมีความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยามาแต่โบราณนับพันปี และมีรายงานการศึกษาในแง่ของการยับยั้งการลุกลามของมะเร็ง นอกจากนี้ มีรายงานทางเภสัชวิทยาว่ามีฤทธิ์ยับยั้งระบบประสาทส่วนกลางโดยทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ และหลับได้ยาวขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยขับเสมหะ การกินเห็ดหลินจือทำโดยนำเห็ดที่ฝานบางๆ ตากแห้ง ๓-๔ ชิ้น มาต้มกับน้ำใช้ดื่มแต่มีรสขม หรือจะอยู่ในรูปของเม็ดแคปซูลที่กินง่ายขึ้น แต่มีราคาแพงกว่ามาก อย่างไรก็ตาม การที่เห็ดมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงผัก เพราะฉะนั้นประโยชน์ของผักที่จะได้รับต้องการให้นึกถึงเรื่องของเส้นใยอาหาร ซึ่งเส้นใยอาหารนั้นมีผลดีต่อสุขภาพหลายประการ เช่น เพิ่มปริมาณและน้ำหนักอุจจาระ ทำให้ขับถ่ายได้ง่าย นอกจากนี้ ยังช่วยจับสารเคมีที่เป็นพิษ และทำให้ผ่านลำไส้ได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ โดยปริมาณของเส้นใยอาหารในเห็ดบางชนิดก็ใกล้เคียงกับผักหลายชนิด (ตารางที่ ๒)ปริมาณเส้นใยอาหารที่ร่างกายต้องการคือ ๒๕ กรัมต่อวัน นั่นคือ ถ้ากินอาหารเช่นกับข้าวที่มีผักหรือผักกับเห็ดเป็นองค์ประกอบทุกมื้อ (๑ ทัพพี/มื้อ) และมีผลไม้หลังอาหารก็จะได้เส้นใยอาหารอย่างเพียงพอ

๔. คุณสมบัติด้านรสชาติของอาหาร
รสชาติของอาหารที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันและแยกได้ก็จะมีเพียง ๔ รส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม และขม นอกจากนี้ ยังมีอีกรสชาติที่มักจะพูดกันติดปากเป็นรสอร่อยที่แตกต่างกันจากรสและสีข้างต้น ซึ่งรสชาติที่อร่อยนั่นคือ รสอุมามิ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นรสชาติพื้นฐานที่ ๕ ซึ่งเป็นรสชาติที่เกิดจากกรดอะมิโน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าอาหารที่ปรุงโดยเห็ดก็จะมีรสชาติที่อร่อยไม่แพ้พวกเนื้อสัตว์ เนื่องมาจากในเห็ดจะมีกรดกลูตามิก ซึ่งเป็นกรดอะมิโน และยังมีสารกัวไนเลต (สารในกลุ่มไรโบนิวครีโอไทด์) ที่จะช่วยในการเกิดรสชาติที่อร่อยโดยธรรมชาตินั่นเอง
      
อันตรายจากเห็ดพิษ
ลักษณะของเห็ดมีพิษ แยกออกจากเห็ดไม่มีพิษได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีดูจากลักษณะภายนอก โดยผู้ที่มีความชำนาญ บางครั้งเห็ดได้ถูกเก็บไว้นาน ถูกความร้อน ถูกทับ ทำให้ลักษณะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการเจริญเติบโตในระยะต่างๆ กัน ซึ่งทำให้รูปร่างคล้ายคลึงกัน อาจทำให้ดูผิดพลาดได้ ชาวบ้านมักมีความเชื่อกันเกี่ยวกับวิธีการดูเห็ดพิษและเห็ดกินได้หลายวิธีแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น  ซึ่งก็พบว่าชาวบ้านมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเห็ดดังนี้ คือ

