• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วย ที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้"

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๓๕
กินถั่วมากจนแน่นขึ้นมาในอก
 
หญิงไทยอายุ ๖๗ ปี นอนอยู่บนเตียงเข็นในห้องฉุกเฉินในเช้าวันหนึ่ง  หน้าตาผ่องใส  ไม่มีวี่แววของความเจ็บปวดหรือความเจ็บป่วยใดๆ
 
แพทย์ประจำบ้าน : “ผู้ป่วยรายนี้มาด้วยอาการเจ็บหัวใจ มา ๗-๘ ชั่วโมงครับ อมยาใต้ลิ้นไป ๓ เม็ด แล้วไม่ดีขึ้น จึงมาโรงพยาบาล
ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้ง ๓ เส้น  เคยสวนหัวใจไปแล้วเมื่อ ๔ ปีก่อน แต่ทำบอลลูนขยายเส้นเลือด (balloon angioplasty)  ได้เพียงเส้นเดียว ผู้ป่วยจึงยังเจ็บหัวใจบ่อยๆ
 มื่อคืนนี้ผู้ป่วยเจ็บหัวใจตั้งแต่ประมาณ ๓ ทุ่ม อมยาใต้ลิ้นแล้วดีขึ้น และพักหลับได้ประมาณตี ๓ ตื่นขึ้นมาเจ็บหัวใจอีก อมยาใต้ลิ้นไป ๓ เม็ดแล้วไม่ดีขึ้น จึงมาโรงพยาบาลเมื่อประมาณตี ๕
ตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อหัวใจทางด้านหน้าตายเฉียบพลัน (acute anterior wall myocardial  infection) จึงให้อมยาใต้ลิ้น ให้แอสไพริน ให้ออกซิเจนแต่ยังไม่ได้ให้มอร์ฟีน  เพราะผู้ป่วยไม่เจ็บมาก  และขณะนี้ได้ปรึกษาหมอหัวใจมาดูแล้วครับ”
อาจารย์ : “อะไรที่ทำให้หมอคิดว่า ผู้ป่วยเจ็บหัวใจ”
แพทย์ประจำบ้าน : “ก็ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เคยสวนหัวใจและทำบอลลูนมาแล้ว แล้วมีอาการเจ็บหัวใจมาตลอด”
อาจารย์ : “นั่นเป็นเหตุผลเพียงข้อเดียว มีข้ออื่นอีกไหม”
แพทย์ประจำบ้าน : “ก็คนไข้รู้สึกเจ็บที่หน้าอก หายใจไม่สะดวก เหนื่อย อมยาใต้ลิ้นครั้งแรกหาย แต่ต่อมาไม่หาย ใช้ได้ไหมครับ”
อาจารย์ : “หมอแน่ใจว่าลักษณะเหล่านั้นของคนไข้เป็นอาการเจ็บหัวใจหรือ”
แพทย์ประจำบ้าน : “น่าจะใช่นะครับ” 
อาจารย์จึงหันไปหาผู้ป่วย ซึ่งนอนฟังการพูดคุยอยู่
อาจารย์  : “สวัสดีครับ ดีขึ้นหรือยังครับ” 
ผู้ป่วย  : “ดีขึ้นแล้วค่ะ”
อาจารย์ : “คุณช่วยเล่าอาการไม่สบายคราวนี้ให้หมอฟังอีกทีได้ไหมครับ เพราะที่ฟังมายังไม่ชัดเจนครับ”
ผู้ป่วย : “เมื่อคืนหลังอาหารเย็น ก็รู้สึกสบายดี ประมาณ ๓ ทุ่ม อาบน้ำแล้วจะเข้านอน ลูกเขาซื้อถั่วลิสงต้มมา เลยนั่งกินถั่วต้มเข้าไป ๑ ชามใหญ่ รู้สึกแน่นท้อง พอเข้านอนสักพักก็เจ็บหัวใจ ร้าวไปที่หลัง อมยาใต้ลิ้น แล้วเดินไปเข้าห้องน้ำ กลับมาก็ดีขึ้น เข้านอนได้
ประมาณตี ๓ ตื่นขึ้นมารู้สึกปวดท้อง  จะเข้าห้องน้ำแล้วมันจุกแน่นเข้ามาในอก เกิดอาการเจ็บเสียวแปลบๆ ที่หัวใจ  จึงอมยาใต้ลิ้นไป ๑ เม็ด แล้วเดินไปเข้าห้องน้ำ ถ่ายเสร็จแล้ว กลับมาที่เตียง  อาการยังไม่ดีขึ้น จึงอมยาไปอีก ๑ เม็ด ตี ๔ กว่าๆ ยังมีอาการอยู่ จึงอมยาไปอีกเม็ด แล้วมาโรงพยาบาล”
อาจารย์ : “แล้วคุณมาโรงพยาบาลยังไงครับ”
ผู้ป่วย : “ลูกพามาค่ะ”
อาจารย์ : “ลูกคุณนอนห้องเดียวกับคุณหรือครับ แล้วปกติลูกคุณตื่นตั้งแต่ตี ๔ เป็นประจำหรือครับ”
ผู้ป่วย : “เปล่าค่ะ ลูกเขานอนอีกห้องหนึ่ง อิชั้นเดินไปเคาะประตูเรียกเขา ให้เขาช่วยพามาโรงพยาบาล”
อาจารย์ : “ห้องนอนคุณกับห้องนอนลูกอยู่ชั้นเดียวกันหรือครับ และไกลกันไหมครับ”
ผู้ป่วย : “อยู่ชั้นเดียวกันที่ชั้น ๒ ค่ะ ห่างกันสัก ๑๐ ก้าว เห็นจะได้ค่ะ คุณหมอถามทำไมค่ะ”
อาจารย์ : “ถามเพื่อดูว่า ในขณะที่คุณเจ็บ คุณเรียกลูกลำบากไหม แล้วตอนคุณลงบันไดมาขึ้นรถ คุณรู้สึกอย่างไรบ้างครับ”
ผู้ป่วย : “ก็เจ็บๆ เสียวๆ ที่หัวใจเหมือนกัน ไม่รู้สึกมีอะไรอื่น ลูกเขาก็ช่วยจูงอยู่ด้วย และบ้านก็ไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก มาถึงโรงพยาบาลก็ขึ้นนอนบนเตียง ได้ออกซิเจน ได้ยา ก็รู้สึกดีขึ้น ตอนนี้ก็รู้สึกปกติดี แต่คุณหมอบอกว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ต้องนอนรอดูอาการก่อนค่ะ”
