• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะ ยารักษา โรคอวิชชา

โยคะ ยารักษา โรคอวิชชา

ในช่วงนี้ ใครไม่พูดถึงโยคะดูออก จะเป็นเรื่องเชยสักหน่อย ขนาดโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ตั้งหลายผลิตภัณฑ์ยังใช้โยคะเป็นฉากในการเดินเรื่องเลย อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความเข้าใจ คนทั่วไปก็ยังมีความรับรู้ต่อโยคะคลาดเคลื่อนอยู่มาก สังเกตได้ว่า ทุกวันนี้คนที่สนใจมาเรียนโยคะจำนวนมากก็ยังมีความ เข้าใจเดิมๆ รับรู้เพียงว่าโยคะเป็นเพียงการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง

ดังที่ได้นำเสนอทางคอลัมน์โยคะ ลงในนิตยสารหมอชาวบ้านมาโดยตลอด โยคะเป็นศาสตร์ที่กว้างและลึกซึ้งกว่าการออกกำลังกายมาก ศาสตร์โยคะนี้ ลำพังตัวมันเองมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งวิถีชีวิตเลยทีเดียว เรียกว่าอาศัยศาสตร์โยคะเพียงอย่างเดียว มนุษย์คนหนึ่งก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เพียงเท่านั้น ที่สำคัญก็คือ เมื่อศึกษาศาสตร์นี้เพิ่มมากขึ้น จะพบว่าโยคะยังเป็นเครื่องมือการดำเนินชีวิตที่สูงค่ากล่าวคือ สามารถตอบสนองเป้าหมายจริงแท้ของความเป็นมนุษย์ได้อีกด้วย

จากปัญหาสุขภาพ มาถึงปัญหาสุขภาวะ
ที่ผ่านมา เมื่อเอ่ยคำว่าสุขภาพ คนมักจะคุ้นกับการมุ่งไปแต่ เรื่องทางกายภาพ มองปัญหาสุขภาพ ก็คือ ความเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น  ซึ่งเป็นภาพสะท้อนทัศนคติของการมองแบบแยกส่วน แต่ทุกวันนี้ สังคมเริ่มจัดปรับทัศนคติเป็นการมองแบบองค์รวมมากขึ้น มีการ  ใช้คำว่า "สุขภาวะ" ซึ่งมีความ หมายกว้างกว่ามาแทนคำว่าสุขภาพ ประชาคมโลกมีความเห็นพ้องต้องกัน จนองค์การสหประชาชาติได้ ปรับปรุงนิยามเสียใหม่ ระบุว่า สุขภาวะนั้นไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่ร่างกาย แต่กินความครอบคลุม ไปถึงเรื่องของจิตใจ สังคม และปัญญาด้วย (ในที่นี้ขอใช้คำว่า ปัญญา แทนคำว่า จิตวิญญาณ ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า spirit ตามที่พระธรรมปิฎก ได้กรุณาชี้แนะไว้)
กล่าวคือ ในอดีตนั้น การจัดการปัญหาสุขภาพ มนุษย์มุ่งเน้นไปที่ต้นตอของปัญหาก็คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ครั้นในปัจจุบันการจัดการปัญหาสุขภาวะไม่เพียงจัดการกับเชื้อโรค ซึ่งเป็น ต้นเหตุของปัญหาทางกายเท่านั้น แต่ยังต้องมุ่งจัดการต้นตอของปัญหา ทางจิต ทางสังคม ทางปัญญาด้วย  ซึ่งโยคะระบุว่าต้นเหตุของปัญหาสุขภาวะก็คืออวิชชา

อวิชชา ต้นตอของปัญหาสุขภาวะ
ศาสตร์โยคะมีมากว่า ๕,๐๐๐ ปี ตำราโยคะเล่มแรกคือ ปตัญชลี-โยคะสูตร (Patanjali Yoga Sutra, PYS) ซึ่งรวบรวมขึ้นเป็น ตำรามากว่า ๒,๕๐๐ ปี ได้พูดถึง อวิชชาว่า "อวิชชา คือ ความเห็น ว่า เที่ยง บริสุทธิ์ และเป็นสุข ใน สิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่บริสุทธิ์ และเป็นทุกข์" ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอวิชชาก็คือ ความเห็นที่คลาดเคลื่อน ผิด ไปจากความจริงแท้

