• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รับมือไข้หวัดนกรอบ ๓

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าเชื้อไข้หวัดนกสามารถติดต่อได้จากคนไปสู่คน
 
การระบาดของไข้หวัดนก
การระบาดของไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ (H5N1) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในฮ่องกง ทำให้มีผู้ติดเชื้อ ๑๘ ราย เสียชีวิต ๖ ราย จากสาเหตุไปคลุกคลีกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ
ไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ได้เข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และเริ่มพบผู้ป่วยในคนไทยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยทั้งสิ้น ๒๐ ราย เสียชีวิต ๑๓ ราย (วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘)
การระบาดของไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ดูเหมือนว่าการระบาดเป็นระลอกและในการระบาดครั้งนี้เป็นระลอกที่ ๓ แต่ความเป็นจริงการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมและดินฟ้าอากาศ ที่เอื้ออำนวยต่อการระบาดจะเห็นได้ว่าเชื้อดังกล่าวจะเกิดการระบาดขึ้นในฤดูฝน และเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งนี้เพราะอากาศที่ชื้นและเย็นจะเอื้ออำนวยต่อการคงอยู่ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (A) ได้เป็นอย่างดี มากกว่าอากาศที่ร้อน
ดังนั้น ในฤดูร้อนจึงดูเหมือนว่าโรคดังกล่าวได้สงบลงแต่ก็เป็นการเบาบางลงชั่วคราวเท่านั้น เชื้อดังกล่าวตั้งแต่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นเวลาเกือบ ๒ ปี จึงเกิดขึ้นเหมือนกับเป็น ๓ ระลอก
การระบาดของเชื้อดังกล่าวเกิดขึ้นไม่เฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนยังระบาดเข้าสู่ทวีปยุโรปดังแสดงในตาราง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก นับถึงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในประเทศต่างๆ ตามตาราง

สถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘

ช่วงระยะเวลากัมพูชาอินโดนีเซียไทยเวียดนามรวม
ผู้ป่วยเสียชีวิตผู้ป่วยเสียชีวิตผู้ป่วยเสียชีวิตผู้ป่วยเสียชีวิตผู้ป่วยเสียชีวิต
ธ.ค.๔๖-มี.ค.๔๗๑๒๒๓๑๖๓๕๒๔
ก.ค.-ต.ค.๔๗
ธ.ค.๔๗-ต.ค.๔๘๖๔๒๑๘๐๓๑
รวม๒๐๑๓๙๑๔๑๑๒๔๖๓

อัตราการตายร้อยละ ๕๑ Promed ๗ พ.ย. ๒๕๔๘

ในปัจจุบันไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ได้แพร่ขยายวงกว้างไปยังประเทศรัสเซีย มองโกเลีย และยุโรปอีกหลายประเทศ และมีแนวโน้มที่จะลงสู่ทวีปแอฟริกา ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงพิษภัยของเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ที่จะทำให้เกิดโรคในมนุษย์ และแพร่ระบาดต่อไปทั่วโลก อย่างไข้หวัดใหญ่สเปน ที่ทำให้มีผู้ล้มตายเป็นจำนวนมากถึง ๕๐ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลายประเทศได้มีการเตรียมพร้อมในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคดังกล่าวรวมทั้งประเทศไทยด้วย
การระบาดใหญ่ไข้หวัดนกสเปนเป็นเอช ๑ เอ็น ๑ (H1N1) ที่เข้าใจว่าน่าจะข้ามมาจากสัตว์ปีกสู่มนุษย์โดยตรง และหลังจากนั้นมีการระบาดใหญ่ทั่วโลกอีก ๒ ครั้งคือไข้หวัดใหญ่เอเชีย และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง มีผู้ล้มตายจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกลดจำนวนลง

การระบาดใหญ่ใน ๒ ครั้งหลัง เข้าใจว่าเกิดจากสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างไข้หวัดใหญ่คนและไข้หวัดใหญ่นก โดยอาศัยหมูเป็นตัวกลางผสมให้เกิดสายพันธุ์ใหม่แล้วแพร่ระบาดมาสู่คน

ถ้าการระบาดของเอช ๕ เอ็น ๑ ที่ข้ามจากนกมาสู่คนได้โดยตรงและจากคนสู่คนก็จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่สเปน ไม่อาศัยตัวกลางผสมสายพันธุ์ใหม่ ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคมากเพราะทุกคนยังไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน

