• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะจิงของไตไม่พอ

"ลูกของดิฉันมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กอื่น
ให้คุณหมอเด็กที่โรงพยาบาลตรวจรักษา
หมอบอกว่าเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนการเจริญเติบโต
ตอนนี้ได้ฮอร์โมนรักษาดีขึ้นมาก คุณหมอนัดดูแลให้เป็นระยะๆ อยู่"
Ž
"ผมกับภรรยาไปปรึกษาแพทย์เรื่องมีบุตรยาก แต่งงานกันมาเกือบ ๕ ปี ยังไม่มีบุตรเลย ทั้งที่ไม่ได้ คุมกำเนิด หมอตรวจน้ำเชื้อผมแล้วบอกว่า เชื้ออ่อน ปริมาณน้อย ไม่แข็งแรง ส่วนประจำเดือนของภรรยาผมก็ไม่แน่นอน หมอนัดไปปรึกษาวางแผนการรักษา ที่โรงพยาบาล แต่บางคนก็แนะนำให้ไปหาหมอจีน เพราะได้ข่าวจากเพื่อนคนหนึ่งว่า ยาจีนสามารถรักษาภาวะมีบุตรยากได้ ผมก็ยังไม่เข้าใจอะไร กำลังตัดสินใจอยู่"
Ž
"ไม่ได้พบเขาตั้งนาน เขาเปลี่ยนไปมาก หน้าตาแก่ไปเยอะ ความจำเสื่อม ขาก็ไม่มีแรง ผมร่วง ผมขาว เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งๆ ที่อายุ ๕๐ เศษๆ เอง ผมแนะนำให้เขาไปซื้อยาบำรุงชะลอความแก่ ตำรับยาจีนมากิน เพราะว่าเขาเป็นโรคไตเสื่อม"
Ž

ปัญหาเรื่องการเติบโตช้า วัยเจริญพันธุ์ (ช่วงที่สามารถสืบพันธุ์) ไม่สามารถผลิตเชื้อหรือระบบประจำเดือนผิดปกติ รวมทั้งความเสื่อมชราเร็วกว่ากำหนด มักมีปัจจัยเรื่องของฮอร์โมนภายในร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก ภาษาแพทย์จีนเรียกว่า "ภาวะจิงของไตไม่พอ" หรือ "ภาวะจิงของไตพร่อง"

๑. ความหมายและสิ่งตรวจพบของ "จิงของไตไม่พอ"Ž
อาการ

จิง เป็นสารสุดยอดของร่างกาย เก็บสะสมที่ไต (เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต่างๆ ของร่างกาย) จิงของไตมีมาแต่กำเนิด (จากพันธุกรรม) และมีการสร้างเสริมและสะสมภายหลังกำเนิด
คนที่มีจิงของไตน้อยตั้งแต่เกิด (ทุนที่ ๑ น้อย) หรือได้รับการเลี้ยงดูไม่สมบูรณ์ (ทุนที่ ๒) จะมีอาการแสดงออกคือ
๑.๑ วัยเด็ก : การเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า กระหม่อมปิดช้า ปัญญาอ่อน กระดูกอ่อน ตัวเตี้ย แคระ เฉื่อยชา
๑.๒ วัยหนุ่มสาว : ระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ ผู้ชายจะมีเชื้ออสุจิน้อย เชื้อไม่แข็งแรง ผู้หญิงมีประจำเดือนผิดปกติ ขาดประจำเดือน ไม่ตั้งครรภ์ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
๑.๓ วัยกลางคน-สูงอายุ : แก่เร็ว ร่างกายทรุด-โทรม ประสาทหูเสื่อม หูมีเสียง ความจำเสื่อม ขาทั้ง ๒ ข้างอ่อนแรง ผมร่วง ผมขาว ฟันหลุด ฟันโยก ไม่มีชีวิตชีวา
สิ่งตรวจพบ
ลิ้นซีด ชีพจรเล็กอ่อนแรง