๑. เห็ดพิษ เมื่อนำมาต้มกับช้อนเงินจะทำให้ช้อนเงินกลายเป็นสีดำ

๒. เห็ดพิษเปลี่ยนสีกระเทียมหรือข้าวสารเป็นสีดำ

๓. อาการพิษของเห็ดจะเกิดขึ้นทันทีหลังกินเห็ด

๔. เห็ดที่มีสีสดเป็นเห็ดมีพิษ ส่วนสีจาง ขาว มักกินได้

๕. เห็ดพิษทุกชนิดหากนำมาทำให้สุกก่อนจะทำลายพิษได้

๖. หากมีรอยแทะของแมลง สุนัข หนู คนก็กินได้

๗. สามารถทำลายพิษเห็ดได้ ถ้าต้มกับน้ำส้มหรือเกลือ

๘. ถ้าใส่นมหรือไข่ลงไป แล้วตกตะกอน แสดงว่าเห็ดมีพิษ

โดยสรุปแล้ว ไม่มีวิธีทดสอบใดที่จะสามารถแยกเห็ดพิษออกจากเห็ดไม่มีพิษเด็ดขาด เช่น เห็ดไข่ห่าน (Amanita caecaris) ที่เป็นที่นิยมของคนทางภาคเหนือและอีสาน แต่เห็ดระโงกหิน (Amanita phallaides) ที่มีพิษร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต และกว่าจะแสดงอาการของการเกิดพิษก็ใช้เวลา ๖-๒๔ ชั่วโมง (เฉลี่ย ๑๒ ชั่วโมง) เห็ดพิษชนิดนี้พบมากทางภาคอีสาน ทำให้มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการกินเห็ดแล้วทำให้เสียชีวิต อย่างที่ทราบแล้วว่าการแยกชนิดของเห็ดนั้นแยกได้ยาก

การเกิดพิษจากการกินเห็ดก็มักจะเกิดจากความเข้าใจผิด โดยเฉพาะกับเห็ดที่อยู่ตามป่า จึงมีข้อแนะนำในการกินเห็ด ดังนี้

๑. มีความเสี่ยงมากในการจำแนกชนิดของเห็ด หากไม่มั่นใจ การมีคู่มือการจำแนกชนิดเห็ดอาจช่วยได้ แต่ไม่ควรพึ่งคู่มือ โดยไม่มีผู้รู้จริงไปด้วย และอย่าทดลองกิน เพราะอาจถึงแก่ชีวิตได้

๒. เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน โดยขุดให้ลึกและหากเด็ดแต่ด้านบนแล้ว ลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะจะหลุดไปได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการบ่งบอกชนิดของเห็ดพิษด้วย ตระกูล Amanita นั้นจะไม่ติดขึ้นมาด้วย

๓. เก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น หลีกเลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไป ลักษณะต่างๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเลี่ยงเห็ดที่แก่และเน่าเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้

๔. เวลาเก็บเห็ดให้แยกชนิดเป็นชิ้น โดยการนำกระดาษรองในตะกร้า เพื่อป้องกันการปนเปื้อน หากเก็บเห็ดพิษปะปนมาด้วย

๕. อย่าเก็บเห็ดหลังฝนตกใหม่ๆ เพราะมีเห็ดหลายชนิดที่สีบนหมวกเห็ด อาจถูกชะล้างให้จางลงได้

๖. เก็บเห็ดมาแล้ว ควรนำมาปรุงอาหารเลย ไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะเห็ดจะเน่าเสียเร็ว หรืออาจแช่ตู้เย็นไว้ได้

๗. ห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด

๘. เห็ดที่ไม่เคยกิน ควรกินเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก เพราะเห็ดที่ไม่มีพิษสำหรับคนอื่น อาจทำให้คนที่ไม่เคยกินมีอาการแพ้ได้

๙. ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดและเชื้อรามีคุณสมบัติดูดซับสารพิษต่างๆ สะสมไว้ในตัวได้มากรวมถึงโลหะหนัก

สรุป
การกินเห็ดเพื่อให้เกิดประโยชน์นั้น ควรนำเห็ดมาปรุงอาหารรวมกับผักและเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพราะเห็ดมีสารอาหารใกล้เคียงกับผัก  ส่วนโปรตีนที่มีอยู่ในเห็ดเป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ บางส่วนควรใช้เนื้อสัตว์เสริมคุณค่า ไม่ควรเก็บเห็ดไว้กินนานเกินไป เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี เพราะในเห็ดก็จะมีกรดอะมิโนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารที่เรียกว่า  Biogenic amine ที่จะทำให้เกิดการแพ้อาหารได้ การกินเห็ดควรคำนึงถึงความปลอดภัย นั่นคือ ควรกินเฉพาะเห็ดที่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดีก็ควรกินอาหารที่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ชนิดของอาหาร วิธีการปรุงอาหาร อย่าให้ซ้ำซากก็จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีได้อย่างแน่นอน 



กินเห็ด...อาจถึงตาย

กรมควบคุมโรค ห่วงใยประชาชนที่นิยมบริโภคเห็ด ควรดูให้ดีเลือกกินแต่เห็ดที่รู้จักจริงๆ เท่านั้น ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษทั้งสิ้น ๑,๓๒๔ ราย เสียชีวิต ๑ ราย แต่ในปีนี้เฉพาะวันที่ ๑-๒๐ พฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วถึง ๒ ราย จากข้อมูลการเฝ้าระวังและสอบสวนทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในระยะ ๑๑  ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๘) อุบัติการณ์การได้รับพิษจากการกินเห็ดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากอัตราป่วย ๐.๘๗ ต่อประชากรแสนคน (๕๑๕ ราย) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็น ๒.๑๓ ต่อประชากรแสนคน (๑,๓๒๔ ราย) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์การเกิดโรคสูง คือจังหวัดในภาคอีสาน และภาคเหนือ เพราะประชาชนส่วนใหญ่นิยมเก็บเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเห็ดป่ามากินเป็นอาหาร