การป้องกัน
การระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เป็นข่าวว่าเกิดการระบาดรอบ ๓ ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อประชากรของไทยเป็นอย่างมากอีกครั้งหนึ่งและมีสัตว์ปีกติดโรคล้มตายจำนวนมากในหลายจังหวัดและการระบาดเพิ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว
ในข้อมูลความเป็นจริงทางด้านวิทยาศาสตร์รวมถึงข้อมูลปัจจุบัน ไวรัสไข้หวัดนกยังไม่สามารถพัฒนาติดจากคนสู่คน
การติดต่อของโรคส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่มีเชื้อหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เช่น มีการป่วยตายของสัตว์ปีกในบริเวณดังกล่าว

ดังนั้น ในทางปฏิบัติในการป้องกันโรค ประชากรทั่วไปควรได้ตระหนักถึงพิษภัยของโรคดังกล่าวในการป้องกันการติดเชื้อโดยไม่ไปสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือล้มตายโดยตรง การจับต้องสัตว์ปีกที่ป่วยหรือล้มตาย จำเป็นต้องใช้ถุงมือหรือถุงพลาสติกป้องกันการสัมผัสโดยตรง ควรล้างมือให้สะอาดหลังจากการจับต้องดังกล่าว และแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบเพื่อใช้มาตรการในการป้องกันที่ถูกต้องต่อไป

เกษตรกรที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก
ก็ควรที่จะดูแลสัตว์ปีกและสังเกตอาการถ้ามีสัตว์ปีกป่วยหรือล้มตาย รวมทั้งนกธรรมชาติก็ควรปฏิบัติตามข้อควรระวังดังกล่าวและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อการตรวจสอบและหามาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าวต่อไป

ประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ปีกหรือสัตว์ปีกสวยงามไว้ในบ้าน
ก็ควรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าว มีมาตรการในการป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกสวยงามที่เลี้ยงไว้ไปสัมผัสกับนกบ้าน นกธรรมชาติ เช่น การหาตาข่ายมาคลุมป้องกันไม่ให้นกธรรมชาติเข้ามา หรือถ่ายมูล รวมทั้งมากินอาหารร่วมกันได้ จะเป็นวิธีการในการป้องกัน
สำหรับผู้ที่เลี้ยงไก่ชน ในฤดูที่มีการระบาดของโรคก็ควรกระทำดังกล่าวและไม่ควรจะมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เพราะจะมีโอกาสไปสัมผัสโรคและแพร่กระจายของโรคได้

สำหรับผู้ที่ค้าขายสัตว์ปีกและประชาชนผู้บริโภคทั่วไป
การจับต้องสัตว์ปีกสด เช่น ไก่ เป็ดสด หรือแช่แข็ง ควรจะต้องใช้ถุงมือหรือถุงพลาสติกจับต้องและล้างมือให้สะอาด

ผู้ค้าสัตว์ปีกก็ควรจะนำสัตว์ปีกที่ได้มีการผ่านการคัดกรองว่าปลอดจากโรคดังกล่าวและไม่ควรนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือล้มตายมาขายหรือปรุงอาหารเป็นอันขาด
สำหรับสัตว์ปีกที่ปรุงสุกแล้วถือว่าปลอดภัยจากเชื้อโรคดังกล่าวอย่างแน่นอนเพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ถูกทำลายด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า ๗๐ องศาเซลเซียส ดังนั้น การบริโภคสัตว์ปีกสุกจะมีความมั่นใจว่าปลอดจากเชื้อโรคดังกล่าว
สัตว์ปีกแช่แข็งที่นำมาปรุงอาหารก็ควรทำให้มั่นใจว่าสุกทั้งหมดจนถึงข้างในและกระดูก

การซื้อไข่
มาไว้ในบ้านในทางปฏิบัติ ในฤดูที่มีการระบาด ไม่ควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพราะเชื้อที่อยู่ในที่เย็นจะอยู่ได้นานกว่า ควรเก็บไว้ภายนอก และไม่ควรซื้อมาเป็นจำนวนมาก เมื่อจับต้องแล้วควรล้างมือให้สะอาด การบริโภคไข่ก็ควรจะบริโภคไข่ที่สุกจริงๆ ไข่ดาวที่ยังไม่สุก เช่นเป็นยางมะตูมก็ควรทำให้สุก

