• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สำลักสิ่งแปลกปลอมกรณีเม็ดลำไยติดคอเด็ก

สำลักสิ่งแปลกปลอมกรณีเม็ดลำไยติดคอเด็ก


จากอดีตถึงปัจจุบัน ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับเกี่ยวกับการสำลักสิ่งแปลกปลอมของเด็กเล็กหลายเหตุการณ์ เช่น

"กินไปคุยไป อาจสำลักถึงตาย"
"หนูน้อยวัย ๑ ขวบ กลืนกระดุมติดหลอดลม เสียชีวิต"
"บะหมี่มรณะ ติดคอตาย อุดหลอดลม-ชัก"
"เมล็ดถั่วติดคอเด็ก ๓ ขวบ ยังไม่รู้สึกตัว"
"เหรียญสลึง-ห้าสิบสตางค์ติดคอทารกน้อยรอดปาฏิหาริย์"
"สธ.ห้ามผลิตหรือจำหน่ายเยลลี่"
"เด็ก ๑๑ เดือนเม็ดลำไยติดคอหมดสติ สาหัส"

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น เพราะล่าสุด ก็คือ
"หนูน้อยเม็ดลำไยติดคอ เสียชีวิตแล้ว"

กรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ปกครองให้ลูกชายวัย ๑๑ เดือนอยู่ตามลำพังกับพี่สาววัย ๙ ขวบ และพี่สาวป้อนลำไยให้น้องชาย...น้องชายวัย ๑๑ เดือนกลืนเม็ดลำไยลงไปติดคอจนหมดสติ พ่อนำส่งโรงพยาบาลก็อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น แม้แพทย์จะปั๊มหัวใจกระทั่งกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง แต่...ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว นี่ไม่ใช่รายสุดท้าย...ที่เสียชีวิตจากสิ่งแปลกปลอม อุดตันทางเดินหายใจ แต่ละปีพบว่ามีเด็กและผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต) เสียชีวิตประมาณ ๘๐ ราย สิ่งแปลกปลอมที่เป็นสาเหตุให้สำลักอาหารหรือวัสดุอุดตันทางเดินหายใจ ได้แก่ ถั่ว เมล็ดผลไม้ เช่น เม็ดน้อยหน่า มะขาม ละมุด ลำไย ลิ้นจี่ พุทรา เงาะ ไส้กรอก ลูกชิ้น ลูกอม เป็นต้น นอกจากนี้ชิ้นส่วนของเล่นและเม็ดพลาสติกกลมชนิดต่างๆ
      
การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายเบื้องต้น คือ การแยกสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า ๓.๑๗ x ๕.๗๑ เซนติเมตร ซึ่งจัดเป็นของอันตรายและจะต้องแยกให้พ้นจากเด็กอายุน้อยกว่า ๕ ขวบ จำพวก กระดุม เมล็ดผลไม้ เหรียญสลึง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรสอนให้เด็กกินอาหารช้าๆ ค่อยๆ เคี้ยว และขณะกินอาหารไม่ควรวิ่งเล่น หรือเล่นหัวเราะ ข้อสำคัญอย่าป้อนผลไม้ที่มีเมล็ดแก่เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นอัมพาตควรนำเมล็ดออกเสียก่อน
      
สังเกตได้อย่างไร
การสังเกตว่าเด็กสำลักสิ่งแปลกปลอมดูได้ ดังนี้ พบได้ขณะกินอาหารหรือป้อนผลไม้จะมีอาการสำลัก ไอ พูดไม่ออกหรือหายใจลำบากขึ้นมาทันทีทันใด ถ้าสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ที่กล่องเสียง (ใต้คอหอย) จะทำให้มีอาการเสียงแหบ หายใจเสียงดังครู้ปคล้ายกับคนที่เป็นคอตีบ ถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่จนปิดกั้นทางเดินหายใจ จะมีอาการหน้าเขียว เล็บเขียว หากช่วยไม่ทันภายใน ๔ นาทีสมองจะตาย หมดสติ และตายในเวลารวดเร็ว
      
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการสำลักสิ่งแปลกปลอมติดคอ ถ้ายังไอได้แรงๆ พูดได้ และหายใจเป็นปกติ  ไม่ต้องทำอะไร แต่ควรรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที อย่าพยายามให้ความช่วยเหลือใดๆ (เช่น ใช้นิ้วล้วงคอเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก) เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนที่ลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ หน้าเขียว เล็บเขียว ไอไม่ออก พูดไม่ออก ควรรีบให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
      
๑. กรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี
ก. ผู้ใหญ่และเด็กโต ใช้วิธี "รัดท้องอัดยอดอก" โดย