ระยะนี้เริ่มเข้าฤดูฝน จะเริ่มมีเห็ดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก มีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงก มีชื่อตามภาษาท้องถิ่น ได้แก่ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก รูปร่างทั่วไปของเห็ดชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกที่กินได้ ไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า และการทดสอบพิษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช้อนเงินจุ่มในน้ำแกง การเติมข้าวสารต้มพร้อมเห็ด หรือการชิม โดยเฉพาะขณะยังเป็นเห็ดอ่อนมีเปลือกหุ้ม (puffball) นอกจากนี้ ยังมีเห็ดชนิดอื่นๆ ที่เคยพบจากรายงานการสอบสวนโรคเฉพาะรายในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการกินเห็ด ว่าสามารถทำให้เกิดพิษได้ แต่มักมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ได้แก่ เห็ดปลวก เห็ดงูเห่า เห็ดขิง เห็ดน้ำข้าว เห็ดแดง เห็ดถ่าน เห็ดขี้นก เห็ดยูคา และเห็ดตีนนก

อาการเป็นพิษที่เกิดจากการกินเห็ดที่พบได้บ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลว ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากกินเห็ดพิษได้  ๕ นาทีแรกจนถึง ๓๖ ชั่วโมง แต่มักเกิดขึ้นหลังจากกินเห็ดเป็นเวลานานจนบางครั้งอาจลืมไปว่าได้กินเห็ดมาก่อน ดังนั้น หากมีผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษในระยะนี้ ควรคำนึงถึงเห็ดพิษด้วยว่าอาจเป็นสาเหตุของการป่วย เพราะประวัติที่ถูกต้องชัดเจน จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เนื่องจากเห็ดพิษบางชนิดมีพิษต่อตับและไต ทำให้เกิดภาวะตับและไตวาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการกินเห็ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดคือทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด ตามด้วยการดูดพิษจากทางเดินอาหารของผู้ป่วย โดยใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน (Activated Charcoal) ดื่ม ๒ แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคออาเจียนออกมาก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ ๒ แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง หากผู้ป่วยอาเจียนออกยาก ให้ใช้เกลือแกง ๓ ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนง่ายขึ้น แต่วิธีทำให้อาเจียนนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ขวบ หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้ว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเห็ดพิษที่ยังเหลืออยู่ส่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ด้วย

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะต้องดำเนินการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาวนี้ จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเป็นประจำทุกปี ควรเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภคเห็ด อย่ากินเห็ดที่ไม่รู้จัก สงสัย หรือไม่แน่ใจ ให้กินเฉพาะเห็ดที่แน่ใจว่าไม่เป็นพิษ ซึ่งจะมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

๑. การกินอาหารที่ประกอบด้วยเห็ด ควรกินแต่พอควร อย่ากินจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้ที่มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอ เกิดอาการเป็นพิษได้

๒. การปรุงอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ต้องระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออก เพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

๓. อย่ากินอาหารที่ปรุงขึ้น สุกๆ ดิบๆ  หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิด ยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้กินจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อกินหลายครั้ง ก็จะสะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตได้ในภายหลัง ดังนั้นจึงควรต้มให้สุกก่อนกินทุกครั้ง

๔. ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ากินเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง กินเฉพาะเห็ดที่กินได้โดยไม่แพ้ หรือหลีกเลี่ยงจากการกินเห็ด

๕. ระมัดระวังอย่ากินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา (แอลกอฮอล์)  เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังการกินเห็ดแล้ว ภายใน ๔๘ ชั่วโมง เช่น เห็ด Coprinus atramentarius เป็นต้น หรือแม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก

การปฐมพยาบาลคนที่กินเห็ดมีพิษ

๑. ซักถามผู้บาดเจ็บ

๒. ทำให้อาเจียน

๓. รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

วิธีทำให้อาเจียน

๑. ใช้นิ้วล้วงคอ หรือใช้วัตถุปลายทู่ เช่น ด้ามช้อน ไม้พันสำลี กระตุ้นบริเวณโคนลิ้น

๒. ไข่ขาวดิบ ขนาดที่ใช้ เด็ก ๔ ฟอง  ผู้ใหญ่ ๘ ฟอง

๓. กลืนน้ำเชื่อมไอพีแค็ก ขนาดที่ใช้

 - เด็ก ๑ ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ ๑-๒ แก้ว

 - ผู้ใหญ่ ๒ ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ ๑-๒ แก้ว

อย่าลืม ถ้าเป็นไปได้ให้นำเห็ดและอาเจียนไปโรงพยาบาลด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

327-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
เนตรนภิส ธนนิเวศน์กุล