• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอชาวบ้านเป็นได้ทุกที่


วันหยุดสุดสัปดาห์ ผมนิยมไปเดินวิ่งออกกำลังที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน ไม่นานก็รู้จักมักคุ้นกับผู้คนมากหน้าหลายตา

หลายคนถือโอกาสถามผมเกี่ยวกับโรคประจำตัวของตัวเองและญาติมิตร เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น 
บ้างก็ขอความรู้เกี่ยวกับการกินอาหาร ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ และระบบการแพทย์ทางเลือก (เช่น การฝังเข็ม โยคะ ชีวจิต การสวนกาแฟ)
บ้างก็ควักใบบันทึกผลการตรวจสุขภาพที่เพิ่งไปทำที่โรงพยาบาลขึ้นมาให้ผมช่วยแปลผล บางครั้งพบคนเป็นลมคาสวนสาธารณะ ก็ถูกตามให้ไปช่วยปฐมพยาบาล

คราวหนึ่งนั่งเครื่องบินไปต่างจังหวัด ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ข้างๆ พอรู้ว่าผมเป็นหมอ ก็ขอปรึกษาเรื่องโรคความดันเลือดสูงที่เขาเป็น ก็ต้องให้ความกระจ่างแก่เขา 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจผิดของเขาที่คิดว่าโรคนี้จะต้องมีอาการปวดศีรษะเสมอไป พอไม่ปวดก็ไม่ยอมหาหมอ ทำให้รักษาไม่ต่อเนื่อง ก็ต้องย้ำเตือนเขาว่า 
โรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ จำเป็นต้องหมั่นให้หมอตรวจวัดความดัน จึงจะบอกได้ว่าความดันปกติหรือไม่

คราวหนึ่งไปชมวัดแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด มีโอกาสสนทนากับท่านเจ้าอาวาส
คุยไปคุยมาก็เลยต้องให้คำปรึกษาแนะแนวเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคเบาหวานที่ท่านเป็นมาหลายปี แต่ยังควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้

บางครั้งไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหาร ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องทำหน้าที่เป็น “หมอชาวบ้าน” 
เช่น ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่าตัวเขาเพิ่งกลับจากโรงพยาบาล หมอตรวจพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี 
หมอไม่ได้นัดให้ไปตรวจซ้ำและไม่ได้บอกว่าจะทำการรักษาอย่างไรต่อไป เขาก็เลยถือโอกาสขอความรู้จากผม เมื่อซักไซ้ละเอียด 
จึงทราบว่านิ่วที่เป็นนั้นมีขนาดเล็ก โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร เพียงแต่ไปตรวจเช็กสุขภาพประจำปี แล้วหมอบังเอิญตรวจพบเข้า 
จึงให้ความมั่นใจแก่เขาว่าลักษณะเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออก หรือให้ยารักษาแต่อย่างใด ปล่อยไว้ก็ไม่มีอันตรายอะไร

แม้เมื่อครั้งหนึ่งนำรถเข้าอู่ซ่อม แม่เจ้าของอู่อายุ ๘๐ ปี ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย กำลังนอนแบ็บซึมเซาไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ 
เขาปรึกษาว่าจะพาแม่ไปอยู่โรงพยาบาลดีไหม ผมก็บอกเมื่อเป็นโรคถึงระยะสุดท้าย ไม่ควรพาไปโรงพยาบาล.....(ข้อความหายไป).........หมอก็คงไม่ทำอะไรให้ 
เพียงแต่ให้การดูแลแบบประคับประคอง แล้วให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ อาจมีปัญหาที่ต้องมีญาติไปเฝ้าและช่วงนาทีที่สิ้นลมหายใจ อาจไม่มีญาติอยู่พร้อม 
หากให้แม่อยู่บ้าน ก็คาดว่าเพียงไม่เกิน ๒-๓ วัน ก็คงจะจากไปอย่างสงบ ในที่สุดเขาก็เลือกให้แม่สิ้นลมที่บ้าน ท่ามกลางอ้อมกอดอันอบอุ่นของญาติที่อยู่กันพร้อมหน้า

ตั้งแต่จบเป็นแพทย์ออกไปทำงานในชุมชนเมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว ผมมีความรู้สึกว่าประชาชนมีความต้องในการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างมาก
แต่ขาดโอกาส เวลาไปหาหมอ หมอก็ไม่มีเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยน คนไข้ก็ไม่กล้าถามหมอ จึงได้แต่รับยามากิน และเก็บข้อสงสัยไว้ในใจ

ในยุคนั้นมีแนวคิดว่าชาวบ้านต้องพึ่งการดูแลจากหมอแต่ถ่ายเดียว ไม่ควรดูแลรักษากันเอง จึงขาดการถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน 
ในขณะเดียวกันชาวบ้านมักจะดิ้นรนรักษาตนเองตามความเชื่อและประสบการณ์ที่บอกกล่าวกันในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง 
บางครั้งจึงมีการดูแลตนเองอย่างผิดๆ และเป็นอันตราย

เมื่อ “หมอชาวบ้าน” ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพ ได้ชูคำขวัญ “หันมาหาการรักษาตนเอง” ทวนกระแสความคิดในยุคนั้น 
มุ่งกระจายความรู้ให้ประชาชนนำไปดูแลรักษาตนเองอย่างถูกต้องและประหยัด

การดูแลรักษาตนเอง ครอบคลุมตั้งแต่วิธีส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี วิธีป้องกันโรค เทคนิคการรักษาพยาบาลอย่างง่ายๆ 
การปฏิบัติตัวเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ รวมทั้งการเผชิญกับระยะสุดท้ายของชีวิต และเตรียมตัวตายอย่างมีคุณภาพ (ศักดิ์ศรี)

เมื่อประชาชนสามารถดูแลรักษาตนเองอย่างถูกต้อง ก็กลายเป็น “หมอชาวบ้าน” นั่นเอง

เมื่อหมอเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาชาวบ้านให้รู้จักการดูแลรักษาตนเอง หมอแบบนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็น “หมอชาวบ้าน” นั่นเอง

“หมอชาวบ้าน” จึงอยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน

“หมอชาวบ้าน” มีอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน สวนสาธารณะ วัด โบสถ์ สุเหร่า ลานกีฬา ตลาดสด บนท้องถนน และทุกที่ที่มีคนอยู่


 

ข้อมูลสื่อ

324-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