โดยธรรมชาติของเชื้อไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ เมื่อติดเชื้อในสัตว์ปีก จะทำให้สัตว์ปีกล้มป่วยและเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น แต่มีสัตว์ปีกบางชนิดที่มีระยะฟักตัวยาวนานกว่าและอาจมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น นกเป็ดน้ำและเป็ดที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ก่อนจะมีอาการเจ็บป่วยและสามารถปล่อยเชื้อมาในมูลได้
สัตว์ตระกูลนกเป็ดน้ำและเป็ดที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ส่วนมากจะเกิดอาการป่วยและอยู่ได้ทนกว่าเป็ดเนื้อหรือไก่ที่อยู่ในฟาร์ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสัตว์ปีกดังกล่าว ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องสังเกตอาการ ตรวจเชื้อ สำรวจและเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการสำรวจสัตว์ปีกอพยพเป็นครั้งคราวเพื่อวางมาตรการในการป้องกัน

การติดจากคนสู่คน
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าเชื้อไข้หวัดนกสามารถติดต่อได้จากคนไปสู่คน
การติดต่อจากคนไปสู่คน เช่น ในกรณีนางประนอมและลูกที่กำแพงเพชร เกิดขึ้นจากการสัมผัสกันโดยตรง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดต่อแบบระบบทางเดินหายใจแบบไข้หวัดใหญ่ในคน

การติดต่อจากคนสู่คนในกรณีไข้หวัดใหญ่ในคนเกิดขึ้นเนื่องจากไวรัสสามารถเกาะติดบนเซลล์เยื่อบุของมนุษย์และการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้
สำหรับไวรัสไข้หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ในส่วนของการเกาะติดสู่เซลล์มนุษย์ยังไม่สามารถเกาะได้อย่างสมบูรณ์ที่จะทำให้เกิดการติดต่อระหว่างคนสู่คน
การเกิดโรคในมนุษย์ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นอุบัติเหตุที่ต้องมีการศึกษาถึงความจำเพาะดังกล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการทางด้านระบาดวิทยาควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางด้านพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ทั้งนี้เพราะไวรัสไข้หวัดนก เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) และมีพันธุกรรมแบบแยกส่วน จึงสามารถเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย

การเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์โดยเฉพาะในส่วนของการเกาะติดเซลล์มนุษย์และความสามารถในการแบ่งตัวในเซลล์มนุษย์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้งานทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานมาช่วยในการศึกษาเพื่อหามาตรการป้องกันตั้งแต่เริ่มแรกก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดกระจายออกไป

จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกรมปศุสัตว์ ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒ ปี (ได้มีการศึกษาไวรัสไข้หวัดนกไปแล้วมากกว่า ๑๐๐ ตัวอย่าง) มาโดยตลอดที่มีการระบาด ๓ ระลอก การกลายพันธุ์ที่พบเป็นปกติเกิดขึ้นได้เหมือนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ โดยมีการกลายพันธุ์แบบเล็กน้อย ยังไม่พบการกลายพันธุ์ในจุดที่สำคัญ เช่น ส่วนที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ ในส่วนที่ทำให้เกิดการแบ่งตัวและทำให้เกิดโรครุนแรงในมนุษย์ รวมทั้งสายพันธุ์ที่พบทั้งหมดยังไม่ดื้อต่อยา Tamiflu (oseltamivir)
อย่างไรก็ตาม เราก็จะยังเฝ้าติดตามร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดนกทั้งตัว (๑๓,๖๐๐ เบส) ต่อไป ในปัจจุบันเรามีความชำนาญในการถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกได้รวดเร็วขึ้นโดยใช้เวลาประมาณ ๓ วันเท่านั้นก็สามารถถอดรหัสได้ทั้งตัว

ในส่วนสำคัญของการก่อโรคเราสามารถตรวจให้รู้ผลได้ในเวลา ๑-๒ วันเช่นเดียวกัน การตรวจวินิจฉัยโรคในปัจจุบันสามารถทำได้อย่างรวดเร็วโดยใช้หลักการทางด้านอณูชีววิทยา RT-PCR และ Real time PCR วิธีการตรวจดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและมีการเผยแพร่ออกไปในระดับนานาชาติ และสามารถตรวจให้ทราบผลอย่างถูกต้องได้ภายใน ๖-๑๒ ชั่วโมง