ทั้งโยคะสูตรยังระบุว่า "อวิชชา คือบ่อเกิดแห่งความปิดบังซ่อนเร้น ความอ่อนแอ อุปสรรค ความไม่สม่ำเสมอ" อันนำมาซึ่งความไม่สมดุล ความผิดปกติของจิตใจ

หากเราจะกล่าวโดยสรุป ศาสตร์แห่งโยคะนั้น มีแก่นสำคัญ อยู่ที่ "เพื่อลดการปรุงแต่งของจิต" กล่าวคือ เมื่อการปรุงแต่งของจิตดับสิ้นลงแล้ว อวิชชาก็หายไป "ครั้นเมื่ออวิชชาหายไป ปัญญาก็เกิด" ส่งผลให้สุขภาพจิตดี เมื่อสุขภาพจิตของสมาชิกในสังคมดี สังคมก็ร่มเย็น นอกจากนั้น โยคะยังเป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญต่อจิต ว่ามีอิทธิพลเหนือกาย ดังนั้น เมื่อจิตแข็งแรง ก็ย่อมส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ กล่าวคือ ด้วยการกำจัดเสียซึ่งอวิชชา ก็จะได้มาซึ่งสุขภาวะนั่นเอง

อาการของโรคอวิชชากับมรรค ๘ แห่งโยคะ มรรคเพื่อรักษาโรคอวิชชา
ดังได้กล่าวในตอนต้นว่า โยคะเป็นศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ ในตัว กล่าวคือ นอกจากจะได้อธิบายถึงปัญหา คืออวิชชาแล้ว ก็ยังระบุถึงอาการของโรคว่า เมื่อจิตเกิดการปรุงแต่งก็จะปรากฏอาการออกมาได้แก่ "ทุกข์ โทมนัส ความสั่นเทิ้มทางกาย และลมหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ" ที่สำคัญ โยคะสูตรยังบอกแนวทางการรักษา แนะวิธีปฏิบัติ ว่า "โยคะเพื่อสร้างความมั่นคงภายใน สำหรับสมาธิและลดอวิชชา" โดย  ระบุตัวยาไว้ชัดเจน ได้แก่ "วิถีแห่งโยคะ ซึ่งประกอบ ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
1. ยามะ 
2. นิยามะ 
3. อาสนะ 
4. ปราณยามะ
5. ปรัทยาหาระ 
6. ธารณะ
7. ฌาน
8. สมาธิ"

ดังนั้น การฝึกโยคะก็คือการป้องกัน และจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นจากอวิชชานั่นเอง ทั้งโยคะยังยอมรับในข้อจำกัดของโยคะเอง โยคะเชื่อว่า ทุกข์ โทมนัสนั้น หากเกิดแล้วเราไม่สามารถทำอะไรมันได้ (ได้แต่ปล่อยให้มันค่อยๆ คลี่คลายตัวเองลง) การจัดการทุกข์ โทมนัส สิ่งที่โยคะทำได้คือ ป้องกัน ดังที่ระบุไว้ว่า "ทุกข์และโทมนัส  ที่ยังไม่เกิดนั้น สามารถหลีกเลี่ยงได้"

ยามะ นิยามะ ยารักษาอาการทุกข์ โทมนัส
คนเป็นจำนวนมากเข้าใจว่า การฝึกโยคะ หมายถึงการฝึกท่าโยคะอาสนะ หมายถึงการดูแลตัวเองทางกายภาพเท่านั้น ไม่เป็น ความจริงเลย เบื้องแรกของการฝึกโยคะ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของการฝึกโยคะทุกชนิด คือ ยามะ (ศีล ๕) และนิยามะ (วินัย ๕) ต่างหาก
ในยามะ ๕ ข้อที่พึงกระทำนั้น ประกอบด้วย 
1. อหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งทางด้านกาย วาจา ใจ 
2. สัตย์ คือ การถือสัจจะเป็นสำคัญ
3. อัสเตยา คือ การไม่นำของของคนอื่น มาเป็นของตน          
4. พรหมจรรย์ คือ การเดินไปบนหนทางแห่งพรหม หมายถึงรักษาความประพฤติของตนให้บริสุทธิ์หมดจดในทุกๆด้าน ไม่ใช่เพียงเรื่องทางเพศเท่านั้น
5. อปริเคราะห์ คือการไม่ถือครองวัตถุเกินความจำเป็น 

