ใช้รักษาโรคผิวหนัง มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาสตีรอยด์
สารออกฤทธิ์หลายชนิดที่อยู่ในใบของพืชชนิดหนึ่งที่คนไทยสมัยก่อนรู้จักเป็นอย่างดี มีสรรพคุณใช้รักษาโรคผิวหนังได้อย่างกว้างขวาง คือ โรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน การอักเสบหรือคันจากการแพ้ฝุ่น สารเคมี แมลงกัดต่อยหรือลมพิษ รวมทั้งโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (chronic dermatitis) ซึ่งแพทย์ไทยได้วิจัยผลการรักษาแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาทาสตีรอยด์ เราจึงสามารถหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อันตรายจากการใช้ยาทาสตีรอยด์ได้ เภสัชกรไทยนำสารออกฤทธิ์นั้นมาเตรียมในรูปของ เจล (gel) ใช้สำหรับทา จึงมีประโยชน์สำหรับคนไทยที่ต้องเผชิญกับสภาพดิน ฟ้า อากาศร้อนชื้น ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มของอาการแพ้คันจากเชื้อรา และการอักเสบเรื้อรังเป็นอย่างยิ่ง สมุนไพรที่น่ารู้และน่าใช้นี้คือ "พลู" เจล (gel) ที่ผลิตจากน้ำมันพลู คือ พลูจีนอล (Plugenol)
มารู้จัก "พลู" กันดีกว่า : คนโบราณใช้กิน เมื่อนำมาใช้ทาจึงไม่มีพิษใดๆ
พลู (Piper betle Linn.) เป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักและคุ้นเคยกันมานาน คนสมัยก่อนมักใช้กินกับหมาก เพราะเชื่อว่าช่วยให้สุขภาพของเหงือกและฟันดี มีรสเผ็ดและ ขมปนหวาน มีกลิ่นหอมร้อน ในประเทศอินเดียนิยมใช้เป็นยาขับลม ยาบำรุงทั่วไปและเป็นยาระบายอ่อนๆ น้ำคั้นจากใบสดใช้กินเป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง และใช้ทำเป็นยาน้ำอมกลั้วคอช่วยบรรเทาอาการไอได้ ส่วนน้ำมันระเหยจากใบพลูอยู่ร้อยละ ๐.๗๖-๒.๖ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อให้เกิดกลาก เกลื้อน รวมถึงการติดเชื้อ ฝี หนอง สิว และแผลอักเสบอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาอาการคัน ในผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังได้ด้วย โดยนำใบสดตำผสมเหล้าโรง คั้นเอาน้ำทาแก้ลมพิษตรงบริเวณที่คัน และใช้รักษาโรคกลากและแผลอักเสบ เช่น ฝีหนอง และสิว
แพทย์ไทยพิสูจน์แล้วใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Chronic Dermatitis) ได้จริงเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน
จากการวิจัยของ นพ.สมคิด วงศ์ศิริอำนวย โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ประสิทธิภาพในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังของเจลพลู ร้อยละ ๔ ดีกว่าคาลาไมน์โลชั่น ร้อยละ ๐.๑ และได้ผลใกล้เคียงกับเบตาเมทาโซนครีม (สตีรอยด์) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทดสอบในผู้ป่วย ๗๕ ราย
เภสัชกรไทยศึกษาองค์ประกอบทางเคมี ความคงตัวของน้ำมันพลูและฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา
เภสัชกรหญิงนันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกุล และคณะจากสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม ได้ทำการศึกษาพบว่าในน้ำมันพลู มีสารสำคัญ คือ ยูจินอล (Eugenol) และชาวิคอล (Chavicol) มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา และเป็นยาทาเฉพาะที่ช่วยลดอาการคันได้
ข้อเสียหรือผลแทรกซ้อนของยาสตีรอยด์เบตาเมทาโซน
เนื่องจากเบตาเมทาโซนรวมทั้งสตีรอยด์ชนิดอื่นๆ หากใช้ทาปริมาณมากๆ หรือทาบริเวณกว้าง หรือใช้นานๆ หรือเมื่อมีบาดแผลตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนมากมาย คือ ผลแทรกซ้อนเฉพาะที่่เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบของขุมขน (folliculitis), ผมหรือขนงอกมากกว่าปกติ (hypertrichosis), สิว (acneiform), เม็ดสีของผิวลดลง (hypopigmentation), ผิวเปื่อย (dermal maceration), การติดเชื้อ (secondary infection), ผิวบางลง (skin atrophy), ผิวด่างขาว, เกิดรอยย่นของแผลบนผิว (striae), เกิดตุ่มเล็กๆ บนผิวหนัง (miliaria) ผลแทรกซ้อนทั่วร่างกายอาจพบผลกระทบต่อความสมดุลของระบบฮอร์โมน เนื่องจากการดูดซึม corticoid ทางผิวหนังในทารกและ เด็กอ่อน การดูดซึมยาทางผิวหนังจะเพิ่มขึ้น และอาจรบกวนการเจริญเติบโตเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน
เภสัชกรไทยนำคุณค่าของใบพลูมาผลิตในรูปแบบเจล สะดวกใช้คุ้มค่า
องค์การเภสัชกรรมและบริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ทำการสกัดน้ำมันจากใบพลูเขียวแล้วผ่านขั้นตอนการผลิตตามมาตรฐาน GMP ในรูปแบบเจล ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ "พลูจีนอล (Plugenol)" ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราที่ลำตัว ขาหนีบ น้ำกัดเท้า การอักเสบ หรือคันจากการแพ้ฝุ่น สารเคมี แมลงกัดต่อย หรือลมพิษ นอกจากสามารถหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนจากการใช้ยาสตีรอยด์แล้ว ยังมีสรรพคุณยับยั้งเชื้อราได้อีกด้วย เหมือนได้ ๑ แถมอีก ๑ คือ ได้ทั้งยาแก้แพ้คันอักเสบและยารักษาเชื้อรา จึงเป็นยาประจำบ้านที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของเมืองไทยจริงๆ สมุนไพรไทย น่าใช้อะไรอย่างนี้!
- อ่าน 68,563 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้