• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปลอดภัยง่าย...สไตล์สิงห์นักบิด

ปลอดภัยง่าย...สไตล์สิงห์นักบิด


"หนังหุ้มเหล็ก" คำเปรียบเปรยถึงการเดินทางสัญจรด้วยรถจักรยานยนต์ ที่สามารถเข้าใจได้ทันทีถึงความเสี่ยงต่ออันตรายในการขับขี่จากข้อมูลอุบัติเหตุทางการจราจรในแต่ละปีพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเฉลี่ยปีละ ๑๓,๐๐๐ ราย มากกว่า ๘,๐๐๐ ราย เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ โดยผู้เสียชีวิตจะอยู่ในช่วง ๑๕-๔๕ ปี ซึ่งจัดว่าเป็นช่วงอายุของคนวัยทำงานที่เป็นกำลังหลักของประเทศ จึงมีความสำคัญยิ่งที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทุกคนควรจะทราบสาเหตุ และวิธีป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้อย่างถูกต้อง

สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุมี ๔ ประเด็นหลัก คือ

๑. การขับขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาท ไม่เคารพกฎจราจร ไม่สนใจสัญญาณไฟจราจร ขับฝ่าไฟแดง การขับย้อนศร และการขับรถตามคันหน้าในระยะประชิด (ขับจี้ท้าย) ซึ่งการขับจี้ท้ายจัดเป็นพฤติกรรมการขับขี่ที่ไร้มารยาท ทำให้ให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แต่ก็ยังพบเห็นพฤติกรรมประเภทนี้อยู่ทุกท้องถนนทั่วประเทศ

๒. สภาพพื้นผิวจราจรและสิ่งแวดล้อมรอบข้างผู้ขับขี่ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน เช่น ทรายเพียงกำมือเดียวที่ร่วงหล่นอยู่บนถนน ก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากผู้ขับขี่ขับมาด้วยความเร็วสูง หรือมีการเบรกกะทันหัน รวมทั้งรถพ่วงรถบรรทุกที่มักจอดพักข้างทางในเวลากลางคืน โดยไม่ติดสัญญาณไฟกะพริบหรือแผ่นสะท้อนแสงที่ท้ายรถ ก็สามารถทำให้เกิดโศกนาฏกรรมได้ 

๓. การดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นจุดใหญ่ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งแก่ตัวผู้ขับขี่  และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนเดียวกัน ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ขับขี่มีความสามารถในการตัดสินใจต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าน้อยลง ทำให้เกิดความคึกคะนองฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะได้รับบาดเจ็บรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เนื่องจากไม่สามารถป้องกันตนเองในเสี้ยววินาทีที่เกิดอุบัติเหตุได้

๔. การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุถึง ๒ เท่า เนื่องจากในขณะที่ผู้ขับขี่พูดคุยโทรศัพท์นั้น จะมีสมาธิต่อการขับขี่น้อยลง ทำให้จดจำเหตุการณ์ที่มองเห็นได้สั้นลง มีโอกาสที่จะมองไม่เห็นสัญญาณไฟจราจรมากขึ้นเป็น ๒ เท่า การเคลื่อนไหวของดวงตาจะลดลงชั่วขณะ และความสามารถในการบังคับรถหักเลี้ยว สิ่งกีดขวางก็จะต่ำลงเช่นกัน

การป้องกัน 
เหตุผลจากข้อดีของรถจักรยานยนต์ที่เป็นพาหนะขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนตัวไปได้แม้ในยามที่การจราจร ติดขัด ช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางไปได้มาก บวกกับสนนราคาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ต่ำ ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานมาก จึงทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความนิยมมาก ไม่ว่าจะเป็นในตัวเมืองหรือชนบท  หากจะมองในมุมกลับกัน รถจักรยานยนต์ก็มีข้อเสียด้านการทรงตัว เนื่องจากมีเพียง ๒ ล้อ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจกับการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดจากรถจักรยานยนต์ ดังต่อไปนี้
 

๑. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จะต้องไม่ขับรถเร็วเกิน กว่ากฎหมายกำหนดและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ต้องมีความรู้เรื่องการขับรถ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมทั้งมีมารยาทในการขับขี่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ตนเองและเพื่อนร่วมทาง

๒. สภาพรถจักรยานยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพรถอยู่เสมอ อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องมีความพร้อมเมื่อออกสู่ท้องถนน เช่น เบรกมือ เบรกเท้า ไฟสูง ไฟต่ำ ไฟเบรก ไฟเลี้ยว แตรสัญญาณ ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ชำรุดจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

๓. สภาพผิวเส้นทางที่ใช้ในการสัญจร ต้องอยู่ในสภาพที่ได้รับการบำรุงรักษา ซ่อมแซมอยู่เสมอ เครื่องหมายจราจรต้องติดตั้งไว้ให้มองเห็นได้ชัดเจน

๔. เจ้าพนักงานตำรวจจราจร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการจราจรบนท้องถนน จะต้องดำเนินการจับกุมอย่างจริงจัง ยุติธรรมและเสมอภาค นอกจากนี้ ต้องพยายามประชาสัมพันธ์ เพื่อบอกกล่าวให้ผู้ขับขี่ได้เข้าใจเป้าหมายของการลดอุบัติเหตุอย่างดีด้วย

เปิดไฟ...ใส่หมวก
"เปิดไฟ...ใส่หมวก" ช่วยลดอุบัติเหตุได้จริงหรือ?

การเปิดไฟหน้ารถเวลากลางวัน เป็นการเพิ่มจุดสังเกตให้ผู้อื่นมองเห็นรถจักรยานยนต์ของเราได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันจะสามารถมองเห็นรถจักรยานยนต์ที่เปิดไฟหน้าได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็นการขับสวนทางกันหรือขับมาด้านหลัง การเปิดไฟหน้ารถในเวลากลางวันจะทำให้ผู้ขับขี่ร่วมท้องถนนมองเห็นไฟรู้ถึงทิศทางการขับขี่ของรถจักรยานยนต์ ได้ทันทีด้วยการสังเกตสีของไฟ หากไฟเป็นสีขาวแสดงว่ารถคันนั้นกำลังเคลื่อนที่เข้ามาหา หากไฟเป็นสีแดงแสดงว่ารถคันนั้นกำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน

การสวมหมวกนิรภัย หากผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยที่ได้รับมาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะทำให้ศีรษะของผู้ขับขี่ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนโดยตรงกับผิวถนน  เพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นได้ 

ข้อมูลสื่อ

328-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549
รายงานพิเศษ
เสกสรร หวังใจสุข