(๑) ผู้ช่วยเหลือยืนข้างหลังผู้ป่วย ใช้แขน ๒ ข้างโอบรอบเอวผู้ป่วย

(๒) ผู้ช่วยเหลือกำหมัดข้างหนึ่งวางลงบนบริเวณเหนือสะดือผู้ป่วยเล็กน้อย (ภาพที่ ๑)

(๓) ผู้ช่วยเหลือใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วทำการอัดเข้าท้องแรงๆ เร็วๆ ขึ้นไปข้างบน (ทำคล้ายกับจะพยายามยกตัวผู้ป่วยขึ้น)

(๔) อัดแรงเข้าท้อง ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยจะหมดสติ

หมายเหตุ สำหรับคนอ้วนหรือหญิงตั้งครรภ์ ให้ทำการช่วยเหลือคล้ายๆ กัน แต่ควรวางมือตรงตำแหน่งที่สูงกว่าคนทั่วไป คือ วางตรงลิ้นปี่ และอัดแรงเข้ายอดอกแทน (ภาพที่ ๒)

กรณีอยู่ตามลำพังไม่มีผู้ช่วยเหลือ ให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง ดังนี้

(๑) กำหมัดข้างหนึ่งวางตรงเหนือสะดือ (ภาพที่ ๓)

(๒) ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้ แล้วก้มตัว ให้มือพาดขอบแข็งๆ (เช่น พนักเก้าอี้ ขอบอ่างล้างมือ)

(๓) ดันหมัดอัดเข้าท้องในลักษณะดันขึ้นข้างบน ทำซ้ำๆ หลายๆครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนกว่าผู้ป่วยหมดสติ

ข. สำหรับทารกอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ ให้ทำการช่วยเหลือ ดังนี้

(๑) จับทารกนอนคว่ำบนแขน ให้ศีรษะต่ำลงเล็กน้อย

(๒) ใช้ฝ่ามือตบลงตรงกลางหลังของทารก (ระหว่างกลางของสะบัก ๒ ข้าง) เร็วๆ ๔ ครั้ง (ภาพที่ ๔)

(๓) ถ้าไม่ได้ผล จับทารกนอนหงายบนแขนให้ศีรษะต่ำแล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางบนกระดูกลิ้นปี่ แล้วกดหน้าอกลง (สักครึ่งถึง ๑ นิ้ว) เร็วๆ ๔ ครั้ง (ภาพที่ ๕)

(๔) ถ้าไม่ได้ผล ให้ทำการ "ตบหลัง" ๕ ครั้ง สลับกับ "กดหน้าอก" ๕ ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุด หรือทารกหมดสติ

๒.  กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ให้ทำการช่วยเหลือ ดังนี้

(๑) จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น

(๒) เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยใช้มือยกคางขึ้น และกดศีรษะลง (ภาพที่ ๖)

(๓) ตรวจในช่องปาก ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอมชัดเจน ให้ใช้นิ้วชี้ค่อยๆ เขี่ยและเกี่ยวออกมา แต่ต้องระวังอย่าทำแรงหรือลึกเกินไป อาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดลึกเข้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดกับเด็กเล็ก (สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า ๘ ขวบ ถึงแม้มองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมก็ให้ลองใช้นิ้วชี้แยงเข้าไปตามด้านข้างกระพุ้งแก้มจนถึงข้างคอหอย แล้วทำการเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมดู วิธีนี้ห้ามทำในเด็กต่ำกว่า ๘ ขวบ) (ภาพที่ ๗)

(๔) ถ้าเกี่ยวไม่ได้ ให้ทำการช่วยหายใจโดยการเป่าปาก ๒ ครั้งๆ ละ ๑วินาที ถึง ๑ วินาทีครึ่ง (ภาพที่ ๘)

(๕) แล้วทำการรัดท้องอัดยอดอก ๖-๑๐ ครั้ง ในท่านอนหงาย (สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า ๑ ขวบ) (ภาพที่ ๙)

หรือทำการตบหลัง ๔ ครั้ง สลับกับกดหน้าอก ๔ ครั้ง (สำหรับทารกอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ)

(๖) ตรวจดูช่องปาก ทำการเขี่ยและเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมออก (ตามข้อ ๓)

(๗) ถ้าสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก ให้ทำตามข้อ (๔) ถึง (๖) ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

(๘) ในกรณีที่หัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรไม่ได้) ให้ทำการเป่าปาก และนวด หัวใจแทน จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล (การนวดหัวใจโดยการกดหน้าอก อาจช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้ อย่าลืมคอยตรวจเช็กช่องปากตามข้อ ๓ เป็นระยะ) 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

328-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549