• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาวะจากการเข้าถึงธรรมชาติ

สุขภาวะจากการเข้าถึงธรรมชาติ


คําว่า ธรรม หรือ ธัมม ที่ชาวอินเดียใช้กันแต่ก่อนพุทธกาล เป็นคำแปลกที่สะท้อนวิธีคิดของคนที่นั่นสมัยนั้น หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมก็ได้ นามธรรมก็ได้ ในทางที่ดีก็ได้ ในทางไม่ดีก็ได้ ในทางกลางๆ ก็ได้ ดังที่พระสวดว่า 

กุสลา ธัมมา  = ธรรมที่เป็นกุศล (ก็ดี)

อกุสลา ธัมมา = ธรรมที่เป็นอกุศล (ก็ดี)

อพยากตา ธัมมา = ธรรมที่เป็นกลางๆ (ก็ดี)

ธรรมชาติที่มีการปรุงแต่ง (สังขตธรรม) ก็ดี ธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) ก็ดี ฯลฯ ความหมายหนึ่งของคำว่าธรรมะ คือ หมายถึงธรรมชาติ คำว่า การเข้าถึงธรรม อาจจะดูน่ากลัว กลัวว่าเข้าไม่ถึง อยู่ไกลเกิน แต่ถ้าพูดว่าเข้าถึงธรรมชาติ อาจจะดูน่ากลัวน้อยกว่าและใกล้ตัว เพราะธรรมชาติมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งรอบตัวและในตัวเรา อยู่ในสายลม แสงแดด อยู่ในดวงดาว อยู่ในต้นไม้ใบหญ้า อยู่ในภูเขา อยู่ในแม่น้ำและทะเล อยู่ในเมฆ และอณูของไอน้ำที่แทรกซึมอยู่ในอากาศ อยู่ในลมหายใจเข้า-ออกของเรา อยู่ในหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ฯลฯ ธรรมชาติเหล่านี้ ทั้งในตัวเราและนอกตัวเรา ล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าเราฝึกให้สัมผัสหรือเข้าถึงธรรมชาติอันเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ไว้เสมอ เราจะเกิดสุขภาวะอันประณีต ธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติแท้ อันปราศจากสมมุติ (สมมติ) เชื่อมโยงกันไปตลอดทั่วจักรวาลและเลยจักรวาล ใหญ่อย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีกาลเวลา เป็นอนันตกาล เป็นนิรันดร

เพราะความไม่รู้ เรารู้แต่ธรรมชาติที่สมมุติ (สมมติ) หรือสมมุติสัจจะ คือ ตัวตนของเรา จึงติดอยู่ในที่แคบ ที่แคบนั้นบีบคั้น ความบีบคั้นทำให้เกิดความทุกข์ เมื่อจิตเราสัมผัสหรือเข้าถึงธรรมชาติที่ปราศจากสมมุติอันใหญ่โตและเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตจะหลุดออกจากความคับแคบไปสู่ความใหญ่โตอันประมาณมิได้ จึงอิสระจากความบีบคั้น และเกิดสุขภาวะอันเกินคำบรรยาย ลองฝึกการเข้าถึงธรรมชาติอันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในตัวเราและรอบตัวเราบ่อยๆ เถิดครับ จะพบสุขภาวะอันล้ำลึกโดยไม่ต้องเสียสตางค์เลย เป็น happiness at low cost

ข้อมูลสื่อ

292-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
สิงหาคม 2546
ศ.นพ.ประเวศ วะสี