• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตับอักเสบจากไวรัส

ตับอักเสบจากไวรัส


ชื่อภาษาไทย   ตับอักเสบจากไวรัส ไวรัสลงตับ โรคดีซ่าน
ชื่อภาษาอังกฤษ   Viral hepatitis

สาเหตุ   "ตับอักเสบ" หมายถึง ภาวะที่เนื้อเยื่อ (ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก) ของตับเกิดการอักเสบ อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อ หรือการทำลายของสารเคมี หรือยาบางชนิดก็ได้ มักทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองเหมือนขมิ้น) สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส เมื่อพบคนที่มีอาการดีซ่าน จึงมักคิดถึงโรคตับอักเสบจากไวรัสเป็นอันดับแรก จนนิยมเรียกว่า "โรคดีซ่าน" (ความจริง ดีซ่านเป็นอาการแสดงของโรคซึ่งมีสาเหตุได้ต่างๆ นานา)
ไวรัสที่เป็นตัวก่อโรคตับอักเสบมีอยู่หลายชนิดนิยมเรียกเรียงอักษรอังกฤษเป็น เอ, บี, ซี, ดี... ที่สำคัญมีอยู่ ๓ ชนิด ได้แก่

๑. เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A virus ย่อว่า HAV) สามารถติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร  โดยการกินอาหาร ดื่มนมหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ (เช่นเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์) ดังนั้นจึงสามารถแพร่กระจายได้ง่าย บางครั้งอาจพบการระบาดในกองทหาร โรงเรียน หมู่บ้าน
ระยะฟักตัวของโรคตับอักเสบจากไวรัสเอ ๑๕-๔๕ วัน (เฉลี่ย ๓๐ วัน)

๒. เชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus ย่อว่า HBV) เชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด และยังอาจพบมีอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะ น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยทางเพศสัมพันธ์ หรือถ่ายทอดจากแม่ที่มีเชื้อนี้ไปยังทารกขณะคลอด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน การใช้เครื่องมือแพทย์ที่แปดเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อโรคชนิดนี้ เป็นต้น
ระยะฟักตัวของโรคตับอักเสบชนิดบี ๓๐-๑๘๐ วัน (เฉลี่ย ๖๐-๙๐ วัน)

๓. เชื้อไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C virus ย่อว่า HCV) เชื้อนี้สามารถติดต่อแบบเดียวกับไวรัสตับอักเสบบีทุกประการ และมีการดำเนินของโรคแบบเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี กล่าวคือ อาจทำให้เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือคนที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกายสามารถแพร่โรคให้คนอื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะของโรค (carrier) ในที่สุดอาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง คือ ตับแข็งกับมะเร็งตับ ลักษณะอาการเหล่านี้มักจะไม่พบในคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

อาการ   ที่เด่นชัด คือ อ่อนเพลีย ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเหมือนขมิ้น) โดยมักไม่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการปวดเสียด หรือจุกแน่น แถวลิ้นปี่ หรือชายโครงขวา บางคนอาจสังเกตว่า ก่อนมีอาการดีซ่าน จะมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่าย เหลว หรือท้องเดินร่วมด้วย เมื่อไข้ลด (อาจมีไข้อยู่ ๔-๕ วัน) ก็สังเกตเห็นปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม แล้วเห็นอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตามมา อาการดีซ่านจะเป็นอยู่ ๑-๒ สัปดาห์ แล้วจะค่อยๆ จางหายไปใน ๒-๔ สัปดาห์ เมื่อหายตาเหลือง คนไข้จะรู้สึกสบายขึ้น หายอ่อนเพลีย หายเบื่ออาหาร ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย บางครั้งมีอาการตาเหลืองเล็กน้อย นานเป็นปีๆ ถึงสิบๆ ปี ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ส่วนผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีหรือซี จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้เห็นจะทราบต่อเมื่อตรวจเลือดพบเชื้อเท่านั้น

การแยกโรค   อาการดีซ่านยังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่

๑. ตับแข็ง มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน อาจมีประวัติดื่มสุราจัดมานาน เมื่อเป็นเรื้อรังจะมีอาการท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด

๒. มะเร็งตับ มีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ อ่อนเพลีย ดีซ่าน ท้องบวม คลำได้ก้อนแข็งผิวขรุขระ ตรงใต้ชายโครงขวา อาจมีประวัติเป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซีมานานปี ดื่มสุราจัดมานานหรือนิยมกินปลาน้ำจืดแบบดิบๆ

๓. ตับอักเสบจากยาหรือสารเคมี มีอาการอ่อนเพลีย ดีซ่าน โดยมีประวัติว่า กินยา (เช่น ยารักษาวัณโรค) สมุนไพร (เช่น ขี้เหล็ก บอระเพ็ด) หรือ สัมผัสสารเคมีบางชนิด