นิยามะ ๕ นั้น ประกอบด้วย
1.เศาจะ คือ การหมั่นรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย ใจ 
2. สันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่ ตนมีอยู่
3. ตบะ  คือฝึกความอดทน 
4. สวัสดิยายะ  คือ หมั่นศึกษาทั้ง ศึกษาโยคะศาสตร์และศึกษาตนเอง
5. อิศวรปณิธาน คือมีศรัทธา (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความงมงาย)

ปตัญชลีได้อธิบายถึงผลของ การถือปฏิบัติ มรรคทั้ง ๒ ดังนี้
"ผลของอหิงสา (ไม่เบียดเบียน) คือ ปราศจากซึ่งศัตรู"
"ผลของสัตย์ คือ ได้รับแต่ ผลบุญ จากคำพูดของเรา"
"ผลของอัสเตยา (ไม่ขโมย) คือ จะมีแต่คนนำของมีค่ามามอบ ให้"
"ผลของพรหมจรรย์ (ปฏิบัติ ตนชอบ) คือ มีพลานามัยแข็งแรง สมบูรณ์"
"ผลของอปริเคราะห์ (ไม่ถือครองวัตถุ) คือ มีชีวิตที่อิ่มเต็มไป ด้วยคุณค่า"
"ผลของเศาจะ (หมั่นรักษาความสะอาด) คือ เบื่อหน่ายร่าง กายของตนเอง และไม่ปรารถนาความสุขจากการสัมผัสโดยเพศตรงกันข้าม " ทั้งยังสามารถ "สำรวมอินทรีย์ได้อย่างหมดจด"
"ผลของสันโดษ คือ ได้รับความปีติสุขสูงสุด"
"ผลของตบะ (ฝึกความอดทน) คือ อวัยวะ กลไกต่างๆ ภายในร่างกาย ทำงานได้อย่างสมบูรณ์"
"ผลของสวัสดิยายะ (หมั่นศึกษา) คือ ได้พบสัจธรรมจริงแท้"

และ "ผลของอิศวรปณิธาน (มีศรัทธา) คือ ได้สมาธิอันสมบูรณ์"

ปตัญชลียกยามะและนิยามะไว้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังจะเห็นว่าได้อธิบายความไว้โดยละเอียด และหากเราพิจารณาให้ดี ปัญหาสุขภาวะทั้งหลายของเราในปัจจุบันนี้สามารถป้องกันได้ด้วย ยามะ นิยามะ แค่ ๑๐ ข้อนี้เอง

อาสนะ ปราณยามะ ยารักษาอาการทางกาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รักษาศีล มีวินัยเคร่งครัด บางคนก็อาจจะยังมีปัญหาทางกายภาพได้ ซึ่งโยคะสูตรก็ได้แนะนำเทคนิคในการปฏิบัติเพื่อบรรเทาอาการทางกายด้วย ดังที่ว่า "ให้ทำอาสนะด้วยความนิ่งสบาย"  "ด้วยความผ่อน คลาย และมีสติ"  "ความสั่นเทิ้มทางกายก็หมดไป"  และ  "ปราณยามะคือการฝึกลมหายใจเข้า ลมหายใจออกที่สม่ำเสมอ"   "จากนั้นม่านที่บดบังแสงสว่างภายในก็อันตรธานไป"