วัคซีนไข้หวัดนก
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกใช้ในมนุษย์
วัคซีนไข้หวัดนกอยู่ระหว่างการพัฒนาและศึกษาวิจัยทางคลินิก เป็นการศึกษาวิจัยในคนระยะที่ ๒ และคงจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งจึงจะมีวัคซีนใช้ได้ในคน ทั้งนี้เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นไวรัสที่ก่อโรคชนิดรุนแรง การพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีเดิมเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ยังไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้เพราะระบบความปลอดภัยในการเพิ่มจำนวนไวรัส จำเป็นต้องมีมาตรฐานสูง ทำให้การลงทุนของโรงงานที่จะรองรับเชื้อก่อโรครุนแรงล่าช้า

การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนกจึงจำเป็นต้องอาศัยวิธีอื่นทางพันธุวิศวกรรมศาสตร์ และชีวโมเลกุล เช่น revers genetic ซึ่งเป็นวิธีใหม่ในการสร้างไวรัส วิธีดังกล่าวยังไม่มีการนำมาใช้ทำวัคซีนที่ใช้ในคนมาก่อน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกอย่างละเอียดก่อน

สำหรับวัคซีนไข้หวัดนกในสัตว์ ใช้สายพันธุ์ไวรัสที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด เช่น เอช ๕ เอ็น ๒ (H5N2) หรือวิธีการ recombinant ไวรัสในปัจจุบัน มีการนำมาใช้ในบางประเทศคงจะต้องมีการศึกษาและติดตามข้อดีและข้อเสียของการใช้วัคซีนดังกล่าว การใช้จะต้องมีกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และมีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสในท้องถิ่นที่ใช้วัคซีน

สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในคนที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดนกได้ เพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนเป็นเอช ๓ เอ็น ๒ (H3N2) และเอช ๑ เอ็น ๑ (H1N1) วัคซีนดังกล่าวจึงไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอช ๕ เอ็น ๑ (H5N1) ได้
บุคคลที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือกลุ่มเสี่ยงที่เสี่ยงต่อการติดไข้หวัดนก ได้แก่ เกษตรกรที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ปีก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมสัตว์ปีก รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยและห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับไข้หวัดนกเพื่อป้องกันการติดเขื้อไข้หวัดใหญ่คน เพราะขณะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่คนอาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นกได้ในเวลาเดียวกันและอาจเกิดการกลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ที่อาจสร้างปัญหาและความรุนแรงในมนุษย์ได้

นกอพยพกับการนำเชื้อไข้หวัดนกระลอก ๑ และ ๒
กรณีของนกอพยพ จำเป็นจะต้องมีการศึกษาโดยอาศัยข้อมูลวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น การตรวจเชื้อไข้หวัดนกทางด้านพันธุกรรมเปรียบเทียบจะสามารถบอกได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างถ้าเราตรวจพบพันธุกรรมไข้หวัดนกในระลอกที่ ๓ มีสายพันธุ์เหมือนกับสายพันธุ์ไข้หวัดนกที่ตรวจพบในประเทศจีน ก็จะเป็นคำตอบทางอ้อมว่าน่าจะมาจากนกอพยพมาจากประเทศจีน หรือการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามประเทศ แต่จากการตรวจพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดนกในระลอกที่ ๑, ๒ และ ๓ ในประเทศไทยยังมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันมาก มีความแตกต่างทางรหัสพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะสรุปว่าการระบาดในระลอกที่ ๓ เกิดจากนกอพยพ และการระบาดส่วนใหญ่ในประเทศไทย มักจะเกิดในพื้นที่เดิมที่เคยมีการระบาดอยู่ก่อน

คนไทยและสังคมไทยกับไข้หวัดนก
คนไทยและสังคมไทยควรตระหนักถึงมหันตภัยอันตรายของไข้หวัดนก แต่ไม่จำเป็นต้องกลัวจนตระหนกกับโรคไข้หวัดนกมากจนเกินเหตุ
ควรมีสติและใช้ปัญญาในการแก้ไข

การแก้ปัญหาโรคระบาดจำเป็นต้องอาศัยความซื่อสัตย์ กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

การให้การศึกษากับประชาชนถึงภยันตรายตลอดจนวิธีการป้องกันที่ถูกต้องจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและไม่ควรมองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าชีวิตมนุษย์ในการป้องกันไข้หวัดนก รวมทั้งประชาชนทั่วไปจะต้องให้ความร่วมมือกับทางราชการ

ในการป้องกันไข้หวัดนกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และระบบควบคุมดูแลป้องกัน จำเป็นที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรด้วย จึงจะประสบผลสำเร็จในการควบคุมป้องกันมหันตภัยจากโรคร้ายดังกล่าว


 

ข้อมูลสื่อ

320-006-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