อาจารย์หันไปทางแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์
อาจารย์ : “จากประวัติที่ผู้ป่วยเล่ามานี้ใช่อาการเจ็บหัวใจ (angina) หรือไม่”
แพทย์ประจำบ้าน : “ไม่แน่ใจครับ ผมจึงปรึกษาหมอหัวใจครับ และหมอหัวใจเขาให้เจาะเลือดตรวจดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่”
อาจารย์ : “อาการที่ผู้ป่วยเล่ามานั้นไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจ เพราะขณะมีอาการ ผู้ป่วยยังเดินไปถ่ายได้ โดยอาการไม่เปลี่ยนแปลง เดินไปเรียกลูกได้ เดินลงบันไดและไปขึ้นรถได้ เป็นอาการเจ็บเสียวแปลบๆ เป็นอยู่ติดต่อกันเกินครึ่งชั่วโมง หน้าตาผ่องใสไม่แสดงอาการเจ็บปวด เล่าประวัติ(คุย) ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีอาการ เป็นต้น”
แพทย์ประจำบ้าน : “แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ผิดปกตินะครับ”
อาจารย์ : “ไหนเอาคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ทำไว้มาดูซิ”
แพทย์ประจำบ้านหยิบคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตนคิดว่าผิดปกติมาให้อาจารย์ดู
แพทย์ประจำบ้าน : “นี่ครับ คลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วนนี้ (ST segment) มันยกสูงกว่าปกติคล้ายกับว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรงจนกำลังจะตายไม่ใช่หรือครับ”
อาจารย์ : “ไม่น่าจะใช่ เพราะมันงอนขึ้นแทนที่จะโค้งขึ้นแบบหลังเต่า นอกจากนั้นในผนังด้านตรงข้ามก็ไม่มีการต่ำลงของส่วนเดียวกันให้เป็นเงากระจก (miror image) ด้วย แล้วหมอเปรียบเทียบกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจในอดีตของผู้ป่วยหรือเปล่า”
แพทย์ประจำบ้าน : “เปรียบเทียบแล้วครับ สูงขึ้นกว่าเดิมครับ”
อาจารย์มองดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจทั้งใหม่และเก่าแล้วพูดว่า
อาจารย์ : “ไม่ต่างกันชัดเจน การที่สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในลักษณะงอนขึ้นทั้งของเก่าและของใหม่ ยิ่งทำให้คิดว่า นี่น่าจะเป็นลักษณะปกติของผู้ป่วยรายนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหมอไม่แน่ใจและกลัวว่า  การให้ผู้ป่วยกลับบ้านจะไม่ปลอดภัย ก็รอผลเลือด และรอการตรวจซ้ำอีก ๖ ชั่วโมงเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงก็ได้”
แล้วอาจารย์ก็หันไปพูดกับคนป่วย
อาจารย์  : อาการที่คุณเป็นนั้น ไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจหรอกครับ แต่เพราะคุณเคยสวนหัวใจและทำบอลลูนไปแล้ว พอมีอาการอะไรเกิดขึ้น คุณก็คิดว่าเป็นอาการเจ็บหัวใจ เช่นเดียวกับแพทย์เหล่านี้
ผมคิดว่าเป็นอาการทางท้องมากกว่า จากที่คุณกินถั่วเข้าไปมาก จนแน่นท้องแล้วแน่นขึ้นมาในอกจนต้องเข้าห้องน้ำกลางดึก และมีอาการอยู่หลายชั่วโมง
คุณหมอหัวใจที่มาตรวจคุณยังไม่แน่ใจ จึงขอตรวจเลือดและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำอีก ๖ ชั่วโมงข้างหน้า ก่อนที่จะให้คุณกลับบ้านอย่างปลอดภัย
คราวหน้าอย่ากินอะไรมากๆ นะครับ และอย่ากินตอนดึกก่อนเข้านอนด้วย เพราะจะทำให้เกิดอาการไม่สบายได้อีก”

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แพทย์ในปัจจุบันให้ความสำคัญแก่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ผลแล็บ) มากกว่าอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเงิน เสียเวลาและเจ็บตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ที่ต้องนอนอยู่ในห้องฉุกเฉินเกือบ ๑๒ ชั่วโมง กว่าจะได้กลับบ้าน เมื่อผลการตรวจซ้ำต่างๆ ยังปกติ

ข้อมูลสื่อ

321-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์