ผลการวิจัยของการฝึกโยคะ ที่มีต่อร่างกายผู้ฝึก
โยคะสูตร เป็นตำราแม่บทที่กล่าวถึงคุณค่าแห่งโยคะโดยพิสดาร แต่สำหรับการเผยแพร่โยคะในโลกปัจจุบัน การอธิบายผลของโยคะอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการสนับสนุนจากงานวิจัย ดูจะเป็นเรื่องจำเป็นด้วยเช่นกัน เมื่อปลาย ปี พ.ศ.๒๕๔๔ โครงการเผยแพร่โยคะเพื่อสุขภาพ ได้จัดอบรมผู้สนใจจะเป็นครูสอนโยคะ ในการอบรมนั้น ทางสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย  รศ.ดร.กัลยา กิจบุญชู หัวหน้าทีม ได้เข้ามาช่วยทำวิจัยในประเด็นเรื่อง "ผลของการฝึกโยคะที่มีต่อร่างกาย ผู้ฝึก" เป็นการทำวิจัยอย่างเป็นทาง การ ใช้หลักวิชาการทางวิจัยเต็มรูปแบบ เมื่อทางทีมวิจัยเก็บข้อมูล ไปได้เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาอีกกว่า ๗ เดือน จึงสรุปผลการวิจัยออกมาได้ ๑ เล่ม หนา ๕๒ หน้า ซึ่ง ได้สรุปไว้ในคอลัมน์เรื่องน่ารู้ เรื่อง การฝึกโยคะดีจริงหรือ? หน้า ๒๙

ผลวิจัยของการฝึกโยคะต่อจิตใจของผู้ฝึก
พร้อมๆ กันกับที่ทางสถาบันวิจัยโภชนาการทำวิจัย ศึกษาผลของการฝึกโยคะต่อร่างกาย รศ.ดร. ทิพาวดี เอมะวรรธนะ จากภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มา ช่วยโครงการฯ ทำวิจัยผลการทำโยคะ ต่อด้านจิตใจของผู้ฝึก กล่าวคือ ในกลุ่มนักเรียน ๓๐ คนนี้ ที่ ได้ฝึกปฏิบัติโยคะสัปดาห์ละ ๓ วัน เป็นเวลาต่อเนื่องกัน ๓ เดือน ทีม อาจารย์ทิพาวดีก็ได้แจกแบบสอบ ถามให้ผู้เรียนทำก่อนเริ่มโครงการฯ และให้ผู้เรียนทำแบบสอบถามอีกครั้ง เมื่อโครงการสิ้นสุดลง เพื่อศึกษาว่าผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจหรือไม่ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่พวกเราเชื่อกันหรือไม่อย่างไร โดยมีผลที่น่าสนใจ ดังนี้

จากการเปรียบเทียบสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ ในช่วงก่อน และหลังการฝึกโยคะ พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการโยคะฯ มีสภาวะทางจิตใจและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแทบทุกประเด็น มีถึง ๖ ประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นับว่าโครงการนี้น่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอย่างมาก  ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ๖ ด้านนั้น ได้แก่

  •   การมีจิตใจที่หนักแน่นขึ้น  จากเมื่อก่อนฝึกโยคะที่จิตใจซัดส่าย
  •  การมีสมาธิดีขึ้น
  •  การผ่อนคลาย  ปล่อยวาง
  •  ความสามารถในการพิจารณา ตนเองในเชิงการปรับปรุงพัฒนาตนเอง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง  หรือเพื่อจัดการกับปัญหา  
  •  การมีความรู้ตัว (ใจอยู่กับการกระทำ) มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  •  การมีความขยันในการฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอ

และจากการใช้แบบทดสอบ มาตรฐานบุคลิกภาพ พบว่าผลการ ฝึกโยคะเป็นเวลา ๓ เดือนเศษนี้  ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิก-ภาพในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ ที่มีค่าความน่าเชื่อถือมาก ดังนี้

  •  การตำหนิตนเอง โทษตนเอง (อย่างไม่สร้างสรรค์) น้อยลง
  •  มีศรัทธาในศาสนาเพิ่มสูงขึ้น 
  •  รู้สึกดีต่อสรีรภาพ ร่างกาย ของตนเองมากขึ้น
  •  ความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น 
  •  การควบคุมตนเองดีขึ้น
  •  การมองโลกในทางบวกดีขึ้น  
  •  รู้สึกว่าตนเองมีค่ามากขึ้น (positive self-esteem)

นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยน แปลงที่ดีขึ้นในแง่มุมอื่นด้วย หาก แต่ว่าค่าตัวเลขทางสถิติไม่อาจยืนยัน ได้เต็มปากเต็มคำว่าฝึกโยคะแล้วดีขึ้น แง่มุมที่ว่านี้ได้แก่

  •  ความรู้สึกประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น
  •  ความรู้สึกเก็บกดน้อยลง

ทีมวิจัยของอาจารย์ทิพาวดีได้สรุปและเสนอแนะว่า การฝึกโยคะตามโครงการโยคะเพื่อสุขภาพนี้  ให้ผลในทางการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางจิตใจหลายด้านไปในทางที่ดี ได้แก่ ด้านบุคลิกภาพ  อารมณ์ความรู้สึก การดูแลสุขภาพ อย่างเป็นองค์รวมให้เกิดสมดุล การประสานกันระหว่างร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญมีหลักฐานยืนยันถึงการพัฒนาทางคุณธรรม ศาสนา และจิตวิญญาณหรือปัญญาอีกด้วย แม้ในกลุ่มผู้ที่เคยมีประสบการณ์ฝึกโยคะมาก่อนเข้าโครงการนี้ก็ยังมีการพัฒนาขึ้นไปได้อีก ผู้วิจัย เห็นว่าโยคะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก สมควร ที่จะสนับสนุนให้มีการฝึกอย่างแพร่หลายแก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย และอาจารย์เสนอว่าควรมีการ เรียนการสอนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มชนได้ทุกระดับ

งานวิชาการโยคะที่อินเดีย
คราวนี้มาดูความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับงานวิชาการโยคะที่อินเดีย ประเทศผู้เป็นต้นกำเนิดภูมิปัญญา นี้กันบ้าง พอดีเมื่อปลายปีที่แล้ว ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ สถาบันไกวัลยธรรม (สถาบันโยคะที่มูลนิธิหมอชาวบ้านนำหลักสูตรมาเผยแพร่) จัดการประชุมวิชาการโยคะ ครั้งที่ ๔ ขึ้น เป็นกิจกรรมที่จัดทุก ๔ ปี มีการนำ เสนอผลการวิจัย บทความรวม ๑๗๙ ชิ้น จากทั่วประเทศอินเดีย และจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศไทย เกาหลี สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินาประเทศละ ๑ ชิ้น และจากประเทศกรีซ ๓ ชิ้น มีผู้เข้าร่วมงานกว่า ๖๐๐ คน ทั้งชาว อินเดียเอง ชาติต่างๆ ที่เสนองานวิจัย และยังมีผู้สนใจจากประเทศ อื่นๆ อีก เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น เรียกว่าใหญ่พอสมควร

ในการประชุมวิชาการโยคะครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อไว้คือ "การวิจัยโยคะและการศึกษาเชิงคุณค่า" งานวิจัยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกรอบ ของหัวข้อที่ว่า ในบรรดางานวิจัย ๑๗๙ ชิ้น แบ่งเป็นหมวดหมู่ตาม หัวข้อที่ได้คุยกันมาแต่ต้น ได้ดังนี้


เราได้อ่านงานวิจัยโยคะกับสุขภาพกาย โยคะต่อสุขภาพจิตของไทยไปแล้ว คราวนี้ลองมาอ่าน บทคัดย่อของงานวิจัยกลุ่มสุขภาวะทางสังคมของอินเดียสักชิ้น เป็นงานวิจัยหมายเลข ๗๒ "โยคะกับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุดในองค์กร (รถไฟอินเดีย)" * โดย นายอาร์ เค พาฮาน อดีตผู้จัดการทั่วไป ส่วนเดินรถไฟภาคกลาง