๔. ถุงน้ำดีอักเสบ หรือฝีในตับ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเจ็บมากตรงชายโครงข้างขวา ดีซ่าน

๕. มาลาเรีย ไทฟอยด์ หรือเล็ปโตสไปโรซิส  (ไข้ฉี่หนู) มีไข้สูง หนาวสั่น ดีซ่าน

๖. โรคเลือด (เช่น เม็ดเลือดแดงแตก ทาลัสซีเมีย) มีอาการซีด ดีซ่าน บางครั้งอาจมีไข้สูง หนาวสั่นร่วมด้วย มักมีอาการ เป็นๆ หายๆ สำหรับทาลัสซีเมีย จะมีหน้าตาแปลก หน้าผากโหนก จมูกแบน ลูกตาห่าง เจ็บออดๆ แอดๆ มาตั้งแต่เล็ก

๗. โรคพยาธิใบไม้ตับ มีอาการอ่อนเพลีย ดีซ่าน จุกแน่นลิ้นปี่ อาจมีไข้สูงหนาวสั่นร่วมด้วย มีประวัติกินปลาน้ำจืดแบบดิบๆ พบมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ

การวินิจฉัย   ถ้ามีอาการชัดเจน คือ มีอาการอ่อนเพลีย ดีซ่าน โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ไม่มีประวัติดื่มสุราจัด น้ำหนักลดเล็กน้อย (เพียง ๑-๒ กิโลกรัม) ยังกินอาหารได้ ดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจพบตับโตเล็กน้อย ลักษณะนุ่ม ไม่เจ็บมาก โดยไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ รวมทั้งไม่พบอาการไข้ (ตัวร้อน) ก็อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส และให้การดูแลรักษาขั้นต้นได้

แต่ถ้ามีอาการไม่ชัดเจน หรือเป็นเรื้อรัง หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะทำการตรวจเลือด ดูการทำหน้าที่ของตับ (liver function test) โดยตรวจสารเคมีในเลือด (เช่น AST, ALT, total protein, albumin, bilirubin) ตรวจหาชนิดของเชื้อไวรัส บางครั้งอาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจหาเชื้ออื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ มาลาเรีย เล็ปโตสไปโรซิส พยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น

การดูแลตนเอง   หากมีอาการอ่อนเพลีย หรือสงสัยมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือสงสัยว่าจะเป็นพาหะของเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ถ้าแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส ควรติดต่อรักษากับแพทย์ตามนัด และปฏิบัติตัว ดังนี้

๑. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำทำงานหนัก

๒. ดื่มน้ำประมาณวันละ ๑๐-๑๕ แก้ว

๓. กินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ซุป ถั่วต่างๆ) ให้มากๆ ส่วนอาหารมันให้กินได้ตามปกติ ยกเว้นถ้ากินแล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้งด

๔. ถ้าเบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อย ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคส แต่ถ้ากินอาหารได้ตาม ปกติ ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำหวานให้มากขึ้น อาจทำให้น้ำหนักเกินได้

๕. แยกสำรับกับข้าว และเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น

๖. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง

๗. ห้ามดื่มสุรา จนกว่าแพทย์จะอนุญาต

ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีหรือซีควรปฏิบัติตัว ดังนี้

๑. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

๒. กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีน

๓. ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่อย่าหักโหมเกินไป

๔. อย่าอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ควรกินอาหารให้เพียงพอ และลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายให้น้ำหนักค่อยๆ ลดลงทีละน้อย

๕. งดบริจาคเลือด

๖. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ (ถ้าคู่สมรสยังไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีด วัคซีน หากมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่ต้องป้องกันด้วยถุงยาง อนามัย)

๗. หมั่นไปพบแพทย์ตามนัด (อาจเป็นทุก ๓-๖ เดือน) เพื่อตรวจดูว่าเชื้อหายไปหรือยัง ทดสอบการทำหน้าที่ของตับว่ามีการอักเสบของตับเกิดขึ้นหรือยัง และตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน (alpha-feto-protein) เพื่อค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่ม

๘. ควรให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น คู่สมรส บุตรหลานตรวจเลือด ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีดวัคซีนป้องกัน

การรักษา   เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ หากไม่มีอาการอะไรมากมายก็จะไม่ให้ยา เนื่องเพราะโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ และนัดคนไข้มาตรวจดูอาการทุก ๑-๒ สัปดาห์ จนกว่าจะแน่ใจว่าหายดี

