ไข้ทรพิษ
โรคไข้ทรพิษนี้นับว่ามีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้ง ๒ พระองค์....”
ดังนั้น หากจะสันนิษฐานกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะเสด็จสวรรคตจากการประชวรด้วยไข้ทรพิษมากกว่าจากโรคอื่นๆ เพราะโรคไข้ทรพิษในสมัยนั้นพบบ่อยมาก
ประวัติศาสตร์ยังจารึกว่าโรคนี้ยังได้คร่าชีวิตราชวงศ์หลายพระองค์คือ ราชินีแมรี่ที่ ๒ แห่งอังกฤษ จักรพรรดิโยเซฟที่ ๑ แห่งออสเตรีย กษัตริย์ลูอิสที่ ๑ แห่งสเปน ซาร์ปีเตอร์ที่ ๒ แห่งรัสเซีย ราชินีอัลริคา เอเลโอนอราแห่งสวีเดน และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ แห่งฝรั่งเศส
“ไข้ทรพิษ” หรืออีกชื่อหนึ่งที่ฟังคุ้นเคยกว่าคือ “ฝีดาษ” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า smallpox. เป็นโรคที่มีมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เชื่อว่าเริ่มพบในมนุษย์ตั้งแต่ยุค ๑๐,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล มีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคนี้ เฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (คำว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๑๙๐๑ และสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๐๐) เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษ ๓๐๐-๕๐๐ ล้านคน
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคฝีดาษมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อทุกชนิดรวมกันเสียอีก
อาการของไข้ทรพิษหรือฝีดาษมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เมื่อยล้า ปวดหลังมาก บางครั้งอาจมีอาเจียน ท้องเสีย หรือทั้ง ๒ อย่าง ใน ๒-๓ วันต่อมาจะมีจุดแดงขึ้นที่ใบหน้า มือ แขน และลำตัว ภายใน ๑-๒ วัน ตุ่มหลายตุ่มจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มหนอง ต่อมาจะเกิดสะเก็ดและแผลเป็นตามมา พบว่าผู้ป่วยโรคฝีดาษร้อยละ ๓๐ จะเสียชีวิต และร้อยละ ๖๕-๘๐ จะเกิดแผลเป็นหลุมบ่อขนาดลึกตามผิวหนังและมักเป็นเด่นชัดที่ใบหน้า
พ.ศ.๒๕๑๙ องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ให้ปลูกฝีเพื่อสกัดกั้นโรคนี้อย่างเต็มที่จนสามารถขจัดโรคฝีดาษให้หมดไปได้
ขณะนี้จึงจัดว่าโรคฝีดาษเป็นโรคติดเชื้อเพียงอย่างเดียวที่มนุษยชาติสามารถเอาชนะ คือกำจัดมันได้อย่างสิ้นซาก
ผู้ป่วยคนสุดท้ายที่เป็นฝีดาษ (ที่เกิดในธรรมชาติ) พบที่ประเทศโซมาเลียเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ คือ Ali Moallin ซึ่งรอดชีวิตแต่ก็มี ‘หน้าเพรียง’ เช่นเดียวกับจรกา แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าเกิดอุบัติเหตุในห้องทดลองในสหราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๒๑ ทำให้ช่างภาพทางการแพทย์ชื่อเจเน็ต ปาร์กเกอร์ ติดเชื้อโรคฝีดาษและเสียชีวิต
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ศึกษาโรคนี้ได้ประชุมกันในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒ และสรุปว่าโรคฝีดาษหมดจากโลกแล้ว และในปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๕๒๓ World Health Assembly ได้ยืนยันและรับรองว่าโรคฝีดาษสูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว และได้ยกเลิกการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ
อย่างไรก็ตาม ยังมีห้องปฏิบัติการอยู่ ๒ แห่งที่ยังเก็บตัวอย่างปริมาณเล็กน้อยของเชื้อตัวนี้ไว้ และเป็นที่เกรงกันว่าอาจเกิดการก่อการร้ายด้วยสารชีวภาพโดยอาศัยเชื้อตัวนี้
สำหรับประเทศไทย มีบันทึกว่าฝีดาษระบาดครั้งสุดท้าย พ.ศ.๒๕๐๔ กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ยกเลิกการปลูกฝีแก่ชาวบ้านทั่วไปตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒
จึงเห็นได้ว่าโรคผิวหนังหลายอย่างที่กล่าวถึงในบทความชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคฝีดาษ โรคสิว โรคเริม โรคละลอก ล้วนเป็นโรคผิวหนังที่พบมาแต่สมัยพุทธกาล และคงยังมีให้เห็นในปัจจุบัน จะมีแต่โรคฝีดาษเพียงอย่างเดียวที่มนุษย์เอาชนะโรคนี้ไปได้แล้ว
- อ่าน 5,438 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้