ผู้ที่ซึมซับเอาโยคะเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต จะเบ่งบาน งอกงาม ออกดอกออกผล เป็นประโยชน์ต่อผู้คนรอบๆ ข้าง การนำวิถีโยคะเข้าสู่อุตสาหกรรม นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง พนักงานและผู้บริหาร ซึ่งเป็นข้อมูล จากองค์กรธุรกิจเอกชนขนาดกลาง ที่นำวิถีโยคะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ งานภายในเวลา ๕ ปี องค์กรที่ว่าพัฒนาผลผลิตได้เพิ่มขึ้นกว่า ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ โยคะสร้างสมาธิ ในงานที่กำลังทำอยู่ตรงหน้า นำมาซึ่งพลังสร้างสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน การปรับเปลี่ยนในเชิงบวก นี้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อันนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต ยิ่งอุตสาหกรรมมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด โยคะ ก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพมากขึ้นเพียงนั้น ท่ามกลาง โลกเศรษฐกิจที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงนี้ โยคะได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และในการจัดการแบบเป็นองค์รวม ทั้งโยคะได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นเครื่อง มือที่ดี จากผลสรุปของกระทรวงรถไฟอินเดียระหว่าง ๓ ปีที่ผ่าน มา ซึ่งได้มีการนำโยคะเข้าไปในโรงเรียนฝึกอบรมของกระทรวงรถไฟ เพื่อเสริมสร้างระบบความปลอดภัยของการเดินรถไฟ

ท้ายสุด ขออนุญาตนำเสนอ งานจากกลุ่มโยคะกับสุขภาวะด้าน ปัญญา เป็นบทคัดย่อหมายเลข ๒๓ ของบทความเรื่อง "โยคะ คุณค่า และปัญญา" * โดย รศ. ซี เอส อุทัย กุมาร สถาบันอมฤต เมืองคออิมบาตอร์ อินเดีย

เซ็นโบราณกล่าวว่า "สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตคือ การค้นหาสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต" แต่กลับกลายเป็นว่าเรานั้นเรียน "เรื่องที่ ไม่จำเป็น" จากอนุบาลไปจนวันสุดท้ายของชีวิต เรานั้นแทบจะไม่เคยค้นหาอะไรเพื่อตัวเอง อย่าว่าแต่จะไปแสวงหาสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตเลย เรามีชีวิตที่ผิวเผิน ประดับประดาด้วยเศษด้วยกระพี้ของชีวิต ซึ่งไปทะนงว่ามันคือเป้าหมาย มันคือสุดยอดของชีวิต เราไม่เคยสัมผัสเบื้องลึกของความเป็นมนุษย์ บางทีเราอาจจะไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วยซ้ำ เราเอาแต่แบกอดีต ถูกหลอกหลอนด้วยอดีต ดิ้นรนทะยานอยากไปอย่างไม่สิ้นสุด หวัง ลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ เรากระแทก กระเสือกกระสน กอบโกย ถีบ ปีน แล้วประกาศตนเองว่าประสบความสำเร็จ เราวางแผนตระเตรียม ชีวิตที่จะมีความสุขในวันพรุ่งนี้ ขณะที่พลาดทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ กิจกรรมในชีวิตทั้งหลายล้วนไม่มีอะไรเลย นอกจากความพยายามที่จะหนีจากตัวเองอย่างแทบเสียสติ เราทำโน่นทำนี่ ทำเยอะแยะไปหมดตลอดชั่วชีวิตอย่างไร้สาระ เกิดอะไรขึ้นกับเราและชีวิตของเรา? ทำไมเราจึงมีชีวิตอยู่อย่างที่เป็นอยู่นี้? จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร? อะไรที่จะช่วยเปิดสมองเปิดใจของเราไปสู่สิ่งสำคัญยิ่งในชีวิต? มีกุญแจที่จะเปิดเราไปสู่ด้านของชีวิตที่ถูกลืมหรือไม่? ปัญญา คือ การเริ่มแสวงหาเข้าสู่ภายใน ปัญญาที่ว่านี้มิใช่การปฏิบัติ มิใช่ความเชื่อ ไม่เกี่ยวอะไรกับการทรมานตนเอง (แล้วเข้าใจว่ากำลังฝึกฝน) ไม่ใช่ปรัชญา ไม่เกี่ยวกับองค์กรทางศาสนาใดๆ ไม่เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ทางสังคม ไม่ใช่การกดข่มความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ไม่เกี่ยวกับข้อห้ามทางเพศ ไม่ใช่การสะกดจิตตัวเอง ทั้งไม่ใช่การเล่นกล ไม่ใช่ของขวัญสำหรับผู้สูงศักดิ์ หรือของที่จะ มาต่อรองราคาค่างวด ไม่ใช่การพัฒนาตนเอง ไม่ใช่การสั่งสมบุญ ไม่ใช่การพยายามที่จะลดตัวตน (ซึ่งก็ยังคงเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของความเห็นแก่ตัว) ไม่ใช่นิยาม ไม่ใช่แนวคิด ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าที่สวมห่ม ทั้งมิใช่ศาสนา นิกาย หรืออะไรอย่างนั้น ปัญญาคือความบรรเจิด ความต้องการที่จะค้น จะรู้ จะตระหนัก ถึงตนเอง ธรรมชาติจริงแท้แห่งตน โยคะนำมนุษย์ไปสู่ความบรรเจิดนี้ นำไปสู่ความโหยหาที่จะเข้าใจตนเอง โยคะคือกุญแจที่จะเปิดสมองเปิดใจอย่างหมดสิ้นสู่ความมีอยู่ของตนเอง ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับความมีอยู่ของทุกสรรพสิ่ง โยคะคือเครื่องจุดประกาย โดยมีคุณค่าเป็น ผลพวงที่ติดมากับการค้นหานี้ คุณค่าคือผลได้ของการโหยหาอันยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือความปรารถนาที่จะตระหนักรู้ว่าตนเองคืออะไรอย่างแท้จริง คุณค่าคือผลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากความปรารถนาจะตระหนักรู้ตนเอง กล่าวได้ว่า ปัญญาคือต้นกำเนิด โยคะคือวิถี ขณะที่คุณค่าคือดอก ผลที่เบ่งบาน