บางครั้งอาจให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน วิตามินบำรุง (หากเบื่ออาหารมาก) ฉีดกลูโคสหรือให้น้ำเกลือ (ถ้ากินได้น้อย หรืออาเจียนมาก) เป็นต้น ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง (ซึ่ง มักเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี) ซึ่งจะมีอาการอักเสบนานเกิน ๖ เดือน แพทย์อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น เจาะเนื้อตับออกมาพิสูจน์ ตรวจเลือดเพื่อดูสาเหตุความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนเป็นระยะการรักษาอาจฉีดสารอินเตอร์เฟียรอน (interferon) สัปดาห์ละ ๓ ครั้ง นาน ๔-๖ เดือน ยานี้จะช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัส และลดการอักเสบของตับ ข้อเสียราคาค่อนข้างแพง และอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณา สั่งใช้ ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะ ของไวรัสตับอักเสบบีหรือซี แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว และนัดตรวจทุก ๓-๖ เดือน ไปเรื่อยๆ เพื่อเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อน   ถ้าเป็นตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักหายได้เอง มีเพียงส่วนน้อยมากที่อาจเกิดภาวะรุนแรงดังที่เรียกว่า ตับอักเสบชนิดเร็วร้าย (fulminant hepatitis) ซึ่งเซลล์ตับถูกทำลายรุนแรง และรวดเร็วจนตับเสีย (ตับวาย) และเสียชีวิตภายในระยะไม่กี่สัปดาห์ ถ้าเป็นตับอักเสบเรื้อรัง อาจมีภาวะตับแข็ง หรือมะเร็งตับแทรกซ้อนตามมาในระยะ ๑๐-๒๐ ปีต่อมา ส่วนผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีหรือซี  ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับหลังจากมีเชื้ออยู่นานหลายสิบปี มักพบกับคนที่ติดเชื้อจากมารดามาตั้งแต่คลอดโดยไม่มีอาการผิดปกติ (เป็นโดยไม่รู้ตัว) พอย่างเข้าอายุ ๔๐-๕๐ ปีก็เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว จากสถิติพบว่า หลังอายุ ๔๐ ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งตับประมาณร้อยละ ๐.๕ (๑ ใน ๒๐๐ คน) ต่อปี ซึ่งมากกว่าคนปกติ ๑๐๐ เท่า

การดำเนินโรค   โรคนี้ส่วนใหญ่จะทุเลาได้เองโดยไม่มีการรักษาจำเพาะ (มักจะไม่จำเป็นต้องกินยาใดๆ) ภายใน ๒-๔ สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติภายใน ๓-๔ เดือน ส่วนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี อาจกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังและอาจเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับตามมา ประมาณร้อยละ ๕ ของประชากรทั่วไป (ประมาณ ๓ ล้านคน) จะเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี และเกิดมะเร็งตับประมาณ ๑๒,๐๐๐ รายต่อปี

การป้องกัน   สำหรับตับอักเสบชนิดเอ ควรกินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม, ดื่มน้ำสะอาด, ถ่ายลงส้วม, ล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันตับอักเสบชนิดเอ แต่เนื่องจากราคาวัคซีนค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ฉีดแก่บุคคลในครอบครัวผู้ป่วย, ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย, ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหาร, บุคลากรทางการแพทย์, ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่อมีการระบาดของโรค (เช่น นักเรียน ทหาร เป็นต้น) โดยฉีด ๒ เข็มห่างกัน ๖ เดือน สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน ๑๘ ปีควรตรวจเลือดก่อน หากพบว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดให้สิ้นเปลือง

สำหรับตับอักเสบชนิดบีควรปฏิบัติ ดังนี้

๑. ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยา หรือให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องฉีดยา ควรเลือกใช้เข็มและกระบอกฉีดยาที่ผ่านกรรมวิธีทำให้ปราศจากเชื้อโรค

๒. ในการให้เลือด ควรหลีกเลี่ยงการใช้เลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี โดยการตรวจเช็กเลือดของผู้บริจาคทุกราย

๓. แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ควรระมัดระวังในการสัมผัสถูกเลือดของผู้ป่วย เช่น สวมถุงมือขณะเย็บแผล ผ่าตัด หรือสวนปัสสาวะผู้ป่วย

๔. ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันตับอักเสบบี แต่เนื่องจากราคาค่อนข้างแพง ยังไม่แนะนำให้ฉีดในคนทั่วไป จะเลือกฉีดให้แก่ทารกแรกเกิดและบุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องรับการถ่ายเลือดบ่อยๆ

สำหรับทารกแรกเกิดทุกคน สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนชนิดนี้โดยไม่คิดมูลค่าตั้งแต่วันแรกที่เกิดวัคซีนชนิดนี้จะฉีดให้ ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ จะห่างจากครั้งแรก ๑ และ ๖ เดือนตามลำดับ (วิธีนี้ลดอัตราการเป็นพาหะลงได้มาก)

สำหรับผู้ใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนชนิดนี้ควรตรวจเลือดเสียก่อน หากพบว่าเป็นพาหะหรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

ข้อมูลสื่อ

291-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 291
กรกฎาคม 2546
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