๒. สาเหตุของ "จิงของไตไม่พอ"Ž
- จากพันธุกรรม เนื่องจากได้รับความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
- โรคเรื้อรังนานๆ ทำให้กระทบต่อจิงของไต
- มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป สูญเสียจิง
- คนสูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ จิงของไตค่อยๆ เสื่อมถอยโดยธรรมชาติ

๓. กลไกการเกิดโรคคืออะไร
- สารจิงของไต : สร้างเลือดทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงสมบูรณ์ ภาวะพร่องในเด็กเล็ก จะทำให้การเติบโตและพัฒนาการช้า ตัวเตี้ย กระหม่อมปิดช้า กระดูกไม่แข็งแรง (กระดูกอ่อน)
- สารจิงสร้างไขกระดูกและบำรุงสมอง : ภาวะพร่องทำให้สติปัญญาต่ำ เฉื่อย ไร้ชีวิตชีวา
- ความสมบูรณ์ของไต แสดงออกภายนอกที่ผมและจิงของไต : ภาวะพร่องทำให้ผมร่วงง่าย
- ฟันเป็นส่วนเกินของกระดูก (กำกับด้วยจิงของไต) : ภาวะพร่องทำให้ฟันโยกหลุดง่าย
- หูเป็นทวารเปิดของไต : ภาวะพร่องทำให้หูเสื่อม เสียงดังในหู
- ไตควบคุมระบบสืบพันธุ์ : ภาวะพร่องทำให้เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง ปริมาณน้อย ประจำเดือนผิดปกติสมรรถภาพทางเพศลดลง
- ลิ้นซีด ชีพจรเล็กอ่อนแอ เป็นสิ่งตรวจพบของภาวะจิงของไตไม่พอ

๔. พัฒนาการของภาวะจิงของไตไม่พอ คืออะไร
จิงของไต เป็นรากฐานของชีวิต ถ้าเสื่อมสภาพ หรือมีไม่เพียงพอ คือการเสื่อมสลายของเลือดและพลังของร่างกาย การเสื่อมสลายของทุกระบบ รวมทั้งสมอง ทำให้สมองฝ่อ เกิดโรคต่างๆ เกี่ยวกับความ ชราภาพที่รวดเร็ว
ในระยะเริ่มต้นของ ภาวะจิงของไตไม่พอŽ จะ ปรากฏให้เห็นถึงพลังชีวิตพื้นฐาน เจิ้งชี่ ( ) อ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานต่อปัจจัยก่อโรคภายนอกที่มากระทำ ทำให้เป็นโรคง่าย และเมื่อเป็นโรคก็หายยาก ซึ่งจะย้อน กลับทำลายจิงของไต ( ) อีก

๕. "จิงของไตไม่พอ" มีความหมายใน ทางแพทย์จีนและแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่โรคอะไร?
ภาวะของโรคในทางแพทย์จีน ได้แก่
- ๕ ช้า คือ พัฒนาการช้าทั้ง ๕ ได้แก่ ยืนช้า เดินช้า ผมงอกช้า ฟันขึ้นช้า และพูดช้า 
- ๕ อ่อน  คือ ศีรษะอ่อน คออ่อน แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อน ปากอ่อนเหลว
- ความจำเสื่อม ไม่มีชีวิตชีวา ปัญญาอ่อน
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูตึง หูมีเสียงดัง ปวดเมื่อยเอว ภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ (เหว่ยเจิ้ง ) ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยากในเพศชายและเพศหญิง ฯลฯ
ความหมายของโรคในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่
- โรคกระดูกอ่อน  ขาดฮอร์โมนและเกิดความผิดปกติระดับแคลเซียมในเลือด
- โรคครีตินิซึม ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ตั้งแต่กำเนิด
- โรคเตี้ยแคระ 
- โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- ภาวะมีบุตรยาก
- โรคชรา
- โรคสมองเสื่อม ฯลฯ