บทสรุป
คุณภาพชีวิตของมนุษย์ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก หากพิจารณาทางด้านสุขภาพกายจะเห็นได้ว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ช่วยขจัดปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยทางกายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ปัญหาที่มนุษย์ กำลังเผชิญส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาทางจิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต ปัญหา สังคม และปัญหาจากการขาดปัญญา 

ศาสตร์แห่งโยคะแม้เป็นของ เก่า แต่อุดมไปด้วยคุณค่า โดยเฉพาะทางด้านจิต การศึกษาโยคะ การพยายามทำความเข้าใจโยคะอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นอีกหนทางที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาที่มนุษย์ กำลังเผชิญอยู่ ที่สำคัญ โยคะจะช่วยนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายอันแท้จริง คือ การมีชีวิตที่สว่าง มีชีวิตที่สงบ และมีชีวิตที่ร่มเย็น
1.  Anityasuciduhkhanatmasu nitya suci sukhatmakhyatir avidya PYS II:5
2. Avidya ksetram uttaresam prasupta tanu vicchinno daranam PYS II: 4
3. Yogascittavrttinirodhah PYS I: 2
4. Tad abhavat samyogabhava hanam tad drseh kaivalyam PYS II:25
5. Duhkhadaurmanasyangamejayatvasvasa prasvasa viksepasahabhuvah PYS I:31
6. Samadhibhavanarthah klesatanukaranarthasca PYS II:2
7. Yama niyamasana pranayama pratyahara dharana dhyana samadhaya stavangani PYS II:29
8. Heyam dhukham anagatam PYS II: 16
Abstracts โดย Dr.T.K. Bera เอกสารประกอบการประชุม 4th International Conference on Yoga Research and Value Education, December 28-31,2002. Kaivalyadhama S.M.Y.M. Samiti, India.

ข้อมูลสื่อ

288-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
กวี คงภักดีพงษ์