๖. การวินิจฉัยแยกแยะภาวะ "จิงของไตไม่พอ" เกิดจากภาวะอะไรบ้าง?
ที่สำคัญต้องแยกจากภาวะยินของไตพร่อง ยินของไตพร่องมีขอบเขตที่กว้างกว่า สาเหตุและกลไกการเกิดโรคใกล้เคียง แต่อาการทางคลินิกและสิ่งตรวจพบต่างกันมาก กล่าวคือ
ภาวะยินของไตพร่อง เป็นภาวะไตพร่องร่วมกับ มีปรากฏการณ์ของความร้อนในระบบภายในร่างกาย เช่น เหงื่อลักออก ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า หน้าอก ไข้ตอนบ่ายหลังเที่ยง ลิ้นแดง ชีพจรเร็ว แต่ภาวะ จิงของไตไม่พอŽ อาการที่แสดงออก หนักไปทางการเจริญเติบโต การเสื่อมถอย ความสามารถในการเจริญพันธุ์ การเสื่อมของสมรรถภาพทางเพศ โดยไม่มีอาการของความร้อนที่ชัดเจน

๗. หลักการรักษาและตำราที่ใช้คืออะไร
หลักการรักษา :
บำรุงจิงของไต
ตำรับยา : เหอ-เชอ-ต้า-จ้าว-หวาน ปรับลดตามสภาพ
ตัวยาสำคัญ : จื่อ-เหอ-เชอ
                        สู-ตี้
                        ม่าย-ตง
                        เทียน-ตง
                        กุย-ป้าง
                        เหยิน-เชิน
                        ตู้-จ้ง
                        หวง-ป๋อ
                        ฟู่-หลิง
                        หนิว-ชี
คัมภีร์ "เน่ยจิง" ได้กล่าวถึงยาบำรุงจิงและเลือดซึ่งมักมีรสเข้มข้นหนืด เช่น รกเด็ก กระดองเต่า กระเพาะปลา เขากวางอ่อน กระดองตะพาบน้ำ ไขกระดูกสันหลังของหมู ฯลฯ อาหารหรือยากลุ่มเหล่านี้จะมีความหนืดมาก คนที่กระเพาะอาหารและม้ามไม่ดีต้องใช้อย่างระมัดระวัง หรือต้องใช้ยาขับเคลื่อนพลังช่วยการย่อยควบคู่ไปด้วย

๘. การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ เกี่ยวกับ "ภาวะจิงของไตไม่พอ" มีอะไรบ้าง
มหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ ตีพิมพ์การศึกษาวิจัยลงในวารสาร การแพทย์ผสมผสาน จีน- ตะวันตก ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เกี่ยวกับตำรายาจีนบำรุงจิงของไต "หวน-จิง-เจียน"Žที่ใช้เพิ่มภูมิคุ้มกันในคนสูงอายุ เพิ่มการทำงานของปอด การมองเห็น ความเสื่อมด้านต่างๆ พบความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน นอกจากนี้ ยังทำการทดลองในหนู พบการหดเกร็งตัวของหลอดลมลดลง การหายใจเอาอากาศเข้าได้มากขึ้น, สามารถกระตุ้นการทำงานของต่อม ไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทมัส ต่อมไฮโพทาลามัส ฯลฯ ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ พบว่ามีการวิจัยการใช้ยาตำรับ "หย่าง-จิง-ทัง"  ในสตรีที่ภาวะมีบุตรยากเนื่องจากความผิดปกติของรังไข่และไม่มีประจำเดือน พบว่ายาตำรับนี้สามารถกระตุ้นการสุกของไข่ และทำให้มีการไหลเวียนของเลือดที่มดลูกมากขึ้น

โดยสรุป กลุ่มยาบำรุงจิงของไต มีผลในการปรับและกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อต่างๆ เพื่อชะลอความแก่ หรือช่วยในการพัฒนา-การเจริญเติบโตของเด็กและหนุ่มสาว แต่ต้องระมัดระวังในกรณีที่มีของเสียตกค้าง หรือผู้ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็ง เพราะอาจกระตุ้นให้มะเร็ง เติบโตเร็วขึ้น จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและคำนึงถึงผลเสียอีกด้านหนึ่งด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

